posttoday

เที่ยวสตูลมุมใหม่ที่ 'หลอมปืน' ชุมชนท่องเที่ยวจากคนรักษ์ถิ่นอย่างแท้จริง

28 พฤศจิกายน 2566

สตูลมีอะไร? บางคนรู้จักหลีเป๊ะ ชายหาดชื่อดังระดับโลกมากกว่าจังหวัดที่ตั้งอยู่ แต่จริงๆแล้ว สตูลมีอะไรมากกว่าที่คิด .. โดยเฉพาะในชุมชนเล็กๆ ที่ชื่อว่า 'บ้านหลอมปืน' ซึ่งเกิดขึ้นโดยกำลังของคนรุ่นใหม่ ที่ 'เรียนรู้' และพัฒนาชุมชนของเขาให้ 'อยู่รอด' จากการท่องเที่ยว

ชุมชนหลอมปืนไม่ใช่ทางผ่านอีกต่อไป

 

เมื่อ ‘เป็ด’ จักรกริช ติงหวัง ลูกหลานชาวประมงที่เกิดและเติบโตในพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย บ้านหลอมปืน ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล  ได้มองเห็นพ่อทำงานเพื่อชุมชนในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติเท่าที่จะทำได้ในรุ่นบุกเบิก ด้วยการรักษาแนวป่าโกงกาง และปลูกป่าชายเลน เพื่อรักษาระบบนิเวศ และแหล่งเพาะพันธ์ุอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งจะเติบโตเป็นอาหารของชาวบ้านในบริเวณนั้น รวมไปถึงการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจิตอาสา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงเวลาที่เกิดเหตุสึนามิ ซึ่งทำให้เขาได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่เกิดขึ้น

 

‘เป็ด’ อยากจะทำให้ยั่งยืนไปกว่านั้น ด้วยการเรียกคนรุ่นใหม่กลับมาอยู่บ้าน

 

เขาไม่เคยคิดว่าคนรุ่นใหม่อยากจะออกไปทำงานนอกบ้านหากเลือกได้ แต่ด้วยความที่ในพื้นที่ไม่มีงานที่มีรายได้เพียงพอจึงทำให้พวกเขาต้องออกไปทำงานไกลๆ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาหมู่บ้านในอนาคต และนั่นทำให้เขาต้องสร้างสิ่งที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจที่ดีภายในชุมชน ด้วยการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างเป็นธรรม

 

การท่องเที่ยวชุมชน ‘บ้านหลอมปืน’ จึงถือกำเนิดขึ้น

 

ปัจจุบัน ใครก็เรียกเขาว่า ‘ต้นกล้าเป็ด’  คำว่า ต้นกล้า นั้นหมายถึง ต้นที่กำลังจะเติบโตและผลิดอกออกผลต่อไป รวมไปถึงแฝงคำว่า ‘กล้า’ อันให้ความรู้สึกว่านี่คือสัญลักษณ์ของผู้นำ ด้วยความที่เขาได้เข้าร่วมกับ มูลนิธิเอสซีจี ในฐานะต้นกล้าชุมชน เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างคนที่เก่งและดี ได้พัฒนาศักยภาพและทักษะต่างๆ ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม  เพื่อผลักดันและพัฒนาแนวคิดของ ‘เป็ด’ ที่ว่าตามปกติการท่องเที่ยวมักจะมาพร้อมกับการ ‘ใช้ทรัพยากรในพื้นที่’ แต่ด้วยความที่ผ่านงานจิตอาสาด้านการอนุรักษ์มาก่อน เขามองว่า การท่องเที่ยวสามารถยึดโยงการอนุรักษ์เข้าด้วยกัน และเป็นเครื่องมือสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่คนในชุมชนและนอกชุมชนไปพร้อมกัน

 

ป่าชายเลนที่เติบโตขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้าน

 

4 สถานที่ท่องเที่ยว มองสตูลมุมใหม่ผ่าน ‘ชุมชนหลอมปืน’

 

อ่าวทุ่งนุ้ย - ชุมชนหลอมปืน

 

ชายหาดที่อ่าวทุ่งนุ้ยนั้นสงบ แต่เดิมที่นี่เป็นท่าเทียบเรือของชาวประมงขนาดเล็ก เมื่อถึงฤดูฝนชาวบ้านจะนำวัว ควาย ไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าว หลังจากที่ต้องผ่านเหตุการณ์สึนามิซึ่งกวาดเอาต้นไม้ไปหมด ทางชุมชนจึงช่วยกันพลิกฟื้นและพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้นิเวศน์ในที่สุด

 

กิจกรรมปลูกป่าชายเลนเป็นกิจกรรมสำคัญของอ่าวทุ่งนุ้ย

 

กิจกรรมจะเริ่มจากการปลูกป่าชายเลน ซึ่งระหว่างเดินไปยังพื้นที่นั้น ก็ได้เห็นป่าชายเลนผืนใหญ่ ที่ ‘เป็ด’ บอกว่าเป็นฝีมือชาวบ้านปลูกขึ้นมาใหม่ ซึ่งเติบโตขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ รวมถึงการพายคายัคผ่านแนวป่าชายเลนเพื่อเห็นวิวจากอ่าวทุ่งนุ้ยเต็มสายตา มีแนวชายหาดที่ผุดขึ้นกลางทะเลคล้ายสันหลังมังกรให้ได้แวะพักถ่ายรูป เมื่อมาถึงจุดหมายก็ได้มีโอกาสเห็นชาวบ้านที่ออกมาหาปลาตัวเล็กๆ ตามวิถีชาวบ้านดั้งเดิม

 

วิวของอ่าวทุ่งนุ้ย

 

ปันหยาบาติก

 

รถตู้พาเราไปเริ่มกลางป่ายาง เพื่อไปดูแหล่งดินเริ่มต้นที่นำมาทำสีย้อมผ้า ดินชนิดนี้คือดินหินปูนผุ หรือดินเทอราโรซ่า ซึ่งพบในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานธรณีโลก จ.สตูล เท่านั้น ซึ่งต้องขุดลงไปลึกเสียหน่อย จะได้เนื้อดินที่ออกสีส้มแดงจัด จากนั้นจึงพาไปยังแหล่งผลิตปันหยาบาติก ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวเล็กๆ ที่ผลิตผ้าบาติกมาหลายสิบปีและส่งต่อมาจนถึงรุ่นลูก

 

ดินเทอราโรซ่าที่นำมาย้อมผ้า

 

ผ้าบาติกที่นี่นอกจากจะมีเอกลักษณ์จากสีของดินที่นำมาใช้ย้อม จนได้สีแนวเอิร์ทโทนละมุนตาแล้ว ลวดลายที่ใช้ก็เป็นลวดลายที่บ่งบอกความเป็นท้องถิ่น เช่น ลวดลายฟอสซิลซึ่งถูกวาดแต่งแต้มอยู่บนผ้า สะท้อนถึงความภาคภูมิใจว่าพื้นที่สตูล เป็นเขตพื้นที่อุทยานธรณีโลก ที่ขุดพบฟอสซิลย้อนเวลาไปได้หลายร้อยปี

 

ผ้าบาติก ที่มาจากการย้อมสีตามธรรมชาติ

 

เกาะลิดี

 

เกาะลิดีเป็นหนึ่งในเกาะของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีลักษณะเป็นเกาะคู่แฝด ( ลิดีเล็ก-ลิดีใหญ่ ) ซึ่งมีเกาะบริวารเล็กๆ ล้อมรอบอีก 3-4 เกาะ ลิดีเป็นภาษามลายูแปลว่า ‘ไม้เรียว’ เป็นเกาะที่มีนกนางแอ่นชุกชุม มีธรรมชาติหลากหลาย เราเดินทางออกจากท่าด้วยเรือประมงที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นเรือท่องเที่ยว มุ่งตรงไปยังกลางทะเลอันดามัน

 

เกาะลิดี

 

เมื่อไปถึงก็ได้เห็นเกาะเล็กๆ ที่มีชายหาดทอดยาวอยู่ เหมาะกับการเล่นน้ำทะเลเพราะน้ำใส หากใครไม่อยากลงน้ำ ข้างๆ ก็จะมีผืนป่าชายเลนด้านข้างขนาบกัน ให้ได้พายเรือเข้าไปสำรวจได้วิวแตกต่างออกไป นอกจากนี้ยังมีถ้ำและหน้าผาให้สำรวจอีกด้วย

 

พายคะยักในเกาะลิดี

 

สะพานข้ามกาลเวลา

 

‘ถ้าข้ามเส้นนี้เราจะผ่านเวลามาเป็นล้านปีแล้ว’ นั่นคือกิมมิคของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะเด่นเป็นหน้าผาริมทะเลสูง ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นชั้นหินต่างสีสลับซับซ้อนกันไป โดยสามารถเดินดูตามเส้นทางเดินริมทะเลทอดยาวเลียบกับภูเขาขนาบกับทะเลสุดลูกหูลูกตา

 

สะพานข้ามกาลเวลา

 

ช่วงหนึ่งของหน้าผาจะมีสีสันของชั้นหินที่แตกต่างมีการพบรอยสัมผัสของหิน 2 ยุค คือ หินทรายสีแดงยุคแคมเบรียน ที่มีอายุประมาณ 541-485 ล้านปี และหินปูนยุคออร์โดวิเชียน ซึ่งมีอายุประมาณ 485-444 ล้านปี เพราะฉะนั้นเหมือนว่าเวลาที่เราก้าวข้ามเพียงก้าวเดียว ก็ได้เดินทางมาเป็นล้านๆ ปีแล้ว ซึ่งตามหินต่างๆ ก็จะมีการพบฟอสซิลตามแต่ละอายุด้วย

 

เที่ยวสตูลมุมใหม่ที่ \'หลอมปืน\' ชุมชนท่องเที่ยวจากคนรักษ์ถิ่นอย่างแท้จริง

 

การท่องเที่ยวทำให้ชุมชนยั่งยืนได้อย่างไร?

 

ตลอดการลงแรงของเป็ดและความร่วมมือกับคนในชุมชนส่งผลให้พื้นที่ชุมชนหลอมปืน บริเวณอ่าวทุ่งนุ้ยมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นกว่า 20 ไร่ สามารถจัดการความสะอาดบริเวณชายหากและพื้นที่ป่าชายเลนไปแล้วกว่า 150 ไร่ พร้อมกับการบริหารจัดการขยะในชุมชน นอกจากนี้ยังสามารถสร้างเด็กและเยาวชนให้เรียนรู้เรื่องรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติและรักษ์บ้านเกิดกว่า 30 คน ผ่านศูนย์การเรียนรู้นิเวศป่าชายเลน ซึ่งมีการเปิดให้ศึกษาดูงาน ร่วมกิจกรรม และจัดทำเวิร์คช็อป นอกจากนี้ยังสามารถสร้างรายได้กระจายสู่ชุมชน ทั้งร้านค้า แม่บ้าน ชาวประมง ผู้สูงอายุและเด็กเยาวชนกว่า 70 คน โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นคนละ 3,000-5,000 บาทเลยทีเดียว

 

อาหารพื้นเมืองจากวัตถุดิบท้องถิ่น

 

สำหรับใครที่อยากจะเดินทางมาที่นี่ สามารถแวะผ่านได้ก่อนที่จะลงเรือข้ามไปหมู่เกาะหลีเป๊ะ และเข้ามาเรียนรู้วิถีอนุรักษ์อ่าวทุ่งนุ้ย และสัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ตามเส้นทางต่างๆ ได้.

 

\'ต้นกล้าเป็ด\' เติบโตขึ้นด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิเอสซีจี

 

เกี่ยวกับ Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด จาก มูลนิธิเอสซีจี

แนวคิด Learn to Earn (เรียนรู้เพื่ออยู่รอด) เป็นแนวคิดที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ เรียนรู้ ปรับตัวและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้น โดยการสนับสนุนการฝึกฝนทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นให้คนสามารถใช้ชีวิตและการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามพันธกิจของมูลนิธิฯ ที่ต้องการสร้างคนให้เติบโตเป็นคนเก่งและดี มีน้ำใจช่วยเหลือสังคม

ทางมูลนิธิได้ขับเคลื่อนแนวคิดนี้มาตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทักษะความรู้ความสามารถของบุคคลต่างๆ เพื่อให้สามารถเติบโตและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป.