posttoday

บางกอกแอร์ฯปรับทัพ จ่อประมูลดิวตี้ฟรี-ฮับภาคตะวันออก

06 มีนาคม 2562

บางกอกแอร์เวย์ส ชี้ ธุรกิจสายการบินแข่งดุ ผลตอบแทนการลงทุนเริ่มต่ำต้องกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องสร้างรายได้ เล็งประมูลดิวตี้ฟรีอู่ตะเภา -ฮับภาคตะวันออก

บางกอกแอร์เวย์ส ชี้ ธุรกิจสายการบินแข่งดุ ผลตอบแทนการลงทุนเริ่มต่ำต้องกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องสร้างรายได้  เล็งประมูลดิวตี้ฟรีอู่ตะเภา -ฮับภาคตะวันออก

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะราคาบัตรโดยสารที่ลดลงทำให้บริษัทต้องหันมาสร้างรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบินมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าว่าภายใน 4-5 ปี จะมีรายได้จากการบริการบนเครื่องบิน 50% อีก 50% เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อย่างเช่น บริการด้านแคเทอริ่ง ผ่านบริษัท ครัวการบินกรุงเทพ บริการทางด้านคาร์โก้ การจัดตั้งบริษัทใหม่ดำเนินธุรกิจฝึกอบรมด้านการบิน รวมไปถึงการเข้าประมูลธุรกิจดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น จากปัจจุบันการให้บริการบนเครื่องบินยังคิดเป็นรายได้หลักคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70%

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเข้าร่วมประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท  ท่าอากาศยานไทย ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจาร่วมกับพันธมิตร 2 ราย ที่มาจากประเทศเอเชียและยุโรป ก่อนจะเลือกเพียงรายเดียวไปร่วมประมูล ปัจจุบันต้องรอทีโออาร์การประมูลออกมาก่อน เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเปิดประมูลพื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมกับพื้นที่ในท่าอากาศยานภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงใหม่ พร้อมกันทีเดียวหรือไม่ ขณะที่การประมูลโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่าโครงการกว่า 2 แสนล้านบาทนั้น บริษัทมีความพร้อมยื่นประมูลในวันที่ 21 มี.ค.นี้ โดยได้จับมือพันธมิตร 5-6 ราย ในลักษณะ Corsortium โดยบริษัทจะเป็นผู้นำถือสัดส่วน 30-35% โดยเบื้องต้นคาดใช้เงินลงทุนช่วง 10 ปีแรก จำนวน 1 แสนล้านบาท บริษัทประเมินว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปี 2562 บริษัทได้ตั้งงบประมาณสำหรับลงทุนประมาณ 3,300 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.การลงทุนในโครงการด้านอากาศยาน จำนวน 1,815 ล้านบาท ที่จะมีการจัดซื้อเครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72-600 จำนวน 2 ลำ 2.โครงการขยายและพัฒนาสนามบินสุโขทัย จำนวน 958 ล้านบาท 3.โครงการขยายและพัฒนาสนามบินตราด จำนวน 334 ล้านบาท และ 4.การลงทุนในโครงการพัฒนาระบบงานด้านไอที จำนวน 193 ล้านบาท

ขณะที่เป้าหมายรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารจะเติบโต 3.5% จากรายได้ ผู้โดยสารของปี 2561 ที่มี 2.05 หมื่นล้านบาท อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 70% และการเติบโตของจำนวน ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3% หรือประมาณ 6.16 ล้านคน จากตัวเลขปี 2561 ที่มีจำนวน ผู้โดยสาย 5.95 ล้านคน

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2561 บริษัทมีรายได้รวม 2.79 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีรายได้ 2.93 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิ 249.3 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่มีกำไร 787.91 ล้านบาท