posttoday

สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ทุ่งค่าย และเตยในประเทศไทย

17 มิถุนายน 2554

มีโอกาสไปแวะเยือนสวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ที่ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง

มีโอกาสไปแวะเยือนสวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ที่ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง

โดย ..ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม

มีโอกาสไปแวะเยือนสวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ที่ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่มีทำเลที่ตั้งงดงาม สมบูรณ์ด้วยป่าดิบชื้นหรือป่าฝน รวมทั้งมีป่าพรุ ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารที่สองฟากเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติมากกว่าสวนพฤกษศาสตร์แม่ริม จ.เชียงใหม่ เสียด้วยซ้ำ

สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ทุ่งค่าย และเตยในประเทศไทย

สวนแห่งนี้ได้ชื่อว่า Peninsular Botanical Garden (Thung Kkai) ซึ่งนับว่าเหมาะสมดีอยู่ แต่เดิมงานที่สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ก้าวหน้าไปเป็นอย่างดี เพราะชาวบ้านที่อยู่ในท้องที่เล่าให้พวกเราฟังว่า วรดล แจ่มจำรูญ เจ้าหน้าที่ของสวนพฤกษศาสตร์ที่แม่ริม ซึ่งมาประจำทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสวน มีความรู้ในเรื่องพฤกษศาสตร์และป่าไม้เป็นอย่างดี ทำให้ทุกคนเห็นผลงาน ซึ่งยังคงเหลืออยู่ให้พวกเราได้ชื่นชมกัน

แต่หลังจากวรดลได้รับการโยกย้ายไปประจำที่อื่น งานที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ภาคใต้ที่เห็นเป็นรูปธรรมก็เสื่อมลง และตกอยู่ในสภาพซึ่งพวกเราได้เห็นแต่ความร่วงโรย น่าเสียดายในศักยภาพของสวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ ซึ่งชวน หลีกภัย เคยสนับสนุนให้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2529 เป็นอย่างยิ่ง

งานชิ้นหนึ่งของวรดล อดีตหัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ เริ่มจัดไว้คือ การทำสวนรวบรวมพันธุ์เตย (Pandanus spp.) ชนิดต่างๆ ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนได้เห็นต้นเตยขนาดต่างๆ ซึ่งปลูกอยู่ด้านหน้าของสวน ทำให้เกิดความทึ่งในพืชสกุลนี้เป็นอย่างยิ่ง

เตย หรือ Screpines อยู่ในวงศ์ Pandaceae ก็เช่นเดียวกับปาล์ม ซึ่งอยู่ในวงศ์ Arecaceae เตยและปาล์มรวมทั้งอะรอยด์ต่างจัดอยู่ในซูเปอร์ออร์เดอร์ (Superorder Arecanae) ซึ่งมีลักษณะเด่นที่ปกติดอกขนาดเล็กแยกเพศ ดอกจะอยู่เบียดกันเป็นกระจุก ภายในช่อดอกซึ่งเรียกว่าปลี (Spadix) ซึ่งรวมกันมีจาน (Spathe) รองรับหรือห่อหุ้มอยู่ด้านล่าง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงใคร่ขอให้ทางสวนพฤกษศาสตร์ได้โปรดสารงานรวบรวมพันธุ์พืชในซูเปอร์ออร์เดอร์นี้ไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปาล์ม เตย และพืชในวงศ์ Areceae เช่น เขียวหมื่นปี หรืออโกลนีมา รวมทั้งอะรอยด์สกุลอื่นๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยไว้ที่นี่ ขอได้โปรดอย่าสับสน โดยปลูกลั่นทมลงไปในสวนเตย ทำให้มีความรู้สึกว่างานที่ดีอยู่แล้วของวรดลถูกทำลายลงอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เตยมีอะไรหลายอย่างซึ่งดูคล้ายปาล์ม ด้วยเหตุนี้จึงอาจปลูกให้กลมกลืนไปกับปาล์มก็ได้ เตยคล้ายปาล์มเพราะมันสร้างลำต้นและรากซึ่งไม่อาจสร้างความหนาขึ้นได้ แต่มันต่างจากปาล์ม เพราะลำต้นของเตยมักแตกกิ่งก้านสาขาออกเหนือระดับดิน รากใหม่ของมันมักเกิดเหนือระดับดิน เช่น ดันรากเหนือดินดังกล่าวมักเติบโตพุ่งลงดิน

ดังนั้น จึงเกิดระบบรากค้ำจุนรอบลำต้นเดิม รากของเตยจึงมีความหนามากกว่ารากของปาล์มส่วนใหญ่ การที่เตยมีรากค้ำจุนมากนี้ เนื่องจากลำต้นเตยมักจะเล็กกว่าและไม่แข็งแกร่งเท่าลำต้นปาล์ม นอกจากนี้เตยยังมีกิ่งก้านมาก จึงต้องการความแข็งแรงจะได้ไม่โค่นลงง่ายๆ หากลมแรง เตยนั้นต่างจากปาล์มที่ใบของมันจะยาวและแคบ โดยไม่มีใบย่อย กล่าวโดยรวมแล้วเตยมีขนาดเล็กกว่าปาล์ม แต่ในพรุก็มีเตยขนาดใหญ่คือ ลำต้นสูงกว่า 60 ฟุตก็มี และใบยาวถึง 20 ฟุต ดูโดยรวมแล้วสวยงามไม่แพ้ปาล์ม

เตยเมืองไทยปรากฏในป่าทุกภาคของประเทศไทย เตยทะเล (Pandanus Odoratissimus) มีดอกหอม ซึ่งรู้จักกันในนามของลำเจียก หรือปาหนัน หรือปาแนะในภาษายาวี เตยใหญ่ทางภาคใต้อีกชนิดคือ Pandanus Unicornutus ซึ่งทางภาคใต้ที่ปัตตานีเรียกกันว่า มะกูแวจาโบ๊ะ หรือเตยเหาะ ส่วนเตยที่เราใช้คั้นน้ำทำขนม ได้แก่ P.amaryllifolius