ชุดไทยขาดตลาด รัฐลุยแผนบูมต่อ
กระแสชุดไทยฟีเวอร์ ดันยอดขายเพิ่ม 3-4 เท่าตัว ศ.ศ.ป.เร่งต่อยอดบูมงานแต่งชุดไทย
กระแสชุดไทยฟีเวอร์ ดันยอดขายเพิ่ม 3-4 เท่าตัว ศ.ศ.ป.เร่งต่อยอดบูมงานแต่งชุดไทย
นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการตัดเย็บเสื้อผ้ารายเล็กมีคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) สินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากได้รับอานิสงส์ที่หน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไปต้องการชุดไทยอย่างมาก จากกระแสงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว และกระแสละครบุพเพสันนิวาส
"ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ไม่รับตัดเย็บผ้าไทย ส่วนหนึ่งมาจากมีออร์เดอร์อยู่เต็มมือแล้ว และที่สำคัญการสั่งสินค้าจากโรงงานรายใหญ่ต้องมีจำนวนมากๆ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของร้านเล็กๆ ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก หากมีกระแสส่งเสริมการใช้ผ้าไทยอีกก็จะช่วยให้รายเล็กๆ มียอดขายดีขึ้นต่อเนื่อง" นายยุทธนา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ยอดขายในแหล่งชุดไทยที่มีชื่อเสียงเก่าแก่หลายแห่ง เช่น ย่านตลาดพาหุรัด บางวันเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว เนื่องจากประชาชนเลือกซื้อชุดไทย ชุดย้อนยุคกันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นที่จำหน่ายภายในร้านและวางขายริมถนน จนบางร้านไม่มีสินค้าเหลือให้ขายและที่สำคัญผลิตไม่ทันด้วย
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) หรือ SACICT กล่าวว่า ศ.ศ.ป. มีแผนที่จะส่งเสริมการใช้ผ้าไทย โดยรณรงค์ให้จัดงานแต่งงานในคอนเซ็ปต์ผ้าไทย ทั้งคู่บ่าวสาว รวมทั้งแขกผู้ร่วมงาน เพื่อเป็นการปลุกกระแสอนุรักษ์การแต่งตัวและการใช้เครื่องประดับแบบไทยให้แพร่หลายมากขึ้น
"กระแสจากการจัดงาน อุ่นไอรัก คลายความหนาว และละครบุพเพสันนิวาส ช่วยสร้างรายได้แก่ร้านตัดเย็บเสื้อผ้าไทยเป็นอย่างมาก จนหลายร้านผลิตสินค้าไม่ทันหรือวัตถุดิบหมด โดยเฉพาะร้าน ผ้าไหมที่ออกแบบดี มีความประณีต ขณะที่บางร้านแม้ว่าราคาชุดไทยจะอยู่ในระดับหลักแสนบาท แต่ลูกค้าก็ยังต้องรอบัตรคิวเพื่อซื้อผ้าไทย" นางอัมพวัน กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการส่งเสริมการใส่ผ้าไทยต่อเนื่อง ศ.ศ.ป.กังวลว่าเมื่อละครบุพเพสันนิวาสจบอาจทำให้กระแสการใส่ผ้าไทยหายไปด้วย ดังนั้นการจัดทำแผนในการผลักดันให้งานแต่งงานมีธีมการแต่งกายชุดผ้าไทย ถือเป็นวิธีที่จะช่วยรักษากระแสของการสวมใส่ผ้าไทยได้นานยาว เพราะงานแต่งงานของ คนไทยจะมีต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน
นางอัมพวัน กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.-1 เม.ย. 2561 ศ.ศ.ป.จะจัดงาน คราฟต์ บางกอก 2018 เป็นงานแสดงและจำหน่ายผลงานหัตถศิลป์จากฝีมือนักสร้างสรรค์ชั้นนำของเมืองไทยที่พัฒนาต่อยอดมาจากนวัตศิลป์นานาชาติที่จัดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.ของทุกปี ซึ่งประสบความสำเร็จมาต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออก งานหัตถศิลป์ไทยในเดือน ม.ค. 2561 มีมูลค่า 2.03 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 7.21% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา