กาลครั้งหนึ่งในบางเวลา ของ ทรงศีล ทิวสมบุญ
ทรงศีล ทิวสมบุญ นักเขียนที่แจ้งเกิดจากการ์ตูนเรื่อง "ถั่วงอกกับหัวไฟ" และนิยายภาพภาพประกอบเรื่อง "Nine Lives"....
ทรงศีล ทิวสมบุญ นักเขียนที่แจ้งเกิดจากการ์ตูนเรื่อง "ถั่วงอกกับหัวไฟ" และนิยายภาพภาพประกอบเรื่อง "Nine Lives"....
โดย...มัลลิกา นามสง่า mallikan@posttoday.com
กาลครั้งหนึ่ง อาจหมายถึงที่ไหนเมื่อไหร่ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบันหรือความฝัน และในบางเวลา เรื่องเล่าก็สามารถบอกเล่าความจริงได้น่าจดจำยิ่งกว่าความจริงเสียอีก...
ทรงศีล ทิวสมบุญ เขียนไว้ในหนังสือ"Once Upon Sometimes"
ทรงศีล ทิวสมบุญ นักเขียนที่แจ้งเกิดจากการ์ตูนเรื่อง "ถั่วงอกกับหัวไฟ" และนิยายภาพภาพประกอบเรื่อง "Nine Lives" หนังสือดีเด่น รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี2551 "Once Upon Sometimes" คือผลงานรวมเล่มล่าสุดของเขา เป็นผลงานที่ถูก
คัดเลือกมาจากคอลัมน์ชื่อเดียวกัน จากนิตยสาร a day คอนเซปต์ของคอลัมน์นี้คือ Graphic Novel ซึ่งมีกลิ่นอายนิทานปรัมปราของญี่ปุ่น ในเล่มประกอบไปด้วยนิยายภาพ 22 ตอน
"จะบอกว่าเล่าผ่านนิทานก็ใช่ บางคนก็มองว่าคล้ายบทกวี การสื่อสารคล้ายแบบนั้น แต่ตอนเขียนผมไม่ได้เน้นสัมผัสคำ ไม่ได้ยึดระบบกลอนเป็นหลัก ที่สัมผัสกันอยากให้เรื่องมันไหลลื่น คำไปกับเรื่องได้ราบรื่นมากกว่า"
ประเด็นที่ทรงศีลหยิบยกมานำเสนอผ่านตัวละคร ทั้งดอกโบตั๋น หมีน้อย อีกาในภาพวาด หนูนา ต้นไม้ เมฆดำ และอีกหลายสิ่งที่เขานำมาสรรค์สร้างใส่จินตนาการลงไปให้มันมีชีวิต ล้วนสะท้อนถึงสภาวะความเป็นจริงของชีวิต สังคม และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา
"เป็นไดอะรีประมาณหนึ่ง ผมเป็นประเภทที่เขียนไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตตอนนั้นเลยไม่ได้ ผมว่าเป็นธรรมชาติของคนเขียนหนังสือส่วนหนึ่ง แต่วิธีการเล่าไม่ได้เล่าแบบตรงไปตรงมาเสียทีเดียว อย่างผมไปเจอเรื่องหนึ่ง ถ้าผมเล่าตรงๆ ออกจากบ้านเวลานี้ ไปเจอคนนี้ เกิดเหตุการณ์ อารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ คนอื่นจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของคนเขียน แต่การเล่าเป็นนิทานใช้การเปรียบเปรยจะสัมผัสใจคนอ่านได้กว้างกว่า ในขณะเดียวกันก็เว้นที่ว่างให้คนจินตนาการได้มากกว่า มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับคนใกล้ชิดเรา คนอ่านอาจรู้สึกกลอนเกี่ยวกับความรัก ถ้าผมเขียนตรงๆ เหมือนมาตีแผ่ชีวิตตัวเองเหมือนทำลายความเป็นส่วนตัวของตัวเองและคนใกล้ชิด แต่ไม่ใช่ไม่อยากเขียนถึง แต่เอามาเขียนถึงแบบนี้เพื่อความเป็นส่วนตัวก็ยังอยู่ และในขณะเดียวกันมีช่องว่างให้คนอ่านได้คิดด้วย ทุกตอนผมไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องของใคร เกิดขึ้นที่ไหน ไม่ระบุเวลาแน่นอน นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ผมใช้ชื่อว่า 'กาลครั้งหนึ่งในบางเวลา'(ชื่อหนังสือภาษาไทยไม่มีพิมพ์บอกไว้ในเล่ม)"
ถ้าใครติดตามผลงานของทรงศีลมาตั้งแต่ต้น จะเห็นว่าในทุกๆ งานของเขาชัดเจนในเรื่องของสังคม เรื่องไม่ได้ผูกติดกับใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกๆ ผู้และสามารถสัมผัสใจได้ไม่ยาก "จริงๆเรื่องในหนังสือนี้ ถ้าสังเกตแต่ละตอนจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ แต่พอพูดถึงความสัมพันธ์คนจะนึกถึงมนุษย์ชายหญิงแต่บางบทเป็นความสัมพันธ์ของชนชั้นผู้ปกครอง บางบทเป็นความสัมพันธ์ของครูกับลูกศิษย์ บางบทเป็นศิลปินกับผลงานของเขา ซึ่งในเรื่องตอนจบก็มีตอนที่เศร้าพอสมควร ในขณะเดียวกันตอนมีความสุขก็มี แต่ไม่ได้หวานเจี๊ยบนัก"
งานของทรงศีลส่วนใหญ่จะใส่ความเหนือจริง แต่ในความเหนือจริงมีความจริงแท้ยิ่งกว่า "งานผมเหมือนนิทานปรัมปราเหมือนเรื่องสมมติ จริงๆ แล้วผมว่าคนจะรู้สึกว่าไม่ชอบอ่านนิทานหรือนิยายโดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่จริงๆ แล้วระดับของความจริงบางครั้งไม่ต่างกันเพียงแต่วิธีเล่าต่างกัน ความเรียงบางอย่างมีความจริงน้อยกว่านิยายเสียอีกเพราะว่าคนเขียนปั้นซะเยอะ จะเขียนยังไงให้มันดูดี เขียนยังไงให้คนอ่านรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ นิทานเล่าความจริงที่คนอ่านรู้สึกว่าเศร้าเพราะมันจริงแค่นั้นเอง อย่างตอนเมืองเมฆดำเป็นเรื่องผู้ปกครองกับประชาชน อ่านแล้วจะรู้สึกทันทีว่าเคยเกิดขึ้นจริงแล้ว และข้อดีของนิทานปรัมปราคือไม่ได้ตีกรอบ อย่างเรื่องเพลงเศร้าของโบตั๋นขณะที่บางคนมองว่าเป็นเรื่องของนักดนตรีกับผู้ฟัง บางคนมองเหมือนเปรียบเทียบความรักของคู่รัก แปลกที่หลายคนตีความไม่เหมือนกัน ผมเคยอ่านหนังสือชื่อหิ่งห้อย (เขียน-รพินทรนาถฐากูร) เป็นบทกวีสั้นๆ เพื่อนห้าคนอ่านก็คิดไม่เหมือนกัน ตรงนี้เป็นเสน่ห์ ผมอยากให้หนังสือเราให้ความรู้สึกได้แบบนั้น ผมว่ามันเป็นอิสระแบบหนึ่งของคนอ่าน แม้สิ่งที่ปรากฏในงานของผมจะมีความเหนือจริง แต่เป็นการเปรียบเปรยให้มันชัดขึ้น"
ในแต่ละตอนนั้นใช้หน้ากระดาษเพียง 4-5 หน้าเท่านั้น และมีตัวอักษรเรียงรายอยู่แค่หน้าละไม่กี่บรรทัด ซึ่งในการเล่าเรื่องที่ใช้คำน้อยก็เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับทรงศีล ทว่าการใช้ภาพมาช่วยเล่าเรื่องก็ช่วยทำให้คำที่จำกัดนั้นสามารถขยายและมีความหมายที่กว้างไกลได้เกินคำ
