สมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานกล้าไม้มงคล ในกิจกรรม "ต้นกล้าจิตอาสา รวมพลังศรัทธา ปลูกป่าทั่วแผ่นดิน"
"ต้นกล้าจิตอาสา รวมพลังศรัทธา ปลูกป่าทั่วแผ่นดิน"
ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ซึ่งอำนวยประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นแหล่งวัตถุดิบของ ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคสำหรับมนุษย์ ทั้งยังมีประโยชน์ในการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมทั้งระบบนิเวศ แต่ปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยเหลืออยู่ราว 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.58% ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น และยังต้องเผชิญปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า การแผ้วถางเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและปลูกพืชเชิงเดี่ยว การลดลงของทรัพยากรป่าไม้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติ ได้แก่ ความแห้งแล้ง วาตภัย และอุทกภัย และส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศชาติ และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก
การแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลุกจิตสำนึกและสร้างศรัทธาในใจคนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูทรัพยาการป่าไม้ของประเทศอย่างจริงจังและยั่งยืน ปตท. จึงร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ศปทส.ตร.) ริเริ่มจัดกิจกรรม "ต้นกล้าจิตอาสา รวมพลังศรัทธา ปลูกป่าทั่วแผ่นดิน" โดยได้รับ พระเมตตาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งประเทศ เป็นองค์ประธานในพิธีประทานกล้าไม้มงคล เพื่อนำไปปลูกในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เป็นสัญลักษณ์ใน การรวมพลังศรัทธาของคนไทย ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ และยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในมงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา ในปีนี้อีกด้วย
กิจกรรม "ต้นกล้าจิตอาสา รวมพลังศรัทธา ปลูกป่าทั่วแผ่นดิน" ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ บริเวณตำหนักสมเด็จพระสังฆราช พุทธมณฑล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ได้แสดงให้เห็นถึงพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมารวมตัวกันเพื่อทำความดี โดยสมเด็จพระสังฆราชฯ ได้ประทานกล้าไม้มงคล 6 ชนิด ได้แก่ ต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นราชพฤกษ์ ต้นประดู่ป่า ต้นรวงผึ้ง และต้นพะยูง แก่ ผู้บริหารกลุ่ม ปตท. เครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของ ปตท. ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร ภาค 1 – 9 ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำรวจตระเวนชายแดน ชุมชน เยาวชน ศิลปิน และสื่อมวลชน เพื่อนำไปต้นไม้มงคลดังกล่าวไปปลูกไว้ในจังหวัดต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อเป็นการขยายผลในการปลูกป่าในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป
กิจกรรมครั้งนี้ นำองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์การปลูกป่า ของ สถาบันปลูกป่า ปตท. (PTT Reforestation Institute) ตลอดระยะเวลา 20 ปี นับจากจุดเริ่มต้นของ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในปี 2537 มาขยายผลให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ปตท. ได้ดำเนินการปลูกป่าไปแล้วทั้งสิ้น 1,160,418 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 56 จังหวัด กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย
จากผลวิจัย ปี 2557 โดยศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าการดำเนินการ ปลูกป่าของ ปตท. มีผลสัมฤทธิ์ ดังนี้
• ปัจจุบันป่าอยู่รอด 80.90% คิดเป็น 819,078 ไร่
• ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 30.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ส่วนบุคคลได้ ปีละ 969,653 คัน
• ปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนสู่ชั้นบรรยากาศ 24.2 ล้านตันออกซิเจน หรือ สร้างลมหายใจให้กับมนุษย์ได้ ปีละ 4.9 ล้านคน
• ประชาชนในพื้นที่รอบแปลงปลูกป่า ได้ใช้ประโยชน์จากของป่า เป็นแหล่งอาหารในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม คิดเป็นมูลค่า ปีละ 266 ล้านบาท ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา
สถาบันปลูกป่า มีภารกิจหลักในการดำเนินงานปลูกป่า สร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและลดภาวะ โลกร้อน ผ่านกระบวนการสร้างและพัฒนาเครือข่าย สร้างสรรค์นวัตกรรมในด้านการปลูกและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ร่วมกับหน่วยงานภาคีทั้งภายในและภายนอก ปตท. โดยจะสร้างศูนย์เรียนรู้การจัดการป่า ปตท. และเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการปลูกและฟื้นฟูป่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ของ ปตท. เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Sink) จากการดำเนินการปลูกป่าของ ปตท. ทั้งหมดให้ได้ 2.1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ภายในปี พ.ศ.2565 และดูแลรักษาแปลงปลูกป่า ปตท. ที่ดำเนินการปลูกไปแล้ว ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ รวมทั้งเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ผ่านองค์ความรู้และประสบการณ์การปลูกป่ากว่า 20 ปี อันจะส่งผลดีต่อการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไปในอนาคต