ความปรารถนาอันแรงกล้า
ความปรารถนาอันแรงกล้าในชีวิตที่บาสกเฝ้าหวังมาตลอดก็คือปรารถนาจะได้ไปกราบไหว้สถานที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และสถานที่แสดงธรรมสักครั้งหนึ่งก็ถือว่าเป็นบุญวาสนา
ความปรารถนาอันแรงกล้าในชีวิตที่บาสกเฝ้าหวังมาตลอดก็คือปรารถนาจะได้ไปกราบไหว้สถานที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และสถานที่แสดงธรรมสักครั้งหนึ่งก็ถือว่าเป็นบุญวาสนา
โดย...บาสก
ความปรารถนาอันแรงกล้าในชีวิตที่บาสกเฝ้าหวังมาตลอดก็คือปรารถนาจะได้ไปกราบไหว้สถานที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และสถานที่แสดงธรรมสักครั้งหนึ่งก็ถือว่าเป็นบุญวาสนา
แม้ว่า ณ ตอนนี้ความปรารถนาที่ว่ายังไม่ถึงฝั่ง แต่บาสกก็ไม่เคยสิ้นหวัง และเชื่อมั่นเสมอว่าสักวันหนึ่งคงมีโอกาสได้ย่างเหยียบแดนดินถิ่นพุทธภูมิ ได้กราบวันทาสมใจ
แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าแค่การตั้งความปรารถนาเช่นนี้ จะทำให้ใจของบาสกมีพลังวังชา ชีวิตมีชีวา จิตใจเบิกบาน เหมือนว่าความปรารถนามาหล่อเลี้ยงใจชุ่มชื่นมีหวังเสมอ
และเมื่อพูดถึงความปรารถนาของบาสก ก็อยากแบ่งปันเรื่องราวละม้ายคล้ายกันนี้ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ที่ตอนนี้เธอมีอุตสาหะแรงกล้ากับงานบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล
โครงการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ณ สวนลุมพินี ประเทศเนปาล นั้น เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาจากความปรารถนาอันแรงกล้าของคุณหญิงสุดารัตน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครจะได้รับงานมหากุศลที่ยิ่งใหญ่และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตเช่นนี้
ถามบาสกอยากได้งานนี้ไหม...ขอตอบจากใจจริงว่า อยาก... แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะเป็นผู้นำในการบูรณะเช่นคุณหญิงสุดารัตน์ เพราะถ้าได้ก็คงเป็นแค่การมีส่วนร่วมกับการบริจาคเงินนิดๆ หน่อยๆ ตามกำลังเท่านั้น
หลายคนคงอยากรู้ว่าเธอไปทำอะไรถึงไปได้เป็นประธานโครงการนี้ได้ ทั้งๆ ที่สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในประเทศเนปาลและยังเป็นมรดกโลกอีกด้วย
แรกเริ่มเดิมทีเมื่อเดือน ส.ค. 2553 คุณหญิงได้มีโอกาสเดินทางไปนมัสการสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ณ ประเทศเนปาล เป็นครั้งแรกในชีวิต โดยการชักชวนของคุณพวงเพ็ชร ชุนละเอียด
เธอบอกว่าช่วงที่ไปนั้นเป็นฤดูฝนและวันที่เดินทางฝนตกหนัก จากจุดลงรถจะต้องเดินเท้าผ่านถนนที่เปียกแฉะเต็มไปด้วยโคลนตมเพื่อเข้าสู่บริเวณ “มหาวิหารมายาเทวี” ซึ่งเป็นจุดที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ความรู้สึกตอนนั้นตื่นเต้นดีใจและปลื้มปีติมากในใจคิดว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าจะมีโอกาสได้กราบพระพุทธเจ้าพระบรมศาสดาเอกของโลก ณ จุดที่พระองค์ได้ประสูติจากพระครรภ์พระมารดาสิริมหามายา แต่ก็มีความไม่สบายใจที่จะต้องเข้าไปกราบด้วยทั้งเท้าที่เปื้อนโคลน ทว่าท้ายที่สุดก็ต้องถอดรองเท้าย่ำโคลนไปกราบไหว้ตรงสถานที่ประสูติ
