เรยา แร้งงงส์
เรยา แห่ง ดอกทองสีส้ม เอ๊ย! เรยาดอกทอง
เรยา แห่ง ดอกทองสีส้ม เอ๊ย! เรยาดอกทอง
เอ๊ย!! ดอกส้มสีทอง จะใคร่เรียกอะไรก็ตามแต่เถอะ เพราะตอนนี้ “เรยา” เธอกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าในสังคมไทยไปแล้ว ความแรงของเธอแทบจะกลบทุกข่าวยึดทุกพื้นที่ในวงแมงเมาท์ แม้กระทั่ง เสธ.ไก่อูพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ยังเปรียบโฆษกกระทรวงกลาโหมประเทศกัมพูชา พล.ท.ชุมสุชาติ ว่า “ดรามาเหมือนกับเรยา”
อุแม่เจ้า! ช่างเลือกตัวละครได้เหมาะเจาะ... (หรือเปล่านะ)
กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังขึ้นสถานะในเฟซบุ๊ก... “คืนนี้ใครไม่มีนัดกับเรยาสามารถนัดกับผมได้ เวลา 20.30 น. ในรายการ คุยนอกทำเนียบ ณ ช่อง NBT ครับ” แหมลงทุนเรียกคนดูที่ปันใจไปให้เรยาเสียขนาดนี้ไม่รู้ว่าจะกลับมาได้สักกี่สิบ
แม้กระทั่งช่วงเหตุการณ์ที่ดาวเทียมไทยคมมีปัญหาโทรทัศน์ดูไม่ได้ ปล่อยข่าวปฏิวัติว่อนเมือง แต่ผู้คนไม่ยักจะตื่นตระหนกเท่ากับสัญญาณโทรทัศน์จะกลับมาดีทันดูเรยาหรือไม่ ในโลกออนไลน์ เรยาก็กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เป็นหัวข้อที่ผู้คนพูดถึงมากสุด
เรยา เธอคือใคร...
หลายคนไม่รู้จักเรยา แต่ก็ต้านทานกระแสไม่ได้ แม้จะไม่เคยได้สัมผัส เอ๊ย! ไม่ได้ดูเรยา ก็ (ต้อง) รู้จักเธอจนได้
เรยา เธอคือหญิงสาวผู้มีปมในใจเป็นแรงผลักขับเคลื่อนไปสู่การกระทำที่ผิดศีลธรรมอันดีงาม ความจนทำให้เธอทะเยอทะยาน การขาดความรักความอบอุ่นจากพ่อทำให้เธอเรียกหาจากผู้ชายไม่ว่าเขาจะมีลูกมีเมียหรือไม่ ความพร่องทำให้เธอเติม ขาดซึ่งสติรู้ผิดรู้ชอบ เธอยังวี้ดเก่ง ปรี๊ดแตกได้กับมนุษย์ทุกหน้าที่ไม่ถูกต้องชะตา ไม่เว้นแม้แต่จะปาอารมณ์ใส่มารดา
อย่างไรก็ตาม เรยาเป็นแค่ตัวละคร (ซึ่งอาจจะเหมือนจริงไปบ้าง) ในเรื่อง ดอกส้มสีทอง โดยมีนักแสดงเจ้าบทบาท “ชมพู่อารยา เอฮาร์เก็ต” ยอมสวมสิงวิญญาณเป็นเธอ เลิฟซีนแบบเผ็ดร้อนของเรยากับผู้ชายที่เกี่ยวพันในเรื่อง นับนิ้วตอนนี้ได้ 2 แต่ถ้ารอดูจนจบอาจจะมี 3 หรือ 4 ซึ่งเรียกได้ว่า พอเจอหน้าผู้ชายปุ๊บเรยาแทบจะพุ่งใส่ปั๊บ นัวเนียกันตล้อดตลอด
การเปิดตัวครั้งแรกของเรยา คือ วันที่ 30 มี.ค. ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ตอนนี้ละครก็เดินทางมาจวนจะสิ้นสุดแล้วในวันที่ 19 พ.ค. ทว่าเรยายังไม่สิ้นแรง ยิ่งแร้งงส์มากขึ้นเมื่อพฤติกรรมของเรยาเป็นตัวล่อเป้าตัวเบ้อเร่อ ที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมเล็งตาเป็นมันก่อนออกมายิงให้เป็นข่าวครึกโครม เร่งกระแสเรยาให้กระหึ่มคับเมืองตีคู่ไปกับข่าวรบกันบริเวณชายแดนไทยเขมร
รับไม่ได้...พฤติกรรมเรยา
กระแสเรยามีมาตั้งแต่ดอกส้มสีทองออกอากาศครั้งแรกและเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเสียงชมเสียงด่าในบทบาทพฤติกรรมของตัวละคร ซึ่งเป็นตัวเอกดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะมีพฤติกรรมมากรักผิดศีลธรรม ลากผู้ชายขึ้นเตียงๆๆๆ อยู่หลายซีน ซ้ำหนักกับการเห็นแม่เป็นที่รองรับอารมณ์ไม่ต่างกับถังขยะที่โยนอารมณ์บูดเน่าพร้อมกับผรุสวาท ไหนจะการไม่ละอายใจในการเรียกใช้แม่ราวกับคนรับใช้ ซึ่งพฤติกรรมอันนี้สุดทนในหัวอกของคนเป็นแม่และอีกหลายคน พฤติกรรมเหล่านี้ของเรยาเสมือนเป็นตัวล่อเป้า
ในที่สุดหน่วยงานของรัฐโดดลงมาร่วมกระแสด้วย ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม จึงได้ส่งสัญญาณให้ผู้จัดละครทราบว่า มีพ่อแม่ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปจำนวนมาก ร้องเรียนเข้ามาผ่านสายด่วน 1765 ว่า ละครมีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชน
“แม้จะส่งสัญญาณออกไปแล้วทางผู้จัดละครจะเชื่อว่าคนดูแยกแยะออกก็ไม่เป็นไร กระทรวงวัฒนธรรมทำตามหน้าที่ไม่สามารถไปบังคับผู้จัดละครได้ แต่ก็ยังเชื่อว่ายังมีผู้จัดละครอีกจำนวนมากที่จะช่วยกันดูแลสังคม ต้องไม่ลืมว่าตอนนี้สังคมเปราะบางมาก ถ้าผู้จัดละครขยับกันคนละครึ่งทางก็จะดี เพราะเด็กไม่มีภูมิคุ้มกัน เหมือนผู้ใหญ่ บางครั้งแยกแยะไม่ออก โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 18 ปี”
เรยาแค่เปลือก...ให้ดูที่แก่น
“หน่องอรุโณชา ภาณุพันธุ์” แห่งค่ายบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ผู้จัดละครมงกุฎดอกส้ม งานเข้าเอาตอนละครจวนเจียนอวสาน ได้ชี้แจงว่า “จริงๆ แล้วละครออกอากาศมีกระแสก็ถือว่าเป็นเรื่องของสังคมที่มีความสนใจ การที่ละครมันแรงมันต้องโดนใจ สะท้อนภาพในมุมหนึ่งที่ตรงมากๆ บทละครก็ยกออกมาได้ชัดเจน ในส่วนของฝ่ายที่ออกมาแสดงความเป็นห่วง ต้องเรียนว่าแก่นของเรื่องที่ถ่ายทอด เป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่เกิดปัญหาชีวิตหลายอย่างที่ต้องแก้ไข ครอบครัวที่มีเมียหลวงเมียน้อย เราอยากสะท้อนสังคมว่าการที่เกิดเรื่องราวแบบนี้ไม่มีใครมีความสุข”
เรยากระทำกับแม่เป็นภาพที่ทารุณจิตใจต่อคนดูมาก ผู้จัดละครได้ชี้แจงว่า ทุกอย่างมีเหตุมีผล “จากบทประพันธ์แม่ของเรยาเป็นแม่บ้าน แต่สิ่งที่เรยาได้เห็นคือความร่ำรวย มีฐานะของคนอื่น เธอจึงมีความทะเยอทะยาน ประเด็นของแม่เรยาอยากจะสะท้อนว่าการที่แม่ประคับประคองยกลูกไว้เป็นนางฟ้าไม่ต้องทำอะไรเลย การเลี้ยงลูกสำคัญ เลี้ยงแบบนี้ลูกก็เป็นแบบเรยา ก็เป็นมุมที่แรงแต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เราก็อยากสะท้อนภาพออกมาเท่านั้นเอง”
อรุโณชา ยืนยันว่า เรยาก็คือภาพจริง ที่ละครสะท้อนออกมาอีกแค่นั้นเอง “จริงๆ บทเมียหลวงเมียน้อย เรื่องในครอบครัวไม่ใช่ไม่มีมา ก็มีมาอยู่เป็นระยะๆ อย่างที่บอก สีสันมันเป็นเปลือกแต่แก่นมันมีมากกว่านั้น คำพูดของตัวละครอื่นๆ ก็มีสอนตลอด ไม่ต้องรอถึงตอนจบ แต่มีอยู่ตลอดทั้งเรื่อง”
ด้าน “ชมพู่อารยา เอฮาร์เก็ต” ผู้ตีบทบาทเรยาแตกกระจุย มีความเข้าใจในตัวละครตั้งแต่แรกที่รับเล่นแล้ว รู้ทั้งรู้ว่าแรงแต่มันก็เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงในสังคม เป็นบทเรียนชีวิตที่ดี คนที่ได้ดูตั้งแต่ต้นเรื่องจะรู้เลยว่านี่ไม่ใช่ละครที่ให้แค่ความสะใจในอารมณ์เท่านั้น
“ถ้าชมเป็นพ่อแม่ คงไม่สอนลูกว่าโลกนี้ขาวสะอาด เพราะนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ละครเรื่องนี้คือเรื่องเล่าของชีวิตที่หลากหลายมากๆ และเห็นบทสรุปของแต่ละคน แต่ละปัญหาได้เลยใน 2 เดือน ไม่ต้องลองผิดลองถูกเอง
ชมเห็นด้วยว่าเด็กๆ ควรจะได้รับการแนะนำเสริมด้วยเวลาดู เพราะวุฒิภาวะยังไม่มากพอ ถึงแม้ว่าทั้งบท คำพูด และสถานการณ์ต่างๆ ช่วยสอนด้วยแล้วก็ตาม แต่ถ้าผู้ปกครองเห็นว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมลูกไม่ควรดู ก็น่าจะหาทางคอนโทรลลูก ถ้ายังปล่อยให้ดูคนเดียวถือเป็นเรื่องของแต่ละครอบครัว”
ไม่ว่าละครไทยจะมีมากี่ยุคกี่สมัย “เรยา” แห่ง “ดอกส้มสีทอง” ก็ยังตอบโจทย์ที่ว่า “ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร”