เกาะกระแส One Piece พบกับราชาโจรสลัดชาวญี่ปุ่น ตัวจริง เสียงจริง!
เวลานี้ใครก็ดู One Piece ใน Netflix เพราะเสียงตอบรับเกรียวกราวถึงความ เป๊ะ ปัง ดังถอดมาจากอนิเมะทุกฉาก! กับเรื่องราวของเด็กชายที่อยากเป็น ‘ราชาโจรสลัด’ จนต้องไปค้นว่าในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการ์ตูน จะมีราชาโจรสลัดอยู่หรือไม่ และเราก็ได้พบกับ ‘โจรสลัดมูราคามิ’
Seto - Inland Sea ฐานทัพของมูราคามิ
ทะเลเซโตะไนไค (Seto-Inland Sea) เป็นทะเลที่คั่นกลางระหว่างเกาะฮอนชู เกาะชิโกกุ และเกาะคิวชู สามเกาะหลักของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์สำคัญคือการเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลญี่ปุ่น ทำให้เชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลของภูมิภาคคันไซซึ่งเป็นภูมิภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในปัจจุบัน
บริเวณนี้มีหมู่เกาะเล็ก ๆ กว่าหลายร้อยแห่ง ซุกซ่อนตัวอยู่ตามทะเลต่างๆ .. หากใครเคยอ่านนิยายโจรสลัด หรือดูภาพยนตร์เกี่ยวกับโจรสลัดมาบ้างก็จะพบว่า ที่นี่คือจุดยุทธศาสตร์อันยอดเยี่ยมสำหรับเป็นที่กบดานของโจรสลัด เปรียบดังช่องแคบมะละกา แหล่งชุกชุมของโจรสลัดระดับโลก ซึ่งคั่นกลางระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซีย และประกอบด้วยเกาะต่างๆ มากมาย ก็ไม่แตกต่างกัน
เกาะต่างๆ เหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของโจรสลัด กล่าวคือ มันยากต่อการตามตัวพบ เพราะต้องสุ่มว่าคุณจะไปที่เกาะไหน แถมเกาะก็ยังมีเป็นร้อยๆ ยากต่อการตามตัวเจอ!
ในบรรดาเกาะน้อยใหญ่ในทะเลเซโตะไนไคนี้ มีเกาะหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางมีชื่อเรียกว่าเกาะเกอิโยะ ( Geiyo Islands) สำหรับเกาะแห่งนี้มีชื่อเสียงและรู้จักเป็นอย่างดีในหมู่ชาวญี่ปุ่นเนื่องจากถูกร่ำลือว่าน่านน้ำบริเวณนี้อันตรายสูงตั้งแต่สมัยโบราณ .. และเพราะแบบนั้นจึงมีกลุ่มคนที่ถูกขนานนามว่า มูราคามิ ไคโซขุ ปรากฎตัวขึ้นและควบคุมน่านน้ำแห่งนี้!
รู้จัก ราชาโจรสลัด มูราคามิ ไคโซขุ
แม้คำว่า ‘ไคโซขุ’ จะแปลว่าโจรสลัด แต่กลุ่มโจรสลัดมูราคามินั้น ต่างจากภาพของโจรสลัดในภาพจินตนาการที่เรารู้จักกัน ถ้าจะเรียกว่ากลุ่มอิทธิพลเหนือน่านน้ำแห่งนี้อาจจะถูกต้องกว่า เพราะพวกเขาทำหน้าที่รักษากฎระเบียบในน่านน้ำแห่งนี้ และรับประกันความปลอดภัยให้กับเรือขนส่งสินค้า .. นอกจากนี้ภาพลักษณ์ของโจรสลัดฝั่งตะวันตกที่เน้นการผจญภัย ติดดิน ป่าเถื่อนนั้นไม่ใช่ภาพลักษณ์ของกลุ่มโจรสลัดมูราคามิเอาซะเลย
แล้วโจรสลัดมูราคามิ แท้จริงเป็นอย่างไร?
แม้จะถูกมองว่าเป็นโจรสลัดที่โหดร้าย แต่แท้ที่จริงแล้วพวกเขาคือกลุ่มคนรวยทรงอิทธิพล ที่เป็นเครือญาติกัน และสร้างวัฒนธรรม ประเพณีขึ้นมาเป็นของตนเอง! พวกเขาเข้ายึดพื้นที่ในน่านน้ำแห่งนี้ ขยายอาณาจักรของตัวเองและตั้งตัวเป็น Sea Lord หรือเจ้าของน่านน้ำ และใช้ความช่ำชองเกี่ยวกับน่านน้ำในการรับประกันเรือทุกลำที่ผ่านมาว่าจะสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย
กลุ่มโจรสลัดมูราคามิมีบทบาทเป็นอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 13-16 และเนื่องด้วยพวกเขาเป็นกลุ่มเครือญาติกันเอง จึงมีการแบ่งการปกครองเกิดขึ้นตามเกาะหลักต่างๆ แต่ละครอบครัวของตระกูลมูราคามิจะครอบครองเกาะสามเกาะใหญ่ ประกอบด้วยเกาะอินโนชิมะ โนชิมะ และคุรุชิมะ ซึ่งทั้งสามครอบครัวมีความช่ำชองและเชี่ยวชาญทางการต่อสู้ในทะเลเป็นอย่างมาก
ศึกครั้งที่สำคัญเกิดขึ้นในปี 1576 เมื่อพวกเขาก่อสงครามกับ โนบูนางะ โอดะ ซึ่งเป็นคนที่ได้รับฉายาว่า 'ผู้รวบรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น' และได้รับฉายาว่า 'ราชาปีศาจ' จนมีคนบอกว่ายุทธิวิธีการต่อสู้ในครั้งนั้นถูกถอดออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า Murakami Boat Battle Law โนบุนางะต้องการรวบรวมแผ่นดินโดยเฉพาะพื้นที่ทางฝั่งทะเล แต่ต้องมาเจอกับกองทัพที่ทรงพลังอย่างมูราคามิจนพ่ายแพ้ไปในศึกครั้งแรก
อย่างไรก็ตามเบื้องลึกเบื้องหลังของสงครามครั้งนี้นั้น ได้แบ่งแยกความสามัคคีของกลุ่มโจรสลัดมูราคามิออกจากกัน จากที่เคยประกอบด้วย 3 ครอบครัวภายในตระกูล หนึ่งในนั้นคือตระกูลคุราชิมะ ได้หันไปสวามิภักด์กับโอดะ และกลายเป็นเรื่องบาดหมางระหว่างตระกูลมานานนับร้อยปี จนกระทั่งในปี 2013 เมื่อมีหนังสือชื่อ Murakami Kaizoku No Musume หรือแปลในภาษาไทยว่าลูกสาวของโจรสลัดมูราคามิออกมา ผู้เขียนได้ช่วยจัดการให้ตระกูลทั้งสามกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งในรอบ 450 ปีเลยทีเดียว!
โจรสลัดผู้มั่งคั่ง กองทัพน้ำผู้ร่ำรวย
ถ้าคุณขับเรือผ่านน่านน้ำของพวกเขาพวกคุณต้องจ่ายค่าธรรมเนียม นั่นคือกฎที่โจรสลัดมูราคามิตั้งขึ้น ความร่ำรวยของพวกเขาสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านบรรดาสถานที่สำคัญ และประเพณีที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากเค้าโครงของปราสาทที่แสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยของตระกูลซึ่งตั้งอยู่บนเกาะโนชิมะ เกาะที่ล้อมรอบไปด้วยกระแสน้ำที่สุดอันตราย และมีหลุมซึ่งถูกสร้างขึ้นรอบเกาะ โดยเชื่อว่าอาจใช้เป็นที่จอดเรือหรือป้องกันเกาะได้ รวมไปถึงมรดกที่มาในรูปแบบของคอลเลกชันงานศิลป์และงานฝีมืออีกกว่า 1,300 ชิ้นซึ่งรวบรวมอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์มูราคามิ ซูยกุน เมืองอิมาบาริ แล้วยังพบว่าที่นี่มีการจัดงานเทศกาลซึ่งตกทอดกันมาอีกด้วย
สามเทศกาลใหญ่ซึ่งถูกจัดขึ้นได้แก่ Island Festival , Sea Festival และเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดคือ Fire festival
สำหรับเทศกาล Fire festival นั้นจะจัดในช่วงปลายของฤดูร้อน นอกจากร้านอาหารและร้านค้าที่เรียงราย ก็จะมีการเดินขบวนของเหล่านักรบซามูไร การตีกลองไทอิโกะและการร่ายรำซึ่งมาจากธรรมเนียมการฉลองชัยชนะหลังจากที่ไปรบ รวมไปถึงการแข่งขันพายเรือ ที่เรียกว่า โคฮายะ (Kohaya) ซึ่งเป็นเรือเล็กทำจากไม้ลอกเลียนแบบจากเรือโจรสลัดของมูราคามิ มีคำกล่าวว่า แม้เรือของมูราคามิจะเป็นเรือลำเล็กแต่ก็สามารถเอาชนะเรือลำใหญ่ที่แล่นเข้ามาในน่านน้ำได้
อย่างไรก็ตามจุดสิ้นสุดของตระกูลมูราคามิเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 15 เมื่อ โทโยโตมิ ฮิเดะโยชิ ผู้ที่ได้รับฉายาว่ารวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นคนที่ 2 สืบต่อเจตนารมย์จากโนบูนางะ โอดะ
โจรสลัด Wokou อีกหนึ่งตำนานที่สร้างความขัดแย้งจนถึงปัจจุบัน
นอกจากราชาโจรสลัดมูราคามิ ที่ใช้วิธีดำเนินงานชั้นสูงต่างจากความเป็นโจรสลัดที่เราเคยจินตนาการมา ในน่านน้ำญี่ปุ่นยังมีอีกหนึ่งตำนานโจรสลัดที่ชื่อ Wokou ซึ่งเก่าแก่กว่ามูราคามิเพราะมีขึ้นตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 4 เป็นโจรสลัดที่จะโจมตีแถวทะเลญี่ปุ่น และแนวชายฝั่งของจีนและเกาหลี แม้ว่าจะมีหลายที่มากล่าวว่า Wokou คือโจรสลัดญี่ปุ่น แต่ในเวลาต่อมาก็พบว่าในช่วงศตวรรษหลังๆโจรสลัด Wokou นั้นรวบรวมหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี โปรตุเกส
คำว่า Wokou ปรากฎครั้งแรกบนหลักศิลาจารึกในประเทศจีนกล่าวถึง Wokou ในรูปแบบของหัวขโมยชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาโจมตีพวกเขาในปี ค.ศ.404 ส่วนในบันทึกของประเทศเกาหลีใต้ก็มีการกล่าวถึง Wokou โจรสลัดที่เข้ามาโจมตีอย่างหนักหน่วงในช่วงปี ค.ศ.1350 และเคยล่องเรือมาโจมตีถึงน่านน้ำฟิลิปปินส์ในศตวรรษที่ 16 ด้วยเช่นกันบริเวณทางเหนือของเกาะลูซอน
ในประเด็นของโจรสลัด Wokou นี้เองที่ได้กลายเป็นประเด็นตอบโต้กันไปมาว่าแท้ที่จริงแล้วกลุ่มโจรสลัดเหล่านี้เป็นใครกันแน่? บางกลุ่มใช้เรื่องราวของโจรสลัด Wokou ต่อต้านโจมตีญี่ปุ่น หรือใช้ปลุกความรู้สึกต่อต้านเกาหลีและประเทศจีนในอีกฝั่งตรงข้าม จนทฤษฎีในช่วงหลังๆ สรุปได้ว่ากลุ่มโจรสลัด Wokou มาจากเชื้อชาติที่หลากหลายมากกว่าเชื้อชาติเดียว และอาศัยอยู่ในเขตแดนที่ไม่แน่นอนในยุคสมัยนั้น
อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากลุ่มโจรสลัดกลุ่มนี้ คือกลุ่มคนที่แนะนำอาวุธประเภทปืนให้กับประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเชื่อกันว่าพวกเขาเป็นคนที่นำพาบาทหลวงฟรังซิส เซเวียร์เดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น จนทำให้ประเทศญี่ปุ่นรู้จักศาสนาคริสต์
และเพราะประเด็นของเรื่องโจรสลัดในประเทศญี่ปุ่นอย่าง Wakou เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ และสนับสนุความคิดทางการเมืองของคนบางกลุ่ม ประเทศญี่ปุ่นจึงเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องราวของบุคคลเหล่านี้ แม้จะมีเรื่องราวน่าสนใจเพียงใดก็ตาม
สุดท้ายแล้ว โจรสลัด Wokou ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 16 และหายไปตลอดกาลในศตวรรษที่ 17.
ที่มา
https://www.gov-online.go.jp/eng/publicity/book/hlj/html/201703/201703_13_en.html
https://dive-hiroshima.com/en/feature/murakamikaizoku-murakamikaizoku/