จากนั้นเธอกับคณะได้ไปสวดมนต์ตรงบริเวณเสาหินอโศก ซึ่งเธอก็พบว่ามีลานให้นั่งกราบไหว้หรือเจริญภาวนาน้อยมาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยดินเฉอะแฉะ ทำให้เธอรู้สึกว่าสถานที่สำคัญขนาดนี้แต่ทำไมจึงไม่มีที่ทางที่เหมาะสมให้ได้นั่งตั้งจิตน้อมรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าให้สมกับความตั้งใจเดินทางมาด้วยความยากลำบาก
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ค่อยมีที่ทางที่สะดวกแต่เธอก็รู้สึกอิ่มเอมและปีติอย่างยิ่งที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาสมากราบระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ณ จุดประสูติจริงๆ พร้อมกับนั่งสมาธิ ซึ่ง ณ ขณะนั้นก็รู้สึกสงบเป็นสุขเมื่อมีภิกษุณีชาวศรีลังกากลุ่มหนึ่งมาสวดมนต์อยู่ใกล้ๆ
หลังลืมตาขึ้นมา ภาพแรกที่เธอเห็นคือเปลวเทียนนับร้อยเล่มถูกตั้งบูชารอบๆ เสาหินของพระเจ้าอโศกดูสว่างไสวสวยงาม จนรู้สึกอิ่มเอมปีติในใจ และถึงตอนที่เธอและคณะต้องจุดธูปเทียนบูชาบ้าง สำหรับต้องปักธูปกับกระถางต้นไม้ที่มีสภาพหักไปครึ่งซึ่งวางตั้งบนพื้นหญ้า ซึ่ง ณ จุดนี้ทำให้เธอยิ่งรู้สึกว่าทำไมสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าจึงมีสภาพทรุดโทรมเช่นนี้ ตั้งแต่ถนนทางเข้ามาวิหาร ทางเดินโดยรอบ และขาดแม้กระทั่งสถานที่ให้ชาวพุทธได้นั่งสวดมนต์เจริญภาวนาตลอดจนที่ปักธูปบูชา
ความรู้สึก ณ ขณะนั้นทำให้เธอเอ่ยปากขอ พระมหาสุพจน์ กิตติวณฺโณ พระที่เป็นหัวหน้าคณะเดินทางว่าอยากช่วยบูรณปฏิสังขรณ์ที่ประสูตินี้ให้มีความเหมาะสมเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แต่ก็ได้คำตอบว่าเป็นเรื่องยากมากเนื่องจากที่ผ่านมามีผู้หลักผู้ใหญ่จากประเทศไทยและชาวพุทธจากประเทศอื่นๆ มาขอบูรณะ แต่ทางคณะกรรมการพัฒนาสวนลุมพินีและคณะกรรมการมรดกโลกไม่อนุญาต แต่ท่านพระมหาสุพจน์ได้แนะนำว่าถ้ามีจิตเป็นกุศลและตั้งใจจริงก็ขอให้มานั่งอธิษฐานขอโอกาสจากพระพุทธเจ้าเอง ต่อหน้าเสาหินอโศกนี้ และด้วยคำแนะนำนั้นคุณหญิงสุดารัตน์จึงประนมมือตั้งจิตอย่างแน่วแน่อธิษฐาน
“ดิฉันขอโอกาสที่จะได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์สถานที่ประสูติแห่งนี้โดยจะขอเป็นสะพานบุญเชื่อมพลังศรัทธาของพี่น้องชาวไทยพุทธมาทำการบูรณปฏิสังขรณ์ให้มีความเหมาะสมสวยงามดังครั้งพุทธกาลเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ”
ปรากฏว่า จากการประสานกับคณะกรรมการพัฒนาสวนลุมพินี รัฐบาลเนปาล และคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อขออนุญาตบูรณปฏิสังขรณ์ตลอดเวลา 5 เดือนเศษ ความปรารถนาอันแรงกล้าของเธอก็มาสำเร็จตามที่อธิษฐานไว้ทุกประการ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2554 คณะกรรมการมรดกโลกได้อนุมัติแบบแปลนการบูรณปฏิสังขรณ์ และวันที่ 14 ก.พ. 2554 ได้ลงนามเอ็มโอยูกับคณะกรรมการพัฒนาสวนลุมพินี ถือเป็นการเริ่มต้นการบูรณะตั้งแต่นั้นมา
ทั้งหมดที่เล่ามาเพียงอยากบอกว่าแรงอธิษฐานทั้งหลายจะสำเร็จได้ ต้องมาจากความปรารถนาอันแรงกล้าและความตั้งใจจริง...อย่างนี้