"การเขียนสั้นยากตรงที่ใช้คำน้อยและคำต้องประณีต ถ้าเขียนยาวๆ เราสามารถบิวด์คนอ่านได้เยอะ แต่คำที่น้อยแต่ต้องเข้าถึงความรู้สึกเป็นเรื่องยาก ความยากอยู่ตรงนี้ แต่บางครั้งคำที่น้อยก็อยู่ในใจได้นาน บางทีนิยายยาวๆ ทั้งเรื่องจำไม่ได้เลย แต่คำน้อยๆ แต่อยู่ในใจพอเจอเหตุการณ์อะไรแล้วได้ใช้มันจริงๆ การคิดคำมาใช้ผมคิดนานเหมือนกัน ไม่เขียนแล้วเอาเลย จะทิ้งสักวันหนึ่งกลับมาดูอีกที ดูครั้งที่สองดูด้วยสายตาของคนอ่าน เพราะคนเราจะรู้สึกดีกับงานของตัวเองระดับหนึ่ง ดังนั้นครั้งที่สองจะทำใจให้ได้ว่าเราเป็นคนอ่าน ไม่รู้จักคนนี้ อ่านแล้วดูว่าควรตัด ปรับตรงไหนผมเขียนโดยไม่มีภาพก็ได้ ก็สนุกแบบนั้น เป็นเรื่องสั้น บทความสั้นๆ แต่บางทีผมมีความรู้สึกว่าคำบางคำผมคิดไม่ออกจริงๆ แต่ผมวาดรูปผมวาดได้นะ เหมือนเป็นความถนัดในการสื่อสาร ภาพวาดเป็นภาษาสากลจริงกว่าภาษาไหนๆ เราคุยกันคนละภาษา ถ้าวาดรูปแล้วมันถึง เราสื่อสารกันได้ ภาพมันช่วยให้เรื่องสามารถกระชับขึ้นได้ ผมจะไม่บรรยายว่าโบตั๋นถือกีตาร์ไหม กำลังร้องเพลง แต่ผมใช้รูปทำหน้าที่ได้ดีกว่าว่ากีตาร์หน้าตาเป็นยังไง ถ้าบรรยายคงหมดไปสองหน้ากระดาษความกระชับของเรื่องจะลดลง ถ้าไม่มีภาพชเรื่องจะเยิ่นเย้อ อารมณ์ความรู้สึกจะหายไป เพราะรูปไม่ได้บรรยายลักษณะอย่างชเดียว แต่มันสื่อสารความรู้สึกด้วย อย่างยัทเราเห็นรูปรูปหนึ่ง ทำไมเรารู้สึกกับมันเยอะ เพราะรูปมันคือการบันทึกความรู้สึกได้ง่าย"
ทรงศีลเขียนหนังสือและวาดลายเส้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยังเรียนที่ศิลปากรและตอนนี้ไม่มีใครไม่รู้จักเขาในฐานะคนเขียน Graphic Novel ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการทำงานที่สร้างชื่อทรงศีลให้เป็นที่รู้จักของนักอ่านรุ่นใหม่
"ผมเขียนเหมือนคนเขียนหนังสือทั่วไปส่วนใหญ่เรื่องมาก่อนภาพ เขียนเรื่องสี่หน้า ผมจะบอกอะไรบ้าง อ่านแล้วเห็นภาพอะไร เหมือนเราอ่านหนังสือแล้วเกิดจินตภาพ ก็พยายามวาดมันออกมาให้ได้ภาพมาก่อนเรื่องก็มีแต่น้อย วาดมารูปหนึ่งรู้สึกว่ารูปนี้แหละเราจะไปจากตรงนี้ เพราะบางครั้งเรื่องทั้งเรื่องมาจากภาพเดียวเท่านั้นเอง ในนี้ก็มีอยู่เรื่องหนึ่ง อีกาในภาพวาดผมเห็นภาพเหมือนจินตนาการก่อนว่าคนวาดรูปอีกาและอีกาเคลื่อนไหวได้ แต่ไม่รู้เรื่องจะเป็นยังไง แต่ก็อยากวาดรูปนี้ออกมาการทำงานแบบนี้เป็นวิธีการสื่อสารแบบหนึ่งที่เราคุ้นเคย เมื่อก่อนสื่อสารผ่านตัวหนังสือ การ์ตูนลักษณะเป็นช่อง มีบอลลูนคำพูด แต่นิยายภาพ กราฟฟิก โนเวล เป็นวิธีการสื่อสารที่ง่าย เหมือนหนังสือเด็ก บางคนมองว่านิยายภาพเป็นของยาก จะดีเหรอ ผมว่ามันเหมือนนิทานเด็ก มีมานานแล้ว แต่วิธีการแบบนั้นไม่มีเนื้อหาในแบบที่ผู้ใหญ่อ่านได้ด้วย งานที่ผมทำลักษณะการสื่อสารเรียบง่ายแบบหนังสือเด็กนั่นล่ะ แต่เนื้อหาของมันสื่อสารกับผู้ใหญ่"
Once Upon Sometimes เป็นการทำงานแตกต่างจากงานครั้งก่อนๆ ของทรงศีล เพราะเขาต้องการหนีความเป็นตัวเองทุกๆ ครั้งที่สร้างผลงานชิ้นใหม่อย่างไรก็ตามในลายเส้นของทรงศีลก็เป็นเอกลักษณ์ที่ตรึงแฟนๆ ให้เหนียวแน่น
"เพราะผมเริ่มต้นมาแบบนั้น เป็นวิธีการทำงานที่เห็นคุ้นตา โดยไม่ตั้งใจก็กลายเป็นคุ้นเคยไป ตอนทำงานผมไม่ห่วงเรื่องสไตล์ว่าจะเป็นเราไหม อย่างเรื่อง Nine Lives ผมดีใจที่คนเห็นแวบแรกไม่คิดว่าเป็นคนเขียนคนเดียวกันกับถั่วงอกหัวไฟผมจะดีใจที่เขาอ่านเพราะมันดี ไม่ได้อ่านเพราะติดชื่อ เพราะแบบนั้นดีใจอยู่แล้ว ซึ่งในอนาคตอาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างออกไปเอง ผมไม่ได้คิดว่าแบบนี้ดีที่สุด แต่มันเหมาะกับการทำงานที่สุด ถ้าในอนาคต
มีแนวคิดอื่น เนื้อเรื่องแบบอื่น เหมาะกับวิธีไหนผมก็จะเปลี่ยน การสร้างงานผมไม่ได้พยายามรักษาเอกลักษณ์ ผมมีจินตนาการถึงงานที่อยากเห็นอยู่ตลอด ไม่สามารถนั่งรอให้ใครไปสร้างขึ้นได้ เพราะคนอื่นทำก็คงไม่เหมือนที่ใจเราคิด ถ้าไม่ทำเองไม่ได้เห็นแน่ๆ ถ้างานจะให้พัฒนาก็ต้องมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงด้วย ถ้าเราทำซ้ำๆ ก็เหมือนเมนูเดิมๆ ผมยังสนุกกับการทดลองอยู่ ถ้าในแง่ของการตลาดพูดกันตรงๆ น่าจะยึดแบบที่ขายดีก็ทำกันไป แต่ผมทำไม่ได้ เวลาจะออกหนังสือแต่ละเรื่องผมไม่ได้มีความรู้สึกชัวร์เลยว่าจะขายดี เพียงแต่ทำดีที่สุดแล้ว"
ในวันนี้ชื่อของ "ทรงศีล ทิวสมบุญ" ติดทำเนียบนักเขียนรุ่นใหม่ แนวใหม่ ที่มีนักอ่านรุ่นใหม่เฝ้าติดตามผลงาน ซึ่งเขาบอกว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ได้มาง่ายๆ"บางคนมองว่าง่ายจังเลย ไม่กี่ปีเอง ทุกอย่างดูเหมาะเจาะ ออกมาเล่มแรกก็ขายดีแต่ผมจะบอกว่าทั้งหมดนับไปถ้วนๆ เท่ากับอายุ 28 ปีของผม เพราะว่ามันเกิดจากการสั่งสมทั้งหมด ถ้าไม่มีชีวิตวัยเด็กอยู่กับงานศิลปะ ไม่อยู่กับหนัง ไม่มีพ่อแม่พี่ชายแบบนี้ ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ หนังสือคงไม่ได้ออกมา ไม่ใช่แค่ทักษะการวาดภาพแต่หมายถึงความคิดที่สั่งสมมาด้วย และถ้าในเรื่องการทำงานผมมาเป็นขั้นบันไดหนังสือพิมพ์ครั้งแรกแค่พันเล่ม ขายดีก็เขยิบมาพิมพ์เยอะขึ้น พอไปได้ก็เขยิบขึ้นมาอีก งานแรกที่ทำก็แค่วาดภาพประกอบนิตยสารแค่นั้นเองมีน้องคนหนึ่งมาถามผมว่า จะทำงานยังไงให้ออกมาดี ผมตอบสั้นๆ ว่า อะไรที่มาจากใจจะเป็นของจริงแค่นั้นเอง เหมือนในคำนำผมเอามาจากประสบการณ์ อาจารย์ท่านหนึ่งที่ศิลปากร ท่านสอนให้เราเชื่อในสิ่งที่เราทำ ถ้าคุณไม่เชื่อว่ามีจริง เกิดขึ้นจริงจะเขียนให้คนอ่านเชื่อได้ไง อาจจะดูเป็นนามธรรม แต่เป็นแบบนั้นจริงๆ ถ้าเราไม่เชื่อว่าเขามีตัวตน เขียนออกมาบุคลิกก็เหมือนเรา แต่ถ้าเราเข้าใจว่าเขามีตัวตนเหมือนเราเชื่อว่าหมาแมวมีจริง เราจะจินตนาการได้ว่าเขาใช้ชีวิตยังไง"