พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 กษิตริย์นักธุรกิจ (ตอนที่2)
โดย...สมาน สุดโต
โดย...สมาน สุดโต
ตอนแรกจบที่การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ที่ก่อให้เกิดความกินดี อยู่ดีของคนในชาติ โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นำพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ดูว่า ทรงพระภูษาอาภรณ์ที่งดงามขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจของชาติและประชาชนดีขึ้นนั่นเอง
เศรษฐกิจของชาติดีเพราะอะไร ศ.ดร.ผาสุก ฟันธงว่า เพราะประเทศไทยเข้าสู่ยุคการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม คือข้าว ดังที่ท่านเล่าให้ฟังที่ประชุมเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2554 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ และวันนี้เสนอเป็นตอนที่ 2 อันเป็นตอนสุดท้าย ดังนี้
เศรษฐกิจข้าว
ข้าวกลายเป็นสินค้าหลักของประเทศ หรือเป็นร้อยละ 73 ของการส่งออกทั้งหมด ที่เหลือร้อยละ 17 เป็นการส่งออกพวกไม้สัก ยาง ดีบุก ของป่าอื่นๆ การส่งออกข้าวมาเพิ่มสูงในรัชกาลที่ 5 ที่เพิ่มเป็น 40% เทียบในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีเพียง 5%
ในขณะที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนจากเมืองบนน้ำกลายเป็นเมืองบนบก ประชากรเพิ่มจาก 3 ล้านคน เป็น 7 ล้านคน ในเวลา 40 ปี ประชากรเพิ่มเท่าตัว เพราะการอพยพกุลีจีนประมาณ 1 ล้านคน ที่เข้ามาหารายได้จากเศรษฐกิจในไทยที่ดีขึ้น
เศรษฐกิจหลักของชาติคือข้าว อุตสาหกรรมแทบจะไม่มีอะไรเลย นอกจากโรงสีข้าวและโรงเลื่อยไม้
เคยมีอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่หายไปเพราะมีชวาเป็นคู่แข่ง เคยตั้งกรมไหมภายใต้ความร่วมมือจากญี่ปุ่น เพื่อปรับปรุงการผลิตไหมที่อีสานแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับความพยายามจะปลูกฝ้าย จึงมีแต่อุตสาหกรรมพื้นบ้าน เช่น ทอผ้า จักสาน อุตสาหกรรมในครัวเรือนเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าเมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีข้าวเป็นสินค้าออกที่สำคัญและไม่มีอุตสาหกรรมอะไรที่จะพูดถึงได้
เมื่อมาดูเรื่องเศรษฐกิจข้าว จะพบว่าการส่งออกข้าวที่เพิ่มจาก 6.2 หมื่นตัน เป็น 7 แสนตัน เพิ่มเกือบ 10 เท่า เพราะชาวนาทำนาเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการข้าวจากประเทศรอบๆ บ้านเราคือ ศรีลังกา อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซียมีมากขึ้น ประกอบกับมีนวัตกรรมระบบขนส่งระหว่างประเทศเกิดขึ้นคือใช้เรือกลไฟ และใช้โทรเลขสื่อสาร ทำให้ติดต่อเรื่องต่างๆ ได้รวดเร็ว ส่วนภายในประเทศเองมีการขุดคลองชลประทาน สร้างทางรถไฟ ตอบสนองการทำนา และขนส่งได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น มีที่ดินในประเทศว่างเปล่ามาก ขุนนาง (บางท่าน) ลงทุนขุดคลอง ภาษีที่นาต่ำ เพียง 10% เมื่อมีการยกเลิกระบบไพร่ทาส ทำให้คนเป็นไท สามารถเข้าไปทำงานในไร่ ในนาได้ ทั้งโดยวิธีเช่านา และรับจ้าง ที่นาจึงเพิ่มจาก 5.2 ล้านไร่ เป็น 7.2 ล้านไร่
ในเวลา 40 ปี จำนวนที่นาเพิ่ม 5 ล้านไร่ เป็นครอบครัวชาวนาประมาณ 2 ล้านครัวเรือน (ประมาณการเอง) ส่วนใหญ่อยู่ภาคกลาง แต่มีชาวนาอีสานอพยพมาภาคกลางปีละประมาณ 1 หมื่นคน ทั้งๆ ที่การเดินทางลำบากมากในช่วงนั้น ถ้าหากคมนาคมสะดวกชาวนาอีสานคงอพยพมามากกว่านี้
แม้ว่าจะเป็นประเทศเกษตรกรรมส่งออกข้าวเป็นหลัก แต่การขยายพื้นที่เพาะปลูกนอกภาคกลางก็ล่าช้าเพราะปัญหาการคมนาคม แม้ว่าการรถไฟจะเกิดในช่วงนั้นก็ตาม (พ.ศ. 2443)
ที่น่าสนใจคือถ้าหากไม่ปล่อยทาสเป็นไท ไม่มีนโยบายเลิกทาส เพื่อดึงทาสออกจากขุนนาง จะไม่มีเศรษฐกิจข้าวเกิดขึ้น
เมื่อทาสเป็นไท พวกเขาต้องการที่นา หรือรับจ้างทำนา ซึ่งที่นาส่วนมากเป็นของขุนนาง
จึงกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจข้าวเกิดขึ้นเพราะรัชกาลที่ 5 เป็นกษัตริย์นักปฏิรูป นำความทันสมัยมาสู่ประเทศไทย ประกอบกับทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับพระคลังข้างที่บ่งบอกชัดในเรื่องนี้
ความสนพระทัยในเศรษฐกิจข้าวและอสังหาริมทรัพย์ของพระองค์เป็นกุศโลบาย ที่ทำให้ประเทศไทยสะสมโภคทรัพย์ได้มหาศาล รวมทั้งการที่ไม่ทรงสนับสนุนเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ จึงทำให้ชาวนารายเล็กเป็นเสาหลักเกษตรไทย
ส่วนการลงทุนในขณะนั้น นักลงทุนต่างชาติลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างกว้างขวาง เช่น สร้างอาคารตึกแถวถนนอัษฎางค์ การลงทุนเดินรถราง ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นตลาดหลวง เช่นเดียวกันกับที่ จ.สระบุรี นนทบุรี นครไชยศรี ราชบุรี สมุทรสาคร-สงคราม ตลาดเหล่านี้ต่อมาเป็นของพระคลังข้างที่ทั้งหมด
พระองค์เองยังทรงสร้างห้องแถวไว้ขาย เมื่อถึงปี 2445 พระคลังข้างที่เป็นเจ้าของพื้นที่เขตสำเพ็ง บางรัก สาทร ชนะสงคราม พาหุรัด บางขุนพรหม นางเลิ้ง สามเสน รวมถึง 4,085 ไร่
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์วิจารณ์ว่าเศรษฐกิจอาจเปลี่ยนแปลงไปเร็วและแรงกว่าที่เห็น หากรัฐบาลลงทุนด้านชลประทาน การคมนาคม และทำนุบำรุงภาคเกษตรมากกว่านี้
การจัดสรรงบประมาณก่อนปฏิรูป-หลังปฏิรูป
หันไปดูงบประมาณแผ่นดินในช่วงนั้น จะพบว่าการใช้งบประมาณเพื่อป้องกันประเทศ และรักษาความสงบภายในเป็นส่วนที่สำคัญ เพราะในช่วงปลายรัชกาลมีปัญหาในงบป้องกันประเทศและการรักษาความสงบจึงสูงประมาณ 51% ของงบประมาณประจำปีทั้งหมด
ใช้ในการคมนาคม 15% ใช้ในการเกษตร ศึกษาและยุติธรรมค่อนข้างจะน้อย ใช้ราชสำนักซึ่งเป็นส่วนพระองค์นั้นประมาณ 17% นักเศรษฐ ศาสตร์วิเคราะห์ไว้ว่า การให้ความสนใจการป้องกันประเทศและความสงบภายใน เพราะเกรงการคุกคามจากเจ้าอาณานิคม คือฝรั่งเศสและอังกฤษ
ภายในประเทศเองก็มีการกบฏครั้งใหญ่ 3 ครั้ง ที่อีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งความชุลมุนวุ่นวายของกุลีจีนในที่ต่างๆ เป็นระยะๆ จนกระทั่งต้องตั้งตำรวจหลวง
รายได้ต่อปีของคนบางอาชีพสมัยรัชกาลที่ 5
พระยาสุริยานุวัตร นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งรับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 และเสฐียรโกเศศ (ข้าราชการกรมศุลฯ) ได้พูดถึงรายได้ต่อปีในสมัยนั้นว่า
การรับจ้างทำนามีรายได้น้อยที่สุด คือประมาณ 70 บาทต่อปี หรือ 5-6 บาท/เดือน
ถ้าเป็นเจ้าของนารายได้ต่อปีเพิ่มเป็นประมาณ 90 บาท หรือ 7-8 บาท/เดือน
ถ้าเป็นทหารกองหน้า ได้รับเงินเดือน เดือนละ 10 บาท 1 ปี 120 บาท โดยมีอาหารกิน 2 มื้อ ชุดทหารอีก 1 ชุด
ถ้าเป็นข้าราชการกรมศุลกากรจะได้ปีละ 600 บาท เงินเดือนเต็มอัตราได้เดือนละ 75 บาท หรือปีละ 900 บาท หากคิดเป็นร้อยละ ชาวนาได้ 100 เจ้าของนาได้ 142 ข้าราชการกรมศุลกากรได้ 8 เท่าครึ่ง ความแตกต่างของรายได้ระหว่างชาวนากับกรมศุลกากรประมาณ 12-13 เท่า
ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมกันที่ค่อนข้างจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะไม่ได้เอารายได้เจ้าภาษีนายอากรมาเทียบ คนกลุ่มนี้มีรายได้มากกว่า 900 บาท/ปี และคงมากกว่า 13 เท่าแน่นอน
ศ.ดร.ผาสุก เปรียบเทียบการค้าข้าวไทยกับต่างประเทศ โดยอ้างงานของ อ.สมภพ มานะรังสรรค์ มาเสนอว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 การส่งออกข้าวของไทยเป็นรองพม่า อินโดจีน เพราะทั้งสองประเทศนั้นมีการคมนาคมดีกว่า ทำให้การเคลื่อนย้ายคล่องตัว ค่าขนส่งไม่สูง ต้นทุนต่ำ ในสมัยนั้นไทยสร้างทางรถไฟได้ 700 กว่าไมล์ กลุ่มอินโดจีนมีการสร้างทางรถไฟ 2,300 ไมล์ มาเลเซียสร้างได้ 800 กว่าไมล์ ชวาสร้างได้ 1,700 ไมล์ เพราะเจ้าอาณานิคมรวยๆ
เทียบไทยกับญี่ปุ่น
เมื่อเปรียบเทียบยุคสมัยรัชกาลที่ 5 กับสมัย Meji ของญี่ปุ่นที่เปิดประเทศพร้อมๆ กัน จะเห็นว่า ประเทศไทยมีการค้าข้าวเป็นหลัก แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไปแล้ว
การเมืองไทยเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ญี่ปุ่นมีระบบพรรคการเมืองและรัฐสภา ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2432
หากใช้รูปพีระมิดเปรียบเทียบด้านสังคม ไทยมีพระบรมราชวงศ์อยู่ข้างบน ข้าราชการตรงกลาง ชาวนาอยู่ข้างล่าง โดยไม่มีชนชั้นกลางมากนักในสมัยนั้น
