การแสดง (Acting) ของดารา นักร้อง นักแสดง มีลิขสิทธ์ไหมนะ ?
ดารา นักร้อง นักแสดงที่แสดงละคร คอนเสิร์ต ภาพยนตร์มากมายจนโด่งดังมีชื่อเสียง เส้นทางแห่งดวงดาวใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าจะแสดงได้แต่ละบทต้องทำการบ้าน ซักซ้อมจนเชี่ยวชาญ ใช้ความทุ่มเท วิริยะอุตสาหะไม่น้อย แล้วกฎหมายคุ้มครองการแสดง (Acting) ของพวกเขาหรือไม่ ?
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กฎหมายไทย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ฉบับแก้ไข ได้บัญญัติถึงการคุ้มครองการแสดงของนักแสดงไว้แล้ว ในมาตรา 44 -53 หมวด สิทธินักแสดง โดยได้นิยามความหมายของนักแสดงไว้ในมาตรา 4 โดยนิยามว่า
“นักแสดง” หมายความว่า ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด
อย่างไรก็ตาม “สิทธินักแสดง” กับ “ลิขสิทธิ์” แยกออกจากกัน แม้ว่าจะบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ก็ตาม เพราะ “สิทธินักแสดง” ถือว่าเป็น “สิทธิข้างเคียง” (neighboring rights) ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2 สิทธิ คือ
1. สิทธิแต่เพียงผู้เดียว ตามมาตรา 44
มาตรา 44 นักแสดงย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของตน ดังต่อไปนี้
(1) แพร่เสียง แพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดง เว้นแต่จะเป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนจากสิ่งบันทึกการแสดงที่มีการบันทึกไว้แล้ว
(2) บันทึกการแสดงที่ยังไม่มีการบันทึกไว้แล้ว
(3) ทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนักแสดง หรือสิ่งบันทึกการแสดงที่ได้รับอนุญาตเพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือสิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิของนักแสดงตามมาตรา ๕๓
2. สิทธิในการได้รับค่าตอบแทน ตามมาตรา 45
มาตรา 45 ผู้ใดนำสิ่งบันทึกเสียงการแสดงซึ่งได้นำออกเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าแล้ว หรือนำสำเนาของงานนั้นไปแพร่เสียงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยตรง ให้ผู้นั้นจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่นักแสดง ในกรณีที่ตกลงค่าตอบแทนไม่ได้ ให้อธิบดีเป็นผู้มีคำสั่งกำหนดค่าตอบแทน ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงอัตราค่าตอบแทนปกติในธุรกิจประเภทนั้น
*หากใครมาละเมิดหรือฝ่าฝืนไม่กระทำการตามข้อดังกล่าว ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายนี้
หมายเหตุ
(ตามมาตรา 47 และ 48) นักแสดงจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย และการแสดงในประเทศไทยหรือประเทศภาคีที่คุ้มครองสิทธิแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 44 ด้วย
การบัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิข้างเคียง (neighboring rights) จากการรับรองสิทธิตามอนุสัญญากรุงโรม ค.ศ. 1961 ที่กำหนดให้การคุ้มครอง การแสดงของนักแสดง เนื่องจากหากพิจารณางานอันมีลิขสิทธิ์ประเภท ภาพยนตร์ ละคร ดนตรีกรรม นาฎศิลป์ เหล่านี้หากไม่มีนักแสดงก็ไม่สามารถถ่ายทอดงานสร้างสรรค์ออกมาได้ แต่หากเป็นงานประเภทวรรณกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีนักแสดง จึงเป็นเหตุผลให้องค์การด้านทรัพย์สินปัญญาโลก ( WIPO ) ออกข้อกำหนดในอนุสัญญากรุงโรงดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิข้างเคียงขึ้นมา (neighboring rights)
อย่างไรก็ตามอนุสัญญากรุงโรมได้ให้ความคุ้มครอง “สิทธิข้างเคียง” ไว้ถึง 3 ประเภท คือ สิทธินักแสดง , สิทธิผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียง และสิทธิองค์การแพร่ภาพแพร่เสียง แต่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของประเทศไทยให้ความคุ้มครองสิทธิข้างเคียงประเภทเดียวคือ “ สิทธินักแสดง”
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า “สิทธินักแสดง” สิทธิข้างเคียง จะต้องเป็นสิทธิข้างเคียงในงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ? ข้อนี้เลขาธิการองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ( WIPO ) ได้กล่าวว่า “ขอบเขตของการคุ้มครองสิทธิข้างเคียงไม่ด้อยไปกว่าลิขสิทธิ์หรือไม่ด้อยไปกว่าระบบลิขสิทธิ์และการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงก็ไม่ควรต่ำกว่าระบบลิขสิทธิ์ ฉะนั้นเมื่อลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดงเป็นอิสระจากกันแล้ว การละเมิดสิทธินักแสดงอาจเกิดขึ้นโดยไม่ต้องละเมิดลิขสิทธิก็ได้” แต่สำหรับกฎหมายไทย การที่บัญญัติเกี่ยวกับสิทธินักแสดงไว้เป็นหมวดหนึ่งของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องตีความว่าสิทธินักแสดงต้องกระทำในงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ยังไม่รวมถึงการบัญญัตินิยามคำว่านักแสดงที่ไม่ชัดเจนกับคำว่า “แสดงในลักษณะอื่นใด” จะตีความกว้างหรือแคบอย่างไร ? ทั้งแนวทางการตีความของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศของไทย ก็ยังไม่ชัดเจน เรื่องนี้จึงต้องติดตามต่อไป
แต่ที่แน่ๆ นักแสดงตามนิยามมาตรา 4 คนไหนไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการแสดง (Acting) หรือมีใครเอาการแสดงเราไปแผยแพร่ ทำซ้ำ บันทึก โดยไม่ได้รับอนุญาต ตรงนี้มีความผิด ดำเนินคดีตามกฎหมายได้แน่นอน
ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา
Managing Partner STELO Entertainment Law
Page : Stelo Entertainment Law