เทคโนโลยีเกษตร 4.0 โรงเรือนอัจฉริยะ
สวทช นำผลงานวิจัยและการพัฒนา รวมถึงเทคโนโลยีนำมาเสนอต่อเกษตรกร เพื่อร่วมยกระดับเกษตรและผลักดันเกษตรกรไทย ให้ก้าวสู่เกษตร 4.0 หรือสมาร์ทฟาร์ม
โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำผลงานวิจัยและการพัฒนา รวมถึงเทคโนโลยีนำมาเสนอต่อเกษตรกร เพื่อร่วมยกระดับเกษตรและผลักดันเกษตรกรไทย ให้ก้าวสู่เกษตร 4.0 หรือสมาร์ทฟาร์ม ทั้งระบบเฮนดี้ เซนส์ (Hendy Sense) เทคโนโลยีเซ็นเซอร์กับการควบคุมระบบการให้น้ำเพื่อการเกษตร นวัตกรรมเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ หรือแอ็กทีฟแพ็ก (ActivePAK) ทำให้ผักและผลไม้สดยาวนานขึ้น
พร้อมกับการนำเสนอมาตรฐานไทยแกป (ThaiGAP) และไพรมารี ไทยแกป (Primary ThaiGAP) เพื่อผลักดันการผลิตผักและผลไม้ที่มีความปลอดภัยสู่ประเทศ โดยได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมานำเสนอในงานมหานครผลไม้ภาคตะวันออกประจำปี 2560 จัดที่ จ.จันทบุรี
“อัมพร โพธิ์ใย” นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สวทช. เปิดเผยว่า ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ได้พัฒนา “เฮนดี้ เซนส์” เทคโนโลยีเซ็นเซอร์กับการควบคุมระบบการให้น้ำเพื่อการเกษตร และมีการสร้างนวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ ควบคุมด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือไอโอที (IoT) และทำให้เกษตรกร สามารถทำงานผ่านสมาร์ทโฟนได้
ทั้งนี้ ทำให้เกษตรกรคนรุ่นใหม่สามารถดูแลจัดการฟาร์มผ่านสมาร์ทโฟนได้ ทำให้เกษตรกรทำงานในทุกสถานที่และทุกเวลา อีกทั้งมีกลุ่มเกษตรกรนำระบบไปใช้งานจริงมากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงมีคนเกษียณอายุสนใจสร้างโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะเช่นกัน
“นวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ” ที่มีหน่วยงานพันธมิตรร่วมผลิตจะมีความพิเศษทั้งระบบควบคุมการจัดการโรงเรือนอัตโนมัติเหมาะสมตามชนิดของพืช ด้วยระบบอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือไอโอที (IoT) และเชื่อมโยงการทำงานผ่านสมาร์ทโฟน รวมถึงปรับสภาพแวดล้อมโรงเรือนให้เหมาะสมกับชนิดของพืชที่ปลูก มีระบบการให้น้ำอัตโนมัติขึ้นกับค่าความชื้นในดิน ที่ช่วยจัดการน้ำ ปุ๋ย อุณหภูมิ ความชื้นในโรงเรือน ผ่านโปรแกรมในสมาร์ทโฟน
ขณะเดียวกัน ระบบนี้สามารถควบคุมบริหารจัดการการเพาะปลูกได้ทุกที่และทุกเวลา รวมถึงให้คำปรึกษาการออกแบบโรงเรือนให้เหมาะสมตามชนิดของพืชที่ปลูก ส่วนวัสดุของโรงเรือนจะได้มาตรฐานและคุณภาพดีเหมาะสมกับงานด้านการเกษตร อีกทั้งมีระบบการให้น้ำในโรงเรือนแบบครบวงจร ออกแบบให้เหมาะสมตามชนิดของพืชและพื้นที่การเพาะปลูก ส่งผลดีให้พืชไม่มีปัญหาขาดน้ำหรือปุ๋ย
ในเบื้องต้นผู้ที่สนใจลงทุน โรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ จะลงทุนไม่ถึง 1 แสนบาท ในขนาดพื้นที่ 6x20 เมตร และใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี สามารถคืนทุนจากการลงทุนได้ โดยมีเกษตรกรที่ปลูกทั้งเมลอนและมะเขือเทศ สามารถคืนทุนหลังจากลงทุนในเวลาดังกล่าวแล้ว
ขณะที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) โดยนักวิจัยได้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ “แอ็กทีฟแพ็ก” (ActivePAK) เป็นเหมือนถุงหายใจได้ ช่วยให้ผักและผลไม้อร่อยสดนานยิ่งขึ้น หรือนานสูงสุด 2-5 เท่า ซึ่งมีการนำนวัตกรรมแอ็กทีฟแพ็กไปใช้ในอุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิตเพื่อทำการผลิตฟิล์มบรรจุภัณฑ์พลาสติก และสู่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ใช้งานอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการผลิตผลสดและกลุ่มเกษตรกร
เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่หน่วยงานภาครัฐ พร้อมผลักดันเกษตรกรไทย ปรับและหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ทั้งผลผลิตทางการเกษตร และช่วยขยายตลาดใหม่ รวมถึงการสร้างผลผลิตที่มีมาตรฐาน