Smart city : เมืองสมาร์ทชาติเจริญ ย่านไหนอยู่แล้วพัง ย่านไหนอยู่แล้วปัง
ย่านไหนอยู่แล้วเสี่ยงอ้วน ย่านไหนหัวใจวายแล้วตายแน่นอน ย่านไหนเสี่ยงอยู่แล้วจนมากที่สุด วัดจากอะไร เป็นเพราะเมืองที่เราอาศัยอยู่จริงหรือ ไปหาคำตอบกันใน "City Defined" ครบเครื่องเรื่อง Smart city
สุสานคนเป็นของคนเมืองคืออะไร?
มีค่าสถิติตอนทำผังเมืองรวมบอกว่า คนกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ในรถยนต์ประมาณ 800 ชั่วโมง ต่อปี หรือคิดเป็น หนึ่งเดือนกับ 3 วันต่อหนึ่งปี หากมีชีวิต 12 ปี จะเท่ากับอยู่ในรถ 1 ปี!!!
กรุงเทพฯ ของเรามันไม่เหมาะกับการเดิน เพราะอะไร?
ข้อหนึ่งที่สำคัญคือ อากาศไม่ส่งเสริมให้คนเดินเลย และการที่เราจน สุขภาพไม่ดี หรือว่า ทำไมเราถึงขี้หงุดหงิด หรือว่าใจร้ายจัง หรือว่าบางทีส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเมืองที่เราอาศัยอยู่ก็ได้ ในทางกลับกันตัวเมืองเองก็อาจจะทำให้เรารวย สุขภาพร่างกายแข็งแรง และยังมีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย
วันนี้รายการ City Defined ได้นำกรุงเทพมหานครมาเป็นโลเคชันหลัก หรือเป็นตัวอย่างในการพูดคุยกันถึงเมืองและสามารถนำเอาไปปรับใช้หรือพัฒนาเมืองกันต่อไปได้ในทุกพื้นที่ เพราะการวิวัฒน์พัฒนาไปของเมืองทุกเมืองในโลกมักจะคู่ขนานไปกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงเสมอ
City Defined ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณต่อ-อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ที่มาให้คำตอบเชิงวิ เคราะห์ได้อย่างกระจ่างใจ ในขณะที่เรากำลังเข้าสู่ Smart City ก่อนอื่นมาดูกันจากเดต้าที่มีการรวบรวมกันก่อนว่า ย่านไหนอยู่แล้วพัง ย่านไหนอยู่แล้วปัง!
เริ่มจากคำถามแรกว่า ย่านไหนที่อยู่แล้วมีโอกาสเสี่ยงจนมากที่สุด?
คุณอดิศักดิ์บอกว่า ความจริงแล้วเมืองมีบทบาทกับเรามากกว่าที่เราคิด เพราะการที่บางครั้งการใช้ชีวิตประจำของเราอาจทำให้เราหงุดหงิด สุขภาพไม่ดี จน หรือว่าโสด อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเราทั้งหมด เพราะความจริงแล้งส่วนหนึ่งมันมาจากสภาพแวดล้อมหรือเมืองที่เราอาศัย ถ้าถามว่า ย่านไหนที่เราอยู่อาศัยแล้วจะทำให้เราจนลง หรือ รวยขึ้น กายภาพของเมืองหรือสภาพแวดล้อมของเมืองมีผลอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ถ้าเราบอกว่าเราจนเพราะอะไร จากสถิติบอกว่า มีค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพในเมืองสองสามอย่างที่คนเมืองจะต้องแบกรับ หนึ่งคือค่าเดินทาง
เพราะค่าเดินทางของคนกรุงเทพฯ มหาศาลมากๆ จากข้อมูลตามสถิติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงเทพมหานครเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีค่าเดินทางหรือค่าครองชีพด้านการเดินทางสูงที่สุด เราใช้เวลาในการเดินทางมากที่สุดอันดับ 1และเราเสียเงินไปกับการเดินทางคิดเป็น 20-25% ของรายได้
ถ้าถามว่าอยู่ตรงไหนแล้วจน ก็คือ อยู่ตรงไหนแล้วเดินทางยาก อยู่ตรงไหนแล้วราคาแพง เช่น อยู่ในซอยลึก ทางเปลี่ยวมากๆ แสดงว่ามีการเดินทางหลายทอดหลายต่อกว่าจะถึงที่ทำงาน และอีกอย่างคืออยู่ไกลจากแหล่งงานมากๆ เช่น หนองจอก มีนบุรี หรือในโซนพระราม 3 พระราม 2 ออกมาเจอรถติดต้องขึ้นทางด่วน เป็นส่วนหนึ่งของค่าครองชีพ อีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องของระดับรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย แสดงว่า ย่านไหนที่มีราคาค่าจ้างสูงกว่าก็จะได้เปรียบมากกว่าในเบื้องต้น ซึ่งก็มีผลการวิจัยหลายชิ้นบอกว่า ในย่านที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีจะดึงดูด Head Quarter หรือ ตัวธุรกิจ งานต่างๆ ที่อยู่ในเมืองก็จะอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น
ในกรุงเทพฯ เราคิดว่าย่านไหนเป็นย่านที่เราได้ค่าแรงหรือค่าครองชีพสูงที่สุด?
สุขุมวิท เป็นโซนธุรกิจ เรียกว่าเป็นหนึ่งในย่านที่เป็น CBD หรือ Central Business District เช่น สีลม สาธร มาจากระดับรายได้ของกลุ่มธุรกิจ หรือ กลุ่มบริษัทที่อยู่ในโซนที่เราเรียกว่าเป็นพื้นที่ CBD หรือ พื้นที่ธุรกิจ อย่างสุขุมวิทมีระดับที่สูงกว่าพื้นที่ที่อยู่รอบนอก แสดงว่ามันมีความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่อยู่ ถ้าอยู่ตรงไหนแล้วจน มันต้องมาดูอีกว่า เรามีรายรับเท่าไหร่ มีเงินได้เท่าไหร่ มีรายจ่ายเท่าไหร่ บางคนอาจจะไม่จนก็ได้แม้จะมีรายได้หรือมีเงินเดือนไม่สูงมาก เพราะไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ไม่ต้องเสียค่าอาหารที่มีราคาแพง
ย่านไหนอยู่แล้วเสี่ยงอ้วน?
“ไม่ใช่เพราะอาหารที่เรากินแต่เป็นเพราะย่านที่เราอยู่ด้วย”
ความจริงเสี่ยงอ้วนมันมีงานวิจัยหลายชิ้นว่า มนุษย์เมืองเสี่ยงต่อการเป็นภาวะที่เรียกว่า “อ้วนลงพุง” หรือว่า เป็นภาวะที่ยังไม่อ้วน หรือ ยังไม่เป็นเบาหวาน มีภาวะที่เกี่ยวข้องกับการกิน กับเรื่องของการทำกิจกรรมทางกายที่น้อยมากๆ เราทำงานหนักมาก ทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ และยังไม่มีเวลาออกกำลังกาย แสดงว่า พื้นที่เมืองแบบไหนที่ทำให้เราต้องเร่งรีบ ไม่มีเวลาละเมียดกับการกินอาหารที่ดี ต้องกินอาหารแช่แข็งตลอดเวลาหรือเปล่า หรือไม่มีเวลาแม้กระทั่งออกกำลังกาย ปัจจุบันนี้คนกรุงเทพฯออกกำลังกายยังไง
ส่วนหนึ่ง เวลาที่เราพูดว่าอยู่ตรงไหนแล้วอ้วน มันขึ้นอยู่กับเรื่องของพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อม นั่นแปลว่าเรา ถ้าเราตีความว่า ย่านไหนที่เราสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ มีสุขภาพที่ดี อันนี้ก็จะทำให้เราไม่อ้วน เพราะว่าเราได้กินอาหารครบ 5 หมู่ ที่สำคัญคือเรามีโอกาสได้ออกกำลังกาย เช่น ถ้าเราอยู่ใกล้สวนสาธารณะเราก็สามารถออกไปวิ่งได้ เช่น ถ้าบ้านอยู่ใกล้สวนลุมฯ ซึ่งน่าจะยากมาก เพราะราคาบ้านคงจะสูงมาก กับอีกเหตุผลคือ เราไม่มีเวลาออกกำลังกายเลย เช่น เราทำงานเลิกห้าโมงเย็น บ้านอยู่บางกะปิ แต่ว่าทำงานอยู่ที่สีลมแสดงว่าเราใช้เวลาในการเดินทาง 1-2 ชั่วโมง กลับบ้านไปก็หมดแรงแล้ว ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ดังนั้นย่านแบบนี้แหละ ที่มันทำให้เราเสี่ยงอ้วนแน่นอน ค่าสถิติของกรุงเทพมหานครตอนทำผังเมืองรวมฉบับครั้งที่แล้ว คือ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 บอกว่า
“คนกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ในรถยนต์ประมาณ 800 ชั่วโมงต่อปี คิดเป็นค่าสถิติ 1 เดือนกับ 3 วัน ถ้าเราคิดเป็น 12 ปี เท่ากับเราอยู่ในรถยนต์ 1 ปี
และมีผลการวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า การที่เราอยู่บนรถยนต์นาน จากการที่คนกรุงเทพฯนิยมมีรถใช้รถยนต์มากกันแบบตะบี้ตะบัน จึงส่งผลต่อภาวะอ้วนลงพุง กินอาหารเสร็จแล้วก็นั่งนอกจากนั่งในที่ทำงานแล้วยังมานั่งในรถยนต์อีก มันยิ่งทำให้เรายิ่งอ้วน ดังนั้น ถ้าถามว่า ย่านไหนที่มันเดินไม่ได้ มันไม่เอื้อต่อการเกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่ทำให้เรามี Physical Activities ย่านนั้นแหละที่ทำให้เราอ้วน เริ่มเห็นพุงของตัวเองกันหรือยัง!
มาถึงคำถามสำคัญ
ย่านไหนอยู่แล้วหัวใจวาย ตายแน่นอน?
เรื่องนี้คุณต่อเคยทำเดต้าของเมืองในบทความในเชิงประชดประชันว่า มันเป็น "สุสานคนเป็นของคนเมือง" คือถ้ามันเกิดกรณีว่า มีคนหัวใจวาย ตรงไหนที่ตายแน่นอน เพราะว่าไปหาหมอไม่ทันแน่นอน เพราะว่า หนึ่งคือเรา อยู่ไกลโรงพยาบาล และก็ถ้าเป็นโรงพยาบาลก็ต้องเป็นโรงพยาบาลเกี่ยวกับหัวใจที่รับเคสได้ด้วย ก็ยิ่งมีน้อยลงไปอีก มากไปกว่านั้น ถ้าเราจะออกจากบ้านเพื่อไปโรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน เกิดไปเจอรถติด ตายเลย ตายตั้งแต่ระหว่างทางเพราะว่าเราไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ ดังนั้นถ้าถามว่า อยู่ตรงไหนหัวใจวายตายแน่นอน หนึ่งต้องดูว่า ระยะทางในการเข้าถึงโรงพยาบาล
สองคือ ระยะเวลาในการเข้าถึง ดังนั้นประเด็นถัดมาที่สำคัญคือ ต้องดูกันถึงเรื่องของโครงสร้างเมือง การจัดการเรื่องของระบบถนนหนทางต่างๆ หรือ ในมิติเมืองในภาพรวม จะพูดถึง Urban Mobility คือการเคลื่อนที่ของเมืองที่ทำให้มัน Simulate มากขึ้น แผนที่กรุงเทพฯ เป็นปีกผีเสื้อ สองปีกผีเสื้อเป็นพื้นที่ที่อยู่ไกลโรงพยาบาลทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนมากที่สุด แต่ว่ามันมีบางพื้นที่เป็นพื้นที่ที่เราเรียกว่า แม้ว่าอยู่ในพื้นที่เมืองก็อาจจะตายได้เพราะว่า ปัญหาเกิดจากรถติด ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ แต่ว่ามันมีบางพื้นที่ที่เราเรียกว่า Surplus คือมันมีพื้นที่ส่วนเกินด้านการบริการสาธารณสุขกระจุกตัวกันอยู่มากเป็นพิเศษ อย่างเช่น
ในกรุงเทพฯ มีตรงไหนที่มีสถานพยาบาลหรือว่าโรงพยาบาลมากที่สุด
ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่า ตรงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะมีทั้งโรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันที่ดูแลเฉพาะทางมากกว่า 10-15 แห่งมี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกถฎ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันโรคผิวหนัง โรงพยาบาลเด็ก แสดงว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นที่ที่มีการกระจุกตัวของโรงพยาบาล อินเคสว่ามีอะไรเกิดขึ้น รถหน่วยกู้ภัย รถฉุกเฉิน รถพยาบาลจะต้องมุ่งไปที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ในเชิงเมืองมันเป็นพื้นที่ไข่แดงที่จะต้องได้รับการดูแล ไม่ใช่แค่ว่ามันเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวสูง แต่ว่าต้องดูเรื่องระยะการเข้าถึง ถ้าผ่านไปเส้นดินแดงแล้วข้ามมาทางเส้นอนุสาวรีย์ชัยฯ จะเห็นเลนพิเศษตรงเส้นดินแดงไปถึงอนุสาวรีย์คือเลนสำหรับรถฉุกเฉิน เหล่านี้มันคือในเชิงยุทธศาสตร์ของการบริหาจัดการเมืองว่า ตรงนี้มันอาจต้องมีเลนพิเศษสำหรับให้รถพยาบาลวิ่งตรงไปได้เลยอย่างทันท่วงที
รู้จักเมืองที่คุณอยู่อาศัยกันมากขึ้นหรือยัง