ยิ่งเสพยิ่งสำลัก เสี่ยงความจำถูกทำลาย
เตือนคนรุ่นใหม่แยกแยะเรื่องสำคัญไม่ออกเหตุเพราะเสพข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ๆ มากเกินไป
เตือนคนรุ่นใหม่แยกแยะเรื่องสำคัญไม่ออกเหตุเพราะเสพข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ๆ มากเกินไป
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐ ออกโรงเตือนว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังทำลายสภาพจิตใจของมนุษย์อย่างรุนแรงด้วยการยัดเยียดข้อมูลที่มากเกินไป
โดยเฉพาะการพัฒนาโทรศัพท์สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ผ่านโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ ส่งอีเมล หรือทวีตข้อความ
จากการศึกษาพบหลักฐานชัดแจ้งแดงแจ๋ว่า การเสพข้อมูลสมัยใหม่เหล่านี้มากเกินไป และทำในสิ่งต่างๆ พร้อมๆ กันนั้น กำลังทำให้ความสามารถของมนุษย์ในการแยกแยะลำดับความสำคัญได้ย่ำแย่ลงกว่าเดิม และจะทำลายระบบความจำระยะยาวของมนุษย์อีกด้วย
แต่สำหรับมนุษย์ที่มีอายุมากแล้ว ยิ่งการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน หรือเสพข้อมูลจากเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้มากเกินไป ก็จะเป็นการทำลายความจำระยะสั้นอีกด้วย
จากการทดสอบพบว่า คนประเภททำอะไรหลายๆ อย่างนั้น คนพวกนี้สามารถกระโดดจากงานหนึ่งไปงานหนึ่งได้ทันที ทั้งๆ ที่งานที่กระโดดไปหานั้นไม่ได้มีสาระอะไรเท่าไหร่นัก
ผลการศึกษายังเตือนด้วยว่า คนประเภทนี้ยังเสี่ยงที่จะมีอาการเสพติดเทคโนโลยี คือไม่สามารถหยุดเช็กข้อความ หรือคอยอัพเดตข้อความส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา
จากสถิติที่บันทึกเอาไว้นั้นปรากฏว่าคนหนุ่มสาวในยุคนี้กำลังใช้เวลากับสื่อมือถือนานถึง 7 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน ส่วนบางคนใช้มากกว่าถึง 10 ชั่วโมง 45 นาที ในแต่ละวันทีเดียว ขณะที่ราว 5 ปีที่แล้วอัตราเฉลี่ยการใช้อยู่ที่ 6 ชั่วโมง 21 นาทีเท่านั้น
ด้วยเหตุฉะนี้ นักวิจัยได้เตือนให้บรรดาขาแชตผ่านมือถือให้เริ่มการอดการเสพเทคโนโลยีเหล่านี้บ้าง เพื่อป้องกันการสำลักข้อมูลที่มากเกินไป
ดร.เอเลียส อาบูจาอู ผู้อำนวยการคลินิกควบคุมความไม่ปกติของชีพจร ประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะวินิจฉัยผู้ที่มีอาการสำลักข้อมูลนี้ก็คือ ให้ดูผลกระทบที่เกิดขึ้นหากสัญญาณเชื่อมต่อออนไลน์ของคนคนนั้นถูกตัดขาดลง
“เรากำลังทุกข์ทรมานที่เราต้องรับรู้ (ข้อมูล) เพ่งความสนใจอยู่ตลอดเวลา เพราะเราออนไลน์ตลอดเวลาหรือไม่ หน้าที่การเงินของเราได้รับผลกระทบในด้านลบ เพราะว่าเราเล่นเน็ตที่ไม่มีสาระสำคัญในช่วงทำงานบ้างหรือไม่”
เป็นคำถามที่น่าฉุกคิด เพราะหลายคนเล่นกันแบบไม่ลืมหูลืมตากันจริงๆ