posttoday

ปิดตำนานหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน ขาดทุนอ่วม เตรียมลุยออนไลน์เต็มตัว

31 สิงหาคม 2566

แฟนๆกีฬาใจหาย เมื่อหนังสือพิมพ์กีฬาที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน 38 ปี อย่าง "สยามกีฬา" ต้องปิดตัวไปอย่างเป็นทางการ โดยในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ จะเป็นการวางแผงขายวันสุดท้าย

สำหรับสื่อสิงพิมพ์ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัจจุบันเป็นสื่อที่รอวันปิดตัว หลายสื่อที่ยืนหยัดอยู่คือการประคองตัวและรอวันปิดเท่านั้น สยามกีฬาก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้ก็พยายามประคองตัวลดต้นทุน รวมหัวจากสยามกีฬาสตาร์ ซอคเกอร์ ไปรวมกับสยามกีฬารายวัน

แต่สุดท้ายก็ต้านทานการขาดทุนสะสมต่อเนื่องไม่ไหว บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท เจ้าของหนังสือพิมพ์กีฬาชื่อดัง สยามกีฬา, สปอร์ตพูล, ตลาดลูกหนัง  แจ้งหยุดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันในเครือทั้ง 3 ฉบับ และตีพิมพ์ฉบับที่ออกในวันที่ 31 สิงหาคม 2566เป็นวันสุดท้าย

ถือเป็นการปิดตำนาน 38 ปี “สยามกีฬารายวัน” หนังสือพิมพ์กีฬายักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ที่วางแผงครั้งแรกวันที่ 8 มีนาคม 2528

ปิดตำนานหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน  ขาดทุนอ่วม เตรียมลุยออนไลน์เต็มตัว

คำแถลงของนายใหญ่อาณาจักรสยามกีฬา

นายระวิ โหลทอง ประธานผู้ก่อตั้ง เปิดเผยเกี่ยวกับธุรกิจหนังสือพิมพ์รายวัน ในเครือสยามสปอร์ต ออกมาพูดถึงการปิดตัวสื่อหนังสือพิมพ์ แต่ สยามสปอร์ตยังคงดำเนินธุรกิจสื่อกีฬาต่อไปอย่างแน่นอน

"ทางสยามสปอร์ตยังคงดำเนินธุรกิจสื่อกีฬาต่อไปอย่างแน่นอน เพียงแต่แค่ยุติการผลิตหนังสือพิมพ์กีฬารายวัน ทั้งสยามกีฬา-สตาร์ซอคเก้อร์ รายวัน, สปอร์ตพูล รายวัน และตลาดลูกหนัง รายวัน จะวางแผงฉบับหัวหนังสือวันที่ 31 สิงหาคม 2566 เป็นวันสุดท้าย"

"ในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของการเสพสื่อของคนทั่วไปได้หันไปเสพสื่อทางออนไลน์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้หนังสือพิมพ์รายวัน ที่มีต้นทุนการผลิตสูง ทั่วโลกสื่อสิ่งพิมพ์รายวันค่อยๆ ปิดตัวไปเรื่อยๆ แต่ทางสยามสปอร์ตก็พยายามประคับประคองหนังสือพิมพ์รายวันของเราเอาไว้ให้ถึงที่สุด แม้จะต้องขาดทุนกับการแบกภาระต้นทุน ทั้งค่ากอง บก. ที่เรามีส่งผู้สื่อข่าวไปประจำสำนักงานต่างประเทศที่อังกฤษ ตระเวนทำข่าวการแข่งขัน แมตช์สำคัญของโลกมายาวนานหลายสิบปี ส่งผู้สื่อข่าวไปทุกสนามแข่งขันกีฬาทั่วประเทศ ค่าพนักงานคอมพิวต์ ปรู๊ฟ บัญชี การเงิน ฝ่ายบุคคล ค่ากระดาษ ค่าแท่นพิมพ์ ค่าสายส่งจัดจำหน่าย จิปาถะ"

"ทางเราเองรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายหนังสือ ได้แฟนหนังสือจำนวนไม่น้อยคอยอุดหนุนซื้อหนังสือ แต่เนื่องจากสื่อกีฬารายวัน หาสปอนเซอร์สนับสนุนไม่ได้ง่ายเหมือนหนังสือพิมพ์รายวันอื่นๆ ทั่วไป ที่ยังพอมีกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มธุรกิจบ้างมาช่วยสนับสนุน พอเกิดเหตุการณ์ร้านขายหนังสือทยอยกันปิดตัวจำนวนมาก จนเหลือแผงขายหนังสือทั่วประเทศไม่กี่เจ้า ทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ผู้บริหารใหญ่ 7-11 ที่ช่วยอนุเคราะห์ช่องทางการวางขายหนังสือใน 7-11 ด้วย แต่อย่างไรก็ตามในเมื่อช่องทางการขายหนังสือลดลง ผู้อ่านหาซื้อหนังสือพิมพ์ลำบาก ทำให้ทางเราไม่อาจทนแบกภาระการขาดทุนหนังสือพิมพ์ที่ตกราวเดือนละ 3.5 ล้านบาทไหว จึงจำเป็นต้องยุติหนังสือพิมพ์รายวันไว้แค่นี้"

ส่วนผลประกอบการ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท ที่แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า “ขาดทุน” ต่อเนื่อง

– ปี 2561 รายได้ 696 ล้านบาท ขาดทุน 146,233,035 ล้านบาท

– ปี 2562 รายได้ 516 ล้านบาท ขาดทุน 217,781,877 ล้านบาท

– ปี 2563 รายได้ 413 ล้านบาท ขาดทุน 187,878,244 ล้านบาท

– ปี 2564 รายได้ 427 ล้านบาท ขาดทุน 307,062,260 ล้านบาท

– ปี 2565 รายได้ 326 ล้านบาท ขาดทุน 354,792,538 ล้านบาท

เฉพาะ 5 ปีหลัง พวกเขาขาดทุนยับเยินกว่า 1.2 พันล้านบาท

ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์สยามกีฬา สตาร์ซอคเกอร์คือแรงบันดาลใจของเด็กชายหลายคนที่ชื่นชอบกีฬา และบ้าฟุตบอลต่างประเทศ หลายคนได้ความรู้เรื่องกีฬาและรู้จักการออกดเสียงนักฟุตบอลและทีมฟุตบอลต่างๆก็มาจากสยามกีฬาที่ทุกคนลงยอมรับว่าเป็น "ตักศิลา" แห่งวงการกีฬา ด้วยความเปลี่ยนแปลง เข้ามาทำให้โลกสื่อสิ่งพิมพ์ต้องล้มหายไป และสยามกีฬาคืออีกหนึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทานไม่ไหวและ ปิดตำนาน 38 ปี หนังสือพิมพ์อย่างเลี่ยงไม่ได้

ส่วนอนาคตของสยามกีฬาจากนี้ไปจะมุ่งเน้นเนื้อหาต่างๆไปลงในสื่อออนไลน์เต็มตัว รวมถึงจัดอีเวนต์กีฬา และอีเวนต์อื่นๆ ทั่วไป รวมถึงการจัดทัวร์ดูกีฬาต่างประเทศ และทัวร์ท่องเที่ยวทั่วไป

ปิดตำนานหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน  ขาดทุนอ่วม เตรียมลุยออนไลน์เต็มตัว