"บ้านทองหยอด" จากโรงงานขนมไทย สู่โรงงานปั้นนักแบดฯแชมป์โลก
บ้านทองหยอด คือสโมสรแบดมินตันชื่อดังที่สุดแห่งหนึ่งของไทย มีนักแบดมินตันมาเรียนปีละนับพันคน และสร้างแชมป์โลกมาแล้ว 2 คน เบื้องหลังคือ กมลา ทองกร ผู้ก่อตั้งที่มาจากความบ้าแบดฯส่วนตัว สิ่งที่ได้มาไม่ใช่กำไรจากการลงทุน แต่เป็นการสร้างนักกีฬาขึ้นมาประดับวงการ
จุดเริ่มต้นของบ้านทองหยอด
ใครจะคิดว่าจุดเริ่มต้นของสโมสรกีฬาแบดมินตันมูลค่านับร้อยล้านบาท และปั้นนักกีฬาไปสู่ระดับโลกหลายคน จะมาจากความชอบและบ้าเล่นกีฬาแบดมินตันของคุณกมลา ทองกร ที่อยากมีคอร์ตแบดฯให้ลูกๆหลานๆของเธอได้มีพื้นที่ในการเล่นแบดมินตัน
จากโรงงานขนมหวาน นำสูตรขนมไทยมาจากแม่ของเธอเอง ใช้พื้นที่ไม่มากนัก เพราะทำขายเฉพาะตลาดใกล้เคียง แต่เมื่อได้รับความนิยม มีพ่อค้าคนกลางต่างถิ่นมารับถึงโรงงานเพื่อนำไปขายต่อ ทั้งไปติดแบรนด์ของคนอื่น และใช้แบรนด์ "บ้านทองหยอด" ทำให้ชื่อโรงงานขนมบ้านทองหยอดขายดีในระดับประเทศ
"เราเริ่มธุรกิจจากการทำขนมหวานนี่แหละค่ะ ทุกอย่างที่เป็นขนมหวานไทยทั้งทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ซึ่งธุรกิจของเราก็ไปได้ด้วยดี เราผลิตทองหยอดขายส่งทั่วประเทศ ถ้าเป็นทองหยอดนี่เราขายส่งดีที่สุดในประเทศ" กมลา ทองกร กล่าว
"ธุรกิจก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนชอบกีฬาแบดมินตัน ตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว แต่เราไม่มีโอกาสได้เล่นหรือซ้อม เพราะเด็กๆเราเป็นครอบครัวที่ยากจน เราเลยต้องทำงานตั้งแต่เด็กๆ พอว่างหลังเลิกงานค่อยได้เล่น "
"พอเรามีครอบครัว แล้วงานเริ่มอยู่ตัวพอมีเวลาเราก็ไปเล่นแบดกับครอบครัวและพาลูกๆไปเล่นด้วย พอเห็นคอร์ตข้างๆมีโค้ชสอนเป็นเรื่องราว เราเลยให้ลูกไปเรียนอย่างถูกต้อง นั่นคือจุดเริ่มต้นค่ะ"
จนกระทั่งปี 2534 เธอได้ก่อตั้ง “ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด” ความตั้งใจคือเพื่อให้ลูก เพื่อน ๆ ของลูก มาเล่นแบดมินตัน โดยที่ในขณะนั้นลูก ๆ ของ "กมาลา ทองกร" ยังไม่มีสังกัดจึงไม่สามารถลงแข่งขันได้จนเป็นที่มาของการก่อตั้ง “ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด”ขึ้น
จากนั้นก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่วนสาเหตุที่ใช้ชื่อนี้เนื่องจากเป็นธุรกิจของคุณกมลาเอง
ระยะแรกทางชมรมได้ใช้สนามที่สร้างขึ้นเองภายในบริเวณบ้านของ กมลา 1 สนาม และมีนักกีฬาเพียง 4 คนเท่านั้น โดยมีอาจารย์พรโรจน์ บัณฑิตพิสุทธิ เป็นผู้ฝึกสอน จนกระทั่งนักกีฬาเริ่มมีผลงานสามารถเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ ในปีถัดมาอาจารย์พรโรจน์ มีความจำเป็นต้องย้ายราชการครูไปสอนที่จังหวัดกระบี่ จึงได้แนะนำให้หาโค้ชมืออาชีพที่สามารถทำงานได้เต็มเวลา
ทางชมรมฯจึงได้ติดต่อสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ และก็ได้โค้ช Mr.Xie Zhihua (จื่อ หัว เซี่ย) มาช่วยฝึกสอน
ต่อมาเริ่มมีนักกีฬามาเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางชมรมฯ ได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และสอนได้อีกประมาณ 4 ปี จำนวนสนามเริ่มไม่พอกับจำนวนนักกีฬา
จากชมรมเล็กๆสู่ “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด”
จนกระทั่งปี 2546 กมลา ทองกร ได้สร้าง “โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” ด้วยเงินลงทุนรวมทุกอย่างที่ 100 ล้านบาท
ตอนนั้นสถานการณ์ของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ก็ยังทรงๆ แม้จะเปิดรับนักเรียนทุนโดยมีสปอนเซอร์เข้ามาดูแลบ้าง แต่การส่งนักแบดมินตันไปแข่งในเวทีระดับนานาชาติ (ต่างประเทศ) ยังเป็นแบบจำกัด
แต่หลังจาก "เมย์" รัชนก อินทนนท์ ได้แชมป์โลกแบดมินตันหญิงเดี่ยวเมื่อปี 2013 ตอนนั้นทำให้เกิดกระแสฟีเวอร์การเล่นแบดมินตันขึ้นมาทันที
ชื่อของบ้านทองหยอด คือหมุดหมายของนักแบดมินตันทุกคนที่อยากมาเรียนที่นี่ เพราะคำว่าอยากเป็นแชมป์โลกเหมือน"พี่เมย์"
"ก่อนหน้าเมย์จะได้แชมป์โลก แม่ (ปุก) ควักเงินตัวเอง ให้เด็กๆได้ไปแข่งทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ซื้ออุปกรณ์ จ้างโค้ช ปีละเป็นล้านบาท" กมลา ทองกรเสริม
"หลังจากเมย์ได้แชมป์โลกแล้ว ผู้สนับสนุนหลั่งไหลเข้ามา กิจการของบ้านทองหยอดดีขึ้นผิดหูผิดตา เพราะมีคนเดินทางมาเรียนกับเราเยอะขึ้นมาก เงินสนับสนุนเข้ามามากกว่าเดิมเป็น 10 เท่า"
จากปีละหลักล้าน เม็ดเงินเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 10 ล้าน เข้ามาช่วยสนับสนุนนักกีฬา และอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้นักกีฬาในสังกัดบ้านทองหยอด
เฉพาะค่าเรียนรายได้ปีละเกือบ 40 ล้านบาท
ปัจจุบันโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด มีเด็กๆที่เข้ามาเรียนในสังกัดประมาณ 300 คน มีทั้งแบบเสียเงิน กับนักกีฬาทุน (ได้เรียนฟรี+ที่พัก)
สำหรับคนที่ไม่ใช่นักกีฬาทุนจะมีค่าใช้จ่าย เดือนละ 8,000 บาท แต่หากใครเรียนแบบพักที่อะคาเดมี่ด้วยเลยก็จะเป็นเดือนละ 12,000 บาท
คิดเป็นตัวเลขกลมๆ เดือนละ 300 คน เฉลี่ยคนละ 10,000 บาท ต่อเดือน ทางบ้านทองหยอดจะมีรายได้ตรงนี้เข้ามาเดือนละ 3 ล้านบาท หรือตกปีละ 36 ล้านบาท
ซึ่งคุณกมลา ทองกร เสริมว่า หากย้อนไปช่วงหลังจากเมย์ได้แชมป์โลก ตอนนั้นพีคกว่านี้ รายได้ตกปีละ เกือบ 60 ล้านบาท
