7 กุศโลบาย ดับโกรธนิโรธทุกข์
ว.วชิรเมธี แนะ 7 ขั้นตอนต่อไปนี้ หากปฏิบัติได้ก็สามารถตัดญาติขาดมิตรกับความโกรธได้แล้ว...
ว.วชิรเมธี แนะ 7 ขั้นตอนต่อไปนี้ หากปฏิบัติได้ก็สามารถตัดญาติขาดมิตรกับความโกรธได้แล้ว...
โดย...วรธาร ทัดแก้ว
ความโกรธเป็นธรรมดาของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน แต่คนทั่วไปก็ชอบเป็นทุกข์เพราะความโกรธ ทั้งที่ความโกรธเป็นแค่ส่วนเกินและอาคันตุกะของชีวิต ทว่ามีคนจำนวนไม่น้อยโกรธจนคิดว่าความโกรธเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แท้ที่จริงแล้ว ถ้าหากมีปัญญาก็สามารถที่จะอยู่เหนือความโกรธได้ หรือเจริญสติทุกวันก็จะรู้ว่าความโกรธเป็นแค่ส่วนเกินของชีวิต ไม่มีความโกรธก็อยู่อย่างมีความสุขได้
ความโกรธนั้น มีพลานุภาพไร้ขีดจำกัดในการเผาผลาญบุคคลที่ตกเป็นทาส และความโกรธก็อันตรายยิ่งกว่าไฟใดๆ เพราะเผาผลาญได้ทุกอย่าง ทั้งคนที่เรารัก ทั้งคนที่รักเรา ทั้งคนที่ เราเกลียด ทั้งคนที่เกลียดเรา ชื่อเสียงที่สั่งสม ความดีที่อบรมมา แค่ความโกรธครั้งเดียวก็ น่ากลัวยิ่งกว่าไฟไหม้บ้าน ซึ่งหากปล่อยให้ความโกรธย่ามใจโดยไม่คิดหาวิธีจัดการ ชีวิตทั้งชีวิต จะหาความสุขแต่ที่ใด...
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี ผอ.สถาบันวิมุตตยาลัย กล่าวว่า คนฉลาดต้องระวังและไม่ปล่อยให้ความโกรธแสดงพลังอำนาจเหนือจิตของตนได้ เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้นจะต้องมีวิธีปฏิบัติต่อความโกรธอย่างแยบยล เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมก่อนที่ลมจะพัดพาไฟคือความโกรธโหมเข้าใส่ และวิธีที่จะหยุดยั้งหรือดับมอดไฟแห่งความโกรธนั้นก็มีหลายวิธี แต่คิดว่า 7 วิธี หรือ 7 ขั้นตอนต่อไปนี้ หากปฏิบัติได้ก็สามารถตัดญาติขาดมิตรกับความโกรธได้แล้ว
1.ทันทีที่โกรธ...ต้องรู้ว่าโกรธ
คนเราเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น สิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติคือต้องรู้ตัวเองว่าโกรธ เพราะถ้าไม่รู้ตัวเรากับความโกรธจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียว ความโกรธอยู่ในตัวเราเราก็อยู่ในความโกรธ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็เป็นระเบิดพลีชีพได้ในพริบตา ฉะนั้นทันทีที่ความโกรธเกิดขึ้น จะต้องรู้ตัวว่าเรากำลังโกรธเสมอทุกครั้ง
ว.วชิรเมธี กล่าวว่า หากความโกรธเกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน ลองนั่งนิ่งๆ ประสานมือขึ้นมาไว้ที่ตัก หันไปมองจิตของเราว่าความโกรธมันเริ่มต้นจากตรงไหน สักพักหนึ่งจิตจะมีอาการวูบวาบ ความโกรธจะรู้สึกว่าถูกเฝ้าดู แล้วเขาก็จะหายวาบไปตรงนั้นซึ่งๆ หน้าเอง
2.ระงับการคิด การพูด การสั่งการในขณะโกรธ
ทันทีที่รู้ว่าโกรธ สิ่งที่ควรทำต่อไปคือการระงับการคิด การพูด และการสั่งการอะไรๆ ก็ตามในท่ามกลางมรสุม เพราะถ้าขืนทำอะไรลงไปในขณะที่ไฟโกรธลุกโชนจะยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้โหมหนักขึ้นไปอีก ซึ่งจะขาดความเป็นกลางและขาดประสิทธิภาพ
3.เดินออกจากสถานการณ์ให้เร็วที่สุด
ไม่ว่าใครก็ตามหากยังอยู่ในสถานการณ์แห่งความโกรธแล้วยังไม่รีบเดินออกมา สถานการณ์แวดล้อมนั้น จะเป็นเชื้อปะทุชั้นดีให้เราตกเป็นทาสของความโกรธ นักการเมืองที่ถกเถียงกับเพื่อนนักการเมือง ถูกยั่วเย้าแล้วไม่ยอมเดิน ออกจากสถานการณ์ เผลอตัวไปกระโดดถีบ คนอื่น เพราะไม่ยอมเดินออกจากสถานการณ์ ถ้าเราเดินออกจากสถานการณ์นั้นมาได้จิตของเราจะถูกพรากจากวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ ฉะนั้นทันทีที่เดินออกมาจากสถานการณ์แห่งความโกรธได้ ก็เท่ากับเราหยุดป้อนอาหารให้กับความโกรธ ซึ่งเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมนั่นเอง
4.หาน้ำเย็นล้างหน้าล้างตาหรือใช้ดื่ม
น้ำนั้นมีปฏิสัมพันธ์ต่อการเจริญสติของคนเรา ถ้าสังเกตจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเลือกบรรพชา ที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ตรัสรู้เมื่อตอนเช้าตรู่ก็ที่ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา จะเห็นว่าวัดทุกวัดในครั้ง พุทธกาลล้วนมีสระน้ำ ซึ่งข้อสังเกตนี้เห็นได้ชัดว่าน้ำที่มี ความเย็นเป็นธรรมดานั้น ย่อมเป็นสิ่งเกื้อกูลต่อการเจริญสติของคนเราให้ฟื้นตื่นขึ้นมาที่ไม่ธรรมดา
ว.วชิรเมธี กล่าวว่า เวลาที่เราโกรธแล้วฟื้นตื่นขึ้นมาควรหาน้ำเย็นๆ สักแก้วมาล้างหน้าล้างตา สติของเราซึ่งลับลี้หนีหายก็จะได้รับการกระตุกเร้าให้ตื่นขึ้นมา ซึ่งพอสติกลับคืนมาก็ทำให้มองเห็นตัวเราได้ชัดเจนขึ้น ตรงนั้นแหละจะทำให้เรากลับมาเป็นตัวของตัวเราเองอีกครั้งหนึ่ง
5.หาอะไรทำเพื่อเบี่ยงเบนพลังงานความโกรธ
ตามตึกสูงระฟ้า ตรงยอดสุดจะมีสายล่อฟ้าเพื่อถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าลงสู่ดิน เช่นเดียวกัน ความโกรธก็มีอุปมาเหมือนกับพลังงานไฟฟ้าที่ฟาดเปรี้ยงลงมาที่สิ่งปลูกสร้างคือชีวิตของเรา ถ้าไม่เรียนรู้ที่จะถ่ายเทพลังงานความโกรธลงสู่ ผืนดินเราก็ไม่สามารถเดินออกจากสถานการณ์นั้นได้ ซึ่งเมื่อเคลื่อนย้ายตัวเองออกมาจาก สถานการณ์แห่งความโกรธแล้วก็ควรหาอะไรทำ เพื่อกายจะได้อยู่กับจิต จิตจะได้อยู่กับงาน นี่คือ วิธีถ่ายเทพลังงานความโกรธ
6.การสวดมนต์และแผ่เมตตา
การสวดมนต์ทำให้เกิดสมาธิได้จริง เพราะเวลาสวดมนต์จิตจะมารวมที่บทสวดและทำให้ ผู้สวดหลงลืมความโกรธไปชั่วคราว ซึ่งเมื่อเราเรียนรู้ที่จะสวดมนต์เมื่อยามโกรธ จิตก็จะอยู่กับบทสวดมนต์ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ผลพอสมควร แต่ทุกครั้งที่สวดมนต์ควรแผ่เมตตาให้คนที่เราโกรธอย่าง ลึกซึ้งด้วย ความโกรธจึงจะหายไป ซึ่งการแผ่เมตตานั้นต้องอยู่บนฐานของปัญญา คือมองให้เห็นตัวเองซึ่งตกเป็นทาสของความโกรธว่าเป็นบุคคลที่น่าสงสาร มองดูตัวเขาซึ่งกระตุ้นให้เราโกรธก็ต่างเป็นบุคคลที่น่าสงสาร เพราะต่างก็ปล่อยใจเป็นทาสของความโกรธ
เมื่อเห็นความจริงเช่นนี้ ความเมตตาเกิดขึ้นเราก็แผ่เมตตาให้ตัวเองและแผ่เมตตาให้เขาด้วย ทำได้อย่างลึกซึ้งก็ไม่มีใครๆ ที่ควรแก่ความโกรธของเรา จิตใจก็จะประณีตมากขึ้น กลายเป็นเมตตาได้ทั้งตัวเองและคนที่ทำให้เราโกรธ
7.เจริญวิปัสสนากรรมฐาน
การเจริญวิปัสสนากรรมฐานจัดเป็นวิธีที่สลายความโกรธได้ลึกซึ้งที่สุด เพราะความโกรธเกิดขึ้นเพราะขาดสติและปัญญา พอขาดปัญญา ก็มีอีโก้ ตัวกูของกูเข้มข้น ยิ่งอัตตาเข้มข้นความโกรธก็ยิ่งอันตราย กลับกันถ้าอัตตาเบาบางความโกรธก็มีพลานุภาพทำลายน้อย ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่สลายอัตตาได้ ความโกรธก็ไม่มีพื้นที่แตะสัมผัส เหมือนกับความว่าง
ว.วชิรเมธี กล่าวว่า เมื่อตัวเราเป็นก้อนความว่างมาแต่เดิม และจิตของเราตื่นรู้ รู้เท่าทันว่า ตัวเราก็คือก้อนความว่าง ใครมาด่าใครมากระทบเราก็ไม่เอาอัตตาไปออกรับ เราก็ไม่โกรธ ซึ่งถ้า เราเจริญวิปัสสนากรรมฐานไปจนไม่เห็นตัวเรา แต่เห็นตัวเราเพียงแค่กระแสของชีวิตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่าเป็นกระแสของเหตุปัจจัย ไม่มีตัวเราตัวเขาอยู่ที่ไหน มีแต่กระแสของชีวิตที่ไหลอยู่เนื่องกันไป ทั้งหมดก็ตัวโกรธลงจับไม่ได้ พอโกรธลงจับไม่ได้ตัวเราก็มีชีวิตที่โปร่งเบาและอิสระ
วิธีเจริญวิปัสสนาฆ่าความโกรธ
ส่วนการเจริญวิปัสสนากรรมฐานสลายความโกรธนั้นมีหลากหลายวิธี ซึ่งอาจเริ่มจากวิธีที่เป็นพื้นฐานง่ายๆ ที่ใครก็สามารถปฏิบัติได้โดยไม่จำกัดเพศ วัย ดังนี้
การดูลมหายใจ (อานาปานัสสติ) คือ การส่งจิตดูลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ ลมหายใจเข้ายาวก็รู้ ลมหายใจออกยาว ก็รู้ ลมหายใจเข้าสั้นก็รู้ ลมหายใจออกสั้นก็รู้ ตามรู้ลมหายใจไปเรื่อยๆ จิตจะเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิก็จะเกิดสติคือความตื่นรู้ทางกายและจิต
การเจริญสติในชีวิตประจำวัน คือ การที่เราทำอะไรก็ตามให้เอาสติใส่เข้าไปในการคิด การพูด การทำ การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ ทุกอิริยาบถด้วย เช่น กินก็กินช้าๆ เคี้ยวก็เคี้ยวช้าๆ พยายามทำทุกอย่างช้าลงแล้วสติของเราก็จะเพิ่มขึ้น
ดูกาย คือสังเกตดูรูปร่างสังขารของเราที่กำลังเคลื่อนไหว ดูลมหายใจที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ทุกขณะ เอาสติไปจับจ้องกายที่กำลังเคลื่อนไหวแล้วเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของกาย เพราะกายที่เคลื่อนไหวอยู่นั้นมันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่มีอะไรแน่นอนสักอย่าง กายไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่กาย พอรู้ว่ากาย ไม่ใช่เราเราไม่ใช่กาย เป็นแค่เหตุปัจจัยไหลเลื่อนไปตามธรรมชาติ ใครมาว่ากายอะไรของเราเราก็ ไม่แอ่นอกออกไปรับ เพราะมันไม่มีตัวกูของกูอยู่ ในกาย มันมีแค่กายล้วนๆ นี้คือดูกาย
ดูเวทนา คือดูความรู้สึกชอบใจ ไม่ชอบใจ สุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ หรือความรู้สึกเป็นกลางๆ ไม่ชอบไม่ชัง เราก็สังเกตความรู้สึกของเรา ถ้าสังเกตอย่างลึกซึ้ง ก็จะเห็นว่าความรู้สึกของเราก็เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มีแต่ความรู้สึก ความรู้สึกเกิดขึ้นเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นสุข พอสุขเกิดขึ้นเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นทุกข์ สุขๆ ทุกข์ๆ สับเปลี่ยนกันอย่างนี้ ถ้าเราเข้าใจจิตดีก็มาถึง บทสรุปที่ว่าความรู้สึกนั้นก็ไม่แน่ พอความโกรธเกิดขึ้นความโกรธก็ไม่แน่ มันเกิดได้เดี๋ยวมันก็ดับได้
ดูจิต คือดูความคิดของเราที่มันกำลังไหว กระเพื่อม ถ้าเราเอาสติไปเฝ้ามองที่ความคิด ของเรา สักพักหนึ่งความคิดที่มันก่อตัวก็จะหายไป มันจะไม่พาเราคิด
ดูธรรม คือดูอาการต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในจิตของเราทั้งหมด ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ให้เราจับตาดู วันหนึ่งจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในจิตของเรา วันหนึ่งจะมีสิ่งชั่วๆ เกิดขึ้นในจิตเราร้อยแปดพันเก้า ถ้าจับตาดูจิตเราก็จะเห็นว่าแท้ที่จริงจิตนั้นมีธรรมชาติเป็นอย่างไร บางทีมันก็สว่างโพลงขึ้น บางที่มันก็ มืดมัวลงไป เมื่อดูเข้าไปลึกซึ้ง เราก็จะเห็นว่า จิตนั้นแท้ที่จริงก็มิได้มีตัวตนอะไร จิตก็คือความว่าง มิใช่จิตของเรา มิใช่จิตของเขา
เมื่อเฝ้าสังเกตกาย เวทนา จิต ธรรมอย่าง ลึกซึ้ง เราจะค้นพบความจริงของธรรมชาติอย่างหนึ่งว่าตัวเราไม่มี ตัวเขาไม่มี ชีวิตก็คือกระบวนการของธรรมชาติที่ไหลสืบเนื่องกันไปเป็นกระแส ไม่มีตัวเราไม่มีตัวเขา เวลามีใครมาด่าเราเราก็ไม่แล่นออกไปรับคำด่าและตัวเราก็ไม่คิดจะด่าใคร เพราะเราเข้าใจแล้วว่าจิตที่ตื่นรู้แล้วนั้นไม่มีทางที่จะไปด่าใครได้
ถ้าเข้าใจสัจธรรมชีวิตลึกซึ้ง เข้าใจกระบวนการการทำงานของจิต ตัวเราก็ไม่เป็นที่ตั้ง ของความโกรธ คนอื่นก็ไม่เป็นที่ตั้งของความโกรธ ทั้งตัวเราตัวเขาเอาเข้าจริงก็ไม่มี เมื่อตัวเราตัวเขาไม่มีความโกรธจะมีได้อย่างไร เพราะตัวความโกรธนั้นเกิดขึ้นจากการยึดติดถือมั่นในอัตตา ของเรานี่เอง และหากถอดถอนอัตตาออกได้ความโกรธก็ไม่มีที่เกาะ m