posttoday

ดิลี เมืองหลวงใหม่ แต่หัวใจคงเดิม

16 เมษายน 2554

ประเทศติมอร์เลสเต หรือที่คนไทยรู้จักมักคุ้นกันในชื่อติมอร์ตะวันออก

ประเทศติมอร์เลสเต หรือที่คนไทยรู้จักมักคุ้นกันในชื่อติมอร์ตะวันออก

โดย..ปวีณา สิงห์บูรณา 

ประเทศใหม่ เพื่อนใหม่ ปลายทางใหม่ของโลก 360 องศา ประเทศนี้เป็นประเทศน้องใหม่ลำดับที่ 192 ของโลก ที่ในปัจจุบันนี้กำลังเป็นที่สนใจอยู่ว่าจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียนลำดับที่ 11 ได้หรือไม่ ในวันนี้เรามาทำความรู้จักกับประเทศนี้ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง โดยเริ่มต้นกันที่เมืองหลวงของประเทศนี้ที่มีชื่อว่ากรุงดิลี

ดิลี เมืองหลวงใหม่ แต่หัวใจคงเดิม

ก่อนอื่นต้องขอเล่าถึงการเดินทางมายังประเทศนี้ก่อนว่าสามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้หลายเส้นทาง แต่ที่เราจะแนะนำต่อไปนี้คือเส้นทางที่สะดวกสบายที่สุด คือเส้นทางกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ เพื่อไปเปลี่ยนเครื่องระหว่างทาง จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่สนามบิน Nicolao Lobato สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์เลสเต โดยในครั้งนี้เราใช้บริการสายการบิน Air Timor ซึ่งมีเที่ยวบิน 3 เที่ยวต่อสัปดาห์

สัมผัสแรกสุดเมื่อมาถึงกรุงดิลี เมืองหลวงของประเทศติมอร์ตะวันออก นั่นก็คืออากาศที่ร้อนอบอ้าวและขมุกขมัวคล้ายกับว่าจะมีฝน ซึ่งก็เป็นปกติของประเทศนี้ ที่มีเพียงฤดูร้อนและฤดูฝนเท่านั้น แต่บางส่วนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคตะวันออกจะมีอากาศที่ค่อนข้างร้อนและแห้งแล้ง อันเนื่องมาจากได้รับอิทธิพลลมร้อนทะเลทรายจากทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย จึงทำให้ที่นี่มีพืชพรรณและอากาศในแบบสะวันนา

ย้อนกลับมาที่กรุงดิลีอีกครั้ง ที่ในปัจจุบันนี้จะว่าไปแล้วก็คงไม่แตกต่างจากการเป็นเมืองหลวงเช่นเดียวกับเมืองหลวงโดยทั่วๆ ไป นั่นคือการเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและราชการ แต่จากการที่เราได้นั่งรถตระเวนสำรวจบรรยากาศโดยรอบ เราก็พบว่าถึงแม้ดิลีจะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมทะเลที่ไม่ได้มีชายหาดที่สวยงามสักเท่าไร แต่แค่เพียงขับรถเลียบชายหาดออกไปเพียงแค่ 45 กิโลเมตร ก็จะพบกับคุ้งอ่าวที่ทอดตัวยาว มีชายหาดที่ขาวสะอาด และน้ำทะเลที่ใส ซึ่งอาจเป็นเพราะยังไม่ถูกรบกวนจากนักท่องเที่ยวมากนัก ประกอบกับกรุงดิลีไม่ได้เป็นเมืองที่ใหญ่โตอะไรมากนัก เพราะมีประชากรรวมกันแล้วเพียงแค่ 1.5 แสนคนเท่านั้น

ผู้คนชาวติมอร์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกถึงกว่า 90% ถึงแม้ว่าครั้งหนึ่งจะเคยถูกอินโดนีเซียปกครองกว่า 27 ปี แต่ศาสนาอิสลามก็ไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลมากนัก แต่หากเมื่อย้อนกลับไปในสมัยที่โปรตุเกสปกครอง ซึ่งกินระยะเวลายาวนานกว่า 400 ปี ส่งผลให้คริสต์ศาสนาฝั่งรากลึกจนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นติมอร์ตะวันออก ดังนั้นเราจึงสามารถพบเห็นโบสถ์คริสต์อยู่มากมาย แต่มีอยู่โบสถ์หนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ถึงแม้ว่าจะมีอายุเพียง 56 ปี แต่ก็เป็นจุดกำเนิดที่ทำให้เกิดการเรียกร้องเอกราชของชาวติมอร์ นั่นก็คือที่โบสถ์ Motael

ดิลี เมืองหลวงใหม่ แต่หัวใจคงเดิม

จากจุดเริ่มต้นของการมาร่วมกันประกอบพิธีมิสซา ที่แปรเปลี่ยนมาเป็นขบวนฝูงชนที่เคลื่อนตัวไปยังสุสานซานตาครูซ เพื่อร่วมกันเรียกร้องเอกราชที่แสวงหามาอย่างยาวนาน จนท้ายที่สุดกองทัพอินโดนีเซียตัดสินใจสลายการชุมนุมในครั้งนี้ด้วยคมกระสุน ที่ต่อมาได้กลายมาเป็นสงครามครั้งประวัติศาสต์ที่ชาวติมอร์ต้องจดจำกันไปอีกนาน

และในช่วงของการเกิดสงครามนี่เองที่ทำให้เกิดการล้มตายนับหมื่นและอพยพลี้ภัยอีกนับแสน ส่งผลให้ในระยะแรกหลังจากการได้รับเอกราช การค้าการขายที่นี่ซบเซาเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์และความหวาดระแวงของผู้คนที่ยังมีอยู่ แต่ถ้าหากพูดถึงในปัจจุบันนี้ สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ จากการที่เราลงสำรวจพื้นที่ในตลาดโคโมโร (Comoro Market) ตลาดสดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงดิลี เราเห็นบรรยากาศของการจับจ่าย เห็นผักเขียวๆ ผลไม้สดๆ ได้ยินเสียงร้องเรียกของพ่อค้าแม่ขาย บรรยากาศเช่นนี้อาจจะดูเป็นปกติสำหรับบ้านเราหรือประเทศอื่นๆ แต่สำหรับที่นี่ประเทศนี้ คือสิ่งที่บ่งบอกว่าวิถีชีวิตที่เคยมีอยู่และหายไปได้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศติมอร์ตะวันออกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีตัวเลขที่สูงถึง 2 หลักและติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก นั่นอาจเป็นผลมาจากธุรกิจพลังงานอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นทางรัฐบาลจึงมองหานโยบายที่สามารถสร้างการกระจายรายได้ หนึ่งในนั้นก็คือการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากต้นทุนทางธรรมชาติที่สวยงามที่มีอยู่มากมาย และวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลมีแผนที่จะหยิบยกขึ้นมาเพื่อโปรโมต ดังนั้นจึงเป็นที่น่าติดตามว่าในอนาคตอันใกล้นี้นโยบายดังกล่าวจะสามารถตอบสนองทางเศรษฐกิจได้มากน้อยขนาดไหน จึงเป็นที่มาของการไปสำรวจตลาดสินค้าที่ระลึกที่มีชื่อว่า Tais Market

Tais ก็คือผ้าทอมือพื้นเมือง มีลักษณะคล้ายกับผ้าพันคอ โดยผ้านี้จะนิยมนำไปคล้องคอให้กับแขกผู้มาเยือนเพื่อแสดงถึงการต้อนรับ และตลาดแห่งนี้ก็มีให้เลือกซื้อหาหลากสีหลายแบบ นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องทองเหลืองและไม้แกะสลัก ซึ่งล้วนแล้วก็เป็นงานฝีมือที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใครไปใครมาก็ต้องซื้อหากลับไปเป็นของฝากของที่ระลึก เพราะแหล่งที่จำหน่ายสินค้าที่ระลึกก็เห็นจะมีเพียงแค่ที่ Tais Market ที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น

ในอดีตที่ผ่านมา รายการโลก 360 องศาเคยได้มีโอกาสไปเยือนเมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งที่นั่นมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ Cristo Redentor รูปปั้นพระเยซูขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของประเทศบราซิล แต่วันนี้เราอยู่ที่ประเทศติมอร์ตะวันออก ซึ่งที่นี่ก็มีรูปปั้นพระเยซูขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน นั่นก็คือที่ Cristo Rei

Cristo Rei คือรูปปั้นพระเยซูขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนยอดเขาและในปัจจุบันได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของประเทศติมอร์ตะวันออก ซึ่งการจะเดินขึ้นไปชม Cristo Rei ก็ต้องผ่านบันไดกว่า 500 ขั้น ดังนั้นน้ำดื่มจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราแนะนำว่าต้องมีติดตัวขึ้นไป เพราะสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวของที่นี่ อาจกลายมาเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการเดินทางขึ้นไปที่ Cristo Rei

Cristo Rei สร้างขึ้นโดยรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 20 ปี ของการผนวกรวมติมอร์ตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย จากความสูงของรูปปั้นที่สูงกว่า 27 เมตร ก็ทำให้ Cristo Rei สูงเป็นอันดับ 2 รองจาก Cristo Redentor ซึ่งเมื่อขึ้นมาถึงข้างบนนี่ สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ในมุมสูง 360 องศา สามารถมองเห็นกรุงดิลี มองเห็นท้องทะเลสีคราม มองเห็นธรรมชาติของขุนเขา และที่สำคัญเรามองเห็นถึงอนาคตอันสดใสของกรุงดิลีอีกด้วย