ขณะที่สังคมญี่ปุ่น ข้างบนคือจักรพรรดิ ไซบัตซึหรือธุรกิจขนาดใหญ่มิตซุยและมิตซูบิชิ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว มีนักธุรกิจและชนชั้นกลางอยู่ตรงกลาง เพราะเกษตรกรกับชนชั้นกลางไม่ต่างกันมาก
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่เศรษฐกิจไทยไม่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเท่าญี่ปุ่น เป็นเพราะว่าเมืองไทยมีขีดจำกัดเรื่องเศรษฐกิจภายในซึ่งแตกต่างจากญี่ปุ่น ไทยมีประชากรประมาณ 7 ล้านคน ญี่ปุ่นปลายรัชกาล Meji มีประชากร 35 ล้านคน ดังนั้น ปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยจำกัด เพราะประชากรน้อย ตลาดแคบ แรงงานน้อย เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่มีหลายอย่างมากกว่า
มีคำถามว่า ทำไมนักธุรกิจจีนไม่เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง ตอบว่า เพราะนักธุรกิจจีนอยู่ในช่วงขาลง คือหลายคนสะสมทุนจากการเป็นเจ้าภาษีนายอากร ตั้งโรงสีและค้าข้าว ประทังตัวอยู่ได้เพราะหลายคนเป็นเจ้าภาษีนายอากรเก็บภาษีร้อยชัก 10 แต่การปฏิรูปราชการเอาระบบภาษีมาอยู่ส่วนกลางทำเอากลุ่มนี้ขาดรายได้ อันนี้จึงเป็นช่วงขาลงของนักธุรกิจจีน แต่กลับเป็นโอกาสของ|บรมวงศานุวงศ์และขุนนาง ที่จะมีบทบาททางด้านนโยบายและระบบเศรษฐกิจ พร้อมทั้งปฏิเสธระบบรัฐสภา ดังนั้นในปี ร.ศ.113 (พ.ศ. 2437) จึงมีความพยายามทำรัฐประหารเกิดขึ้น
ช่วงก่อนหน้านั้น พระบรมวงศ์จำนวนหนึ่งและข้าราชการระดับสูงได้ทูลถวายความเห็นมายังรัชกาลที่ 5 ให้มีระบบรัฐสภา และปฏิรูปกฎหมาย เพราะเกรงเจ้าอาณานิคมจะมาสร้างวิกฤต ทำสงครามแล้วยึดประเทศไทยเป็นอาณานิคม ตามที่พระองค์มีพระราชปุจฉาไป แต่พระองค์ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่สมควร เพราะคนไทยการศึกษายังน้อย
ในขณะที่ Meji Restoration นั้น ซามูไรต้องการให้ประเทศเป็นอุตสาหกรรมแบบยุโรป และเห็นความจำเป็นที่จะจัดระบบรัฐสภา ผลที่ดีต่อนโยบายเศรษฐกิจของ Meji จึงแตกต่างกับไทยสิ้นเชิง ญี่ปุ่นปฏิรูปภาคเกษตร ปฏิรูปที่ดินมาตั้งแต่สมัยนั้น
การปฏิรูปที่ดินทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่อุตสาหกรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อเทียบขีดจำกัดเศรษฐกิจไทยกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นมีขีดจำกัดน้อย เพราะประชากรมากกว่าไทย
นี่คือความแตกต่างของ 2 ประเทศ แม้จะเปิดประเทศพร้อมกัน แต่การพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ไม่เท่ากัน เพราะไทยยังมีปัญหาเรื่องการถือครองที่ดิน แต่ญี่ปุ่นไม่มีเพราะปฏิรูปที่ดิน ไดเมียว ที่เป็นเจ้าที่ดิน ยินดีถือพันธบัตรกินดอกเบี้ยที่รัฐจ่ายให้ ส่วนรัฐนำที่ดิน ไปกระจายให้ชาวนา และมีปฏิรูปที่ดินอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นจึงมีวันนี้