"แต่เงินจำนวนเหล่านั้น แทบจะเทียบไม่ได้เลยกับการปั้นนักกีฬา 1 คนเพื่อให้โตไปบนเส้นทางอาชีพ หรือก้าวไปในระดับโลก เพราะต้องมีโค้ช มีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาส่วนตัว มีนักกายภาพ ตามติดไปด้วยเวลาไปแข่งต่างประเทศ เฉลี่ยแล้วนักกีฬา 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายเดือนละเกือบ 1 ล้านบาทเลยทีเดียว" กมลา ทองกร อธิบายถึงนักกีฬาและค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไป
อย่างไรก็ตามเธอย้ำว่า เงินเหล่านี้ที่จ่ายไป ทองบ้านทองหยอดเต็มใจส่งต่อให้นักกีฬา ต่อนักกีฬาพวกนี้ไม่มีเงินเดือนอยู่แล้ว ส่วนเงินรางวัลที่พวกเขาได้มาจากการแข่งขัน ก็เก็บไว้ใช้จ่ายส่วนตัวไป ทางบ้านทองหยอดไม่ได้หักเข้ากระเป๋า จะมีเพียงนักฬาจะแบ่งเงินเข้ากองทุนบ้านทองหยอดเป็นเงิน 10% เพื่อเอาเงินจากกองทุนเหล่านี้ ไปส่งต่อให้นักกีฬาเด็กๆเบยาวชนรุ่นต่อไปให้ได้มีโอกาสเรียน แข่งแบดมินตัน ทั้งระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เหมือนรุ่นพี่ของพวกเขาเคยได้ประสบการณ์เหล่านี้มาแล้ว
"ถ้าคุ้มทุนที่ลงไปนี่ยังหรอกค่ะ แต่เราได้สถานที่ตรงนี้ขึ้นมา อย่าลืมว่าสิ่งที่ได้มาเราเอาไปส่งเสริมเด็กขึ้นมา เงินรายได้ก็หมุนเวียนเป็นวัฏจักร ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น หากถามว่าเราได้ทุนที่ลงไปคืนมาหรือยัง มันคงไม่ได้หรอก เราเน้นไปที่การลงทุนเพื่อการกีฬาและสร้างเด็กขึ้นมา เราส่งเด็กไปแข่ง 20-30 คน ใช่ว่าเราจะได้ผู้เล่นที่โดดเด่นเป็นเพชรเม็ดงามขึ้นมาเลย แต่ถ้าเราไม่ลงทุน เราก็จะไม่เจอเด็กที่เก่งขึ้นมาเลย"
ปัจจุบันโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด สร้างนักแบดมินตันชาวไทยก้าวไปเป็นแชมป์โลกได้ถึง 2 คน นั่นคือ
"เมย์" รัชนก อินทนนท์ ที่เป็นแชมป์โลกแบดมินตันหญิงเดี่ยวเมื่อปี 2013
และคนที่ 2 คือ "วิว" กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันชายเดี่ยวที่ได้แชมป์โลกเมื่อต้นเดือน กันยายนของปีนี้ (2023)
ความฝันของแม่ปุก กับวงการแบดมินตัน
"ก็อยากจะสร้างนักกีฬาให้เหมือน"น้องเมย์" "น้องวิว" ให้มีนักกีฬาขึ้นมาในระดับโลกไปเรื่อยๆ เราสร้างโครงการนี้ให้ยาวต่อเนื่อง ไม่ได้จบแค่ 2 คนนี้ค่ะ แต่กว่าจะเห็นผลกับเด็กเล็กๆแบบนี้ มันต้องใช้เวลาเป็นสิบๆปี เหมือนน้องวิวแบบนี้ค่ะ ไม่แน่อีกสัก 5 ปีก็อาจจะมีขึ้นมาอีก ตอนนี้เราอยู่ในช่วงฟูมฟักพวกเขา เมื่อเรามีอะคาเดมี่ มีเด็กหลายคนเราสามารถเลือก คัด และประเมินได้ว่าเด็กแต่ละคนอยู่กลุ่มไหน คนไหนผลักดันไประดับโลกได้" แม่ปุกของเหล่าลูกศิษย์แห่งบ้านทองหยอดกล่าวปิดท้าย