posttoday

ดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์เมื่อสูงวัย

06 กรกฎาคม 2554

คำแนะนำดีๆจากสูตินรีแพทย์ในการดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ สำหรับหญิงที่อายุเลยช่วง 30 ปลาย

คำแนะนำดีๆจากสูตินรีแพทย์ในการดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ สำหรับหญิงที่อายุเลยช่วง 30 ปลาย

เรื่อง...อณุศรา ทองอุไร

ผู้หญิงสมัยนี้แต่งงานกันช้าลงทุกวัน กว่าจะมีลูกอายุก็ปาเข้าไป 30 ปลายๆ กันแล้ว ดังนั้นการดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ต้องดูแลอย่างใส่ใจยิ่ง ร่างกายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาการแพ้ท้องจะมีมากใน 3 เดือนแรก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อตื่นนอนจะมีอาการมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน บางคนอาจมีอาการมาก รับประทานอาหารไม่ได้ หลังตื่นนอนตอนเช้า ควรดื่มน้ำผลไม้และรับประทานขนมปังกรอบทันที จะทำให้รู้สึกดีขึ้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุนจัด เพราะอาจทำให้คลื่นไส้มากขึ้น นอกจากนี้อาจอยากรับประทานอาหารแปลกๆ รสเปรี้ยว ซึ่งสามารถรับประทานได้

สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในช่วงที่อายุเยอะไว้ว่า จะมีอาการปวดหลัง พบได้บ่อยเกือบครึ่งหนึ่งของสตรีมีครรภ์ โดยมักปวดที่หลังส่วนล่าง ระหว่างก้นทั้งสองข้าง ร้าวลงไปที่ต้นขา มักเป็นช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ การยืนนานๆ ในท่าที่ไม่ถูกต้อง หรือยกของหนักเกินไป ทำให้ปวดหลังได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ ทำให้ข้อกระดูกและเอ็นต่างๆ คลายตัวหลวมมากขึ้น ความแข็งแรงของข้อลดลง จึงทำให้ปวดหลังได้ ควรพยายามนอนพื้นเรียบ ใช้หมอนหนุนหลังเวลานั่ง อย่าก้มหยิบของ ควรใช้วิธีนั่งหยิบแทน และควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย อาจให้สามีช่วยนวดหลังเบาๆ นอกจากจะคลายปวดแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ด้วย

ดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์เมื่อสูงวัย

อาหาร

1.คุณแม่จะรับประทานอาหารได้ดีขึ้น เมื่ออาการแพ้ท้องหายไป

2.ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผัก ผลไม้

3.ไม่ควรรับประทานอาหารพวก ข้าว แป้ง น้ำตาล ขนมหวาน ไขมันมากเกินไป

4.ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารดิบๆ สุกๆ ของหมักดอง ผงชูรส ชา กาแฟ เหล้า บุหรี่

การพักผ่อน

1.ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียง่าย ควรนอนหลับให้ได้ 8-10 ชั่วโมง และควรหาเวลานอนพักในตอนบ่ายอีกอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

2.ลดจำนวนการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ให้เหลือน้อยที่สุด

3.ควรงดดื่มน้ำหรืออาหารเหลว หรือรับประทานอาหารอิ่มจนเกินไปก่อนที่จะเข้านอน

4.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหมก่อนเข้านอน แต่ให้ทำอะไรที่เบาๆ และผ่อนคลายแทน และหากเป็นตะคริวที่ขาปลุกให้ตื่นนอนในตอนกลางคืน การกดเท้าแรงๆ ลงกับผนังห้องหรือลุกขึ้นยืนอาจช่วยได้

5.ถ้ายังนอนไม่หลับ ให้ลุกขึ้นมาหาอะไรทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ หรือหากิจกรรมอื่นๆ ที่เพลิดเพลินทำแทน แล้วในที่สุดก็จะเหนื่อยและนอนหลับได้เอง

การดูแลปากและฟัน

หญิงตั้งครรภ์มักมีปัญหาฟันผุและเหงือกอักเสบได้ง่าย ในบางท่านอาจรู้สึกคลื่นไส้และอาเจียน ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา และอาจกัดกร่อนฟันได้ ควรแปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้ง และบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด หรือแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร ในระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลให้เหงือกอาจจะอักเสบหรือบวมได้ และอาจรู้สึกขยับปากลำบาก จึงอาจละเลยเรื่องการรักษาสุขอนามัยภายในช่องปาก จึงส่งผลให้มีคราบสะสมภายในช่องปาก และมีโอกาสเกิดฟันผุได้มากขึ้น

บางครั้งอาจเกิดโรคเหงือกอักเสบในระหว่างตั้งครรภ์ หลอดเลือดฝอยในบริเวณเหงือกมีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดเลือดคลั่งในเหงือก และเหงือกมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง หรือที่รุนแรงกว่านั้น คือทำให้เกิดเนื้องอกที่เหงือก แต่เนื้องอกหรืออาการเลือดออกจะค่อยๆ หายไปเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายของการตั้งครรภ์

น้ำหนักตัวในระหว่างตั้งครรภ์

1.โดยทั่วไปแพทย์มักจะแนะนำหญิงตั้งครรภ์ว่าควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10 กิโลกรัม ตลอดการตั้งครรภ์ แต่ถ้ามีน้ำหนักตัวเพิ่มไม่ถึงเกณฑ์กำหนด มักจะพบว่าทารกที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ ตัวเล็กผิดปกติ ขณะเดียวกันหญิงตั้งครรภ์ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก และทำให้เกิดปัญหาต่อการตั้งครรภ์หลายประการ เช่น ทารกตัวโตคลอดลำบาก หญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำให้เหนื่อยง่าย ปวดหลังมากขึ้น เส้นเลือดขอดมากขึ้น และทำให้แผลผ่าตัดติดช้า เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้ง่าย

2.บางครั้งหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากๆ มิได้หมายความว่าทารกในครรภ์จะตัวโตเสมอไป อาจจะได้ทารกน้ำหนักน้อยก็มี ทั้งนี้เนื่องจากภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม โดยเน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ การเพิ่มน้ำหนัก 10 กิโลกรัมต่อการตั้งครรภ์ เป็นน้ำหนักโดยเฉลี่ยที่ต้องพิจารณาตามรูปร่างและขนาดตัวของหญิงตั้งครรภ์

3.หญิงตั้งครรภ์ที่ควรจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากเป็นกรณีพิเศษ คือ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานในขณะก่อนตั้งครรภ์ โดยในระยะไตรมาสแรกควรจะพยายามปรับให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเท่ามาตรฐาน แล้วใช้เวลาในระยะ 6 เดือนต่อมาเพิ่มน้ำหนักให้ได้เท่าที่ต้องการตลอดการตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานก่อนการตั้งครรภ์ ต้องระวังดูแลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เหมาะสม

4.ระยะเวลาตลอดการตั้งครรภ์ไม่ใช่เวลาที่จะควบคุมน้ำหนักด้วยการงดอาหารอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะทารกจะได้พลังงานจากการเผาผลาญไขมันของหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น แต่จะไม่ได้สารอาหารใดๆ ทั้งสิ้น หญิงตั้งครรภ์แฝดสองหรือแฝดสาม มิได้หมายความว่าจะต้องมีน้ำหนักเพิ่มเป็น 2 หรือ 3 เท่า ตามจำนวนทารกในครรภ์ แต่อาจจะเพิ่มน้ำหนักโดยเฉลี่ย 5 กิโลกรัมต่อทารก 1 คน โดยรับประทานอาหารภายใต้การดูแลของแพทย์

นอกจากนี้ ก็ระวังโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ทาลัสซีเมีย ความดันสูง การคลอดก่อนกำหนด ซึ่งใกล้ชิดกับแพทย์ก็ไม่น่ากังวลนัก