เรื่องของคนที่ไม่เชื่อในศาสนาแต่เชื่อในจิตวิญญาณ
'ฉันเชื่อในพระเจ้า แต่ไม่นับถือศาสนา' - ‘I Believe in God, But Not Religion’ #SBNR เรื่องของคนที่ไม่เชื่อในศาสนาแต่เชื่อในจิตวิญญาณ
ปราชญ์ทิเบตระดับองค์ดาไล ลามะเคยตอบคำถามเรื่องจิตวิญญาณไว้อย่างลึกซึ้งว่า “หากเธอเชื่อ มันก็มีอยู่จริง” ส่วนปราชญ์ปรมาจารย์ปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ตะวันตกอย่างเรอเน เดการ์ตเคยลั่นอมตะวาทะไว้ว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่”
ทุกวันนี้เราเชื่ออะไร ไม่เชื่ออะไร แม้เราบอกว่า เราเชื่อในตัวเองที่สุด เชื่อในหลักเหตุผล หรือเชื่อในวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่จำนวนมากในผู้คนเหล่านั้นก็รับรู้ได้ว่ามีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองดำรงอยู่ ด้วยคำอธิบายว่านั่นคือ “สิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้” หรือ Supernatural บางคนบอกว่า ผีมีอยู่จริง บางคนบอกว่า ผีไม่มีจริง หลายคนหัวชนฝาว่า เราเกิดมาแค่ครั้งเดียว มีชีวิตเดียว ไม่มีโลกหน้า แต่ก็มีมากมายที่เชื่อว่า ชาติหน้า ชาติก่อนมีอยู่จริง มีการเวียนว่ายตายเกิด
เราลองไปสำรวจความเชื่อของคนยุคใหม่กัน ว่าเขาเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรและเป็นเพราะอะไร เพราะตอนนี้กลุ่มคนที่ระบุว่า ไม่นับถือศาสนาใด หรือ ไม่เชื่อ (ถือ) ในศาสนามีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นจำนวนเกือบ 1,200 ล้านคนไปแล้ว จนกลายเป็น “กลุ่มศาสนา” ขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก!
จากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาโดย The Pew Research Center’s Forum on Religion & Public Life ได้เปิดรายงานการสำรวจอัตราการนับถือศาสนาครั้งล่าสุด พบว่า
- ศาสนาคริสต์ยังเป็นศาสนาอันดับหนึ่งที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลกที่ 2,100 ล้านคน
- ตามมาด้วยศาสนาอิสลาม 1,500 ล้านคน
- และอันดับ 3 คือกลุ่ม SBNR ที่ย่อมาจาก Spiritual But Not Religious อาจแปลได้ว่า “มีธรรมแต่ไม่มีศาสนา” มีจำนวนถึงกว่า 1,100 ล้านคน
- อันดับ 4 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 900 ล้านคน
- ศาสนาพุทธนิกายมหายาน 400 ล้านคน
- ศาสนาพุทธนิกายหินยาน 375 ล้านคน และศาสนาซิกข์ 23 ล้านคน
และทั่วทั้งโลกมีคนนับถือผีในชนเผ่าต่างๆ กว่า 300 ล้านคน หรืออาจมากกว่านั้น!
จากการสำรวจศาสนาครั้งล่าสุดในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนอเมริกัน 1 ใน 4 ถึง 1 ใน 3 อธิบายว่า ตนเองเชื่อใน “ธรรม หรือจิตวิญญาณ (Spiritual) แต่ไม่นับถือศาสนา” ไม่ใช่ไม่เชื่อในอะไรเลย แต่กลายเป็นว่า ความเชื่อของพวกเขามีหลากหลายตั้งแต่ “ฉันเชื่อในพลังที่สูงกว่า (higher power) ที่ฉันสื่อสารและสวดภาวนาถึง” ไปจนถึง “ฉันคิดว่าฉันเชื่อในพระเจ้า แต่ทำไมฉันต้องไปโบสถ์ด้วย” บางคนถึงกับชื่นชมและปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูเป็นการเฉพาะตน แต่ไม่ได้อ้างสิทธิ์การเป็นสมาชิกในชุมชน เป็นคริสตศาสนิกชน หรือว่าเชื่อถือในประเพณี พิธีกรรม หรือความเชื่อใดๆ และเมื่อเราพูดถึงความกังขาของพวกเขาเกี่ยวกับศาสนาตามระบบ พวกเขามักจะแสดงความรู้สึกทำนองว่า
“ศาสนาดูเหมือนมีกฎเกณฑ์มากมาย”
“ผู้คนคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกเพราะมีศาสนา แต่กลับหน้าซื่อใจคด”
“ฉันไม่ชอบสิ่งที่คริสตจักรสอนเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง เงิน หรือประเด็นทางศีลธรรม”
“ฉันจะเลือกเพียงหนึ่งศาสนาได้อย่างไร? มันมีเยอะมาก ว่าแต่อันไหนล่ะที่ใช่? และถ้าให้ฉันเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง จะให้ฉันบอกว่า ฉันคิดว่าศาสนาอื่นผิด หรือว่ามันจะตกนรก?”
และถึงแม้ว่าจะมีความคิดเหล่านี้ครอบงำหรือวนเวียนอยู่ในใจ พวกเราหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต่างรู้สึกอยู่ข้างในใจว่า มีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าและน่าตกใจว่า หลายครั้งที่สื่อต่างๆ ได้พูดคุยกับวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวจำนวนมากกลับพบว่า พวกเขาพยายามอย่างหนักที่จะคืนดีกับ ความเชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้าของตัวเอง ด้วยการควานหา/สำรวจ “ข้อบกพร่องของศาสนาและมนุษย์” ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นพวกเขาในเจนนี้
เติมเชื้อไฟ
จริงหรือไม่ที่ว่า คนที่มีชีวิตอยู่อย่างมีจิตวิญญาณมากที่สุดคือคนที่ไม่เคยหยุดค้นหา หากคุณมีคำถาม ก็จงถาม ถ้าคุณต้องการคำตอบ ก็ต้องควานหา อ่าน ศึกษา สนทนา หรือแม้แต่การสวดมนต์ ภาวนา ไหว้พระ คุณไม่ใช่คนแรกหรือคนสุดท้ายที่เดินทางสายนี้ และจากประสบการณ์อันมากล้นของมนุษย์ส่วนใหญ่ก็มักบอกเราว่า มีคำตอบที่แท้จริงให้ค้นหานั้น คำสอนส่วนใหญ่สอนว่า พระเจ้าเป็นอนันต์ ลี้ลับ ไร้ขอบเขต ไม่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ แต่เรายังสามารถเรียนรู้ (learn) และรู้ (know) สิ่งต่างๆ ได้มากมาย แม้แต่คณิตศาสตร์และตัวเลขก็เป็นอนันต์ และยอมรับเถอะว่า เราจะไม่มีวันรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับมัน แต่เรายังสามารถเรียนรู้พีชคณิตและแคลคูลัสได้ พระเจ้าก็เช่นเดียวกัน เราสามารถกทำความรู้จักพระองค์ได้ แม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นปริศนา
ดังที่หนังสือดีกล่าวไว้ว่า "จงแสวงหาแล้วจะพบ" นี่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า เพราะไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาหรือไม่ก็ตาม การค้นคว้าหาคำตอบอยู่เสมอจะช่วยให้ผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณพบคำตอบและยังกันตัวเองออกจากศาสนพิธีกรรมที่ล้าสมัยได้อีก
จิตวิญญาณและศาสนา - Spiritual AND religious
ผู้ให้คำปรึกษาทางจิตวิญญาณที่ชาญฉลาดเคยบอกว่า ศาสนาที่ปราศจากจิตวิญญาณนั้นตายไปแล้ว - religion without spirituality is dead และจิตวิญญาณที่ปราศจากศาสนานั้นก็ล้วนสูญสิ้น - and that spirituality without religion is lost หากปราศจากจิตวิญญาณส่วนตัวที่มีชีวิตชีวา ศาสนาก็กลายเป็นเพียงประเพณี และการเชื่อฟังอย่างหลับหูหลับตาตามพิธีกรรมงมงาย ศาสนาก็จะกลายเป็นสิ่งที่พระเยซูเรียกว่า "สุสานปูนขาว" หรือ “whitewashed tombs” ภายนอกแสนสวยแต่ภายในเน่าเปื่อยพุพัง แต่หากปราศจากชุมชนทางศาสนาที่เข้มแข็ง จิตวิญญาณก็จะกลายเป็นเพียงแค่เรื่องของ “ตัวฉันเอง” ทั้งหมด จริงหรือไม่? และเมื่อความคิด ความปรารถนา ความตั้งใจ และจิตวิญญาณของฉัน ทำให้ฉันได้หล่อหลอมพระเจ้าขึ้นมาตามแบบของฉันล่ะ?
อะไรคือความแตกต่างระหว่างลัทธิอเทวนิยม (Atheism) กับอไญยนิยม (Agnosticism) และ SBNR (Spiritual But Not Religious) ?
จากการศึกษาพบว่าทั้งผู้ไม่เชื่อในพระเจ้าและผู้ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้ามีความรู้เกี่ยวกับศาสนาที่หลากหลายอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งทำให้เกิดคำถามที่พบบ่อยๆ เช่น อะไรคือความแตกต่างระหว่างคนที่กำหนดตัวเองว่าเป็น "ผู้ไม่เชื่อในพระเจ้า" (Atheism) และ "ผู้ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า" แบบ Agnosticism หรือ อไญยนิยม และ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า SBNR - Spiritual But Not Religious หรือ “อศาสนิก” ที่เชื่อในเรื่อง “ธรรม” และ “จิตวิญญาณ” แต่ “ไม่นับถือศาสนา”
Atheism คำนี้มีต้นกำเนิดมาจากภาษากรีก atheos ซึ่งสร้างขึ้นจากราก a- (แปลว่า “ไม่มี”) และ theos (“a god”) ลัทธิอเทวนิยมคือหลักคำสอน หรือความเชื่อที่ว่าไม่มีพระเจ้า อย่างไรก็ตาม ผู้ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า ทั้งไม่เชื่อในหลักคำสอนทางศาสนาแบบ Agnosticism หรือ อไญยนิยม ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะรู้ว่าจักรวาลถูกสร้างขึ้นมาอย่างไรและมีสิ่งมีชีวิตศักดิ์สิทธิ์อยู่หรือไม่
พวก Atheist หรือเอทิสต์จะไม่เชื่อในพระเจ้าหรือสิ่งเหนือธรรมชาติเลย และหลายครั้งยังชอบไปวิพากษ์วิจารณ์คนที่นับถือศาสนิกอื่นๆ ด้วย แต่ SBNR เป็นอศาสนิกที่เคารพในศรัทธาของผู้อื่น แต่ตัวเองไม่เข้าไปยึดในศรัทธานั้นเป็นพิเศษ หรือแค่เป็นไปตามระบบเท่านั้น
ลัทธิอไญยนิยม คือ ทัศนะที่เชื่อว่ามนุษย์เราไม่อาจรู้หรือพิสูจน์ได้ว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ คำว่า “อไญย” หมายความว่า “โดยปราศจากความรู้” ทัศนะอไญยนิยม คือ ทัศนะที่มีเหตุผลต่อยอดขึ้นมาจากลัทธิอเทวนิยม (Atheism) ลัทธิอเทวนิยมไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า – พิสูจน์ไม่ได้ – แต่ลัทธิอไญยนิยมบอกว่าการทรงดำรงอยู่ของพระเจ้าพิสูจน์ไม่ได้ ดังนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ว่าพระเจ้าทรงมีอยู่หรือไม่ ตามความคิดนี้ ทัศนะคติของลัทธิอไญยนิยมถูกต้อง การทรงอยู่ของพระเจ้าพิสูจน์ไม่ได้ด้วยเหตุผลแต่ด้วยการสังเกตุเท่านั้น
กล่าวโดยสรุป ทัศนะของลัทธิอไญยนิยมคือการไม่ตัดสินใจว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่มีจริง มันเป็นการตัดสินใจที่จะ “ไม่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” พวกเทวนิยม (Theists) เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง พวกอเทวนิยม (Atheists) ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง พวก อไญยนิยม (Agnosticism) เชื่อว่าเราไม่ควรมั่นใจหรือไม่มั่นใจว่าพระเจ้ามีจริง – เพราะเรารู้แน่ไม่ได้ทั้งสองอย่าง
จิตวิญญาณที่ไม่นับถือศาสนา 2 ประเภท
เพื่อให้เข้าใจถึงจิตวิญญาณที่อยู่นอกบริบทของศาสนา สถาบัน Barna ได้สร้างกลุ่มหลักสองกลุ่ม (ทำการสำรวจในสหรัฐอเมริกา) ที่สอดคล้องกับคำอธิบาย "มีธรรมแต่ไม่ใช่ศาสนา" (SBNR) กลุ่มแรก (SBNR #1) คือผู้ที่คิดว่าตนเองเป็น “ฝ่ายจิตวิญญาณ” แต่กล่าวว่าความเชื่อทางศาสนาของพวกเขาไม่สำคัญมากนักในชีวิต แม้ว่าบางคนอาจระบุตัวเองว่า เป็นสมาชิกของศาสนา (คริสเตียน 22%, คาทอลิก 15%, ชาวยิว 2%, ชาวพุทธ 2%, ศรัทธาอื่น ๆ 1%) พวกเขากลับไม่นับถือศาสนาในหลาย ๆ ด้าน เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดจากการปฏิบัติศาสนกิจ ตัวอย่างเช่น กลุ่มนี้ 93% ไม่ได้ไปงานทางศาสนาในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา
กลุ่ม SBNR #1 ส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุว่ามีความเชื่อทางศาสนาเลย (6% ไม่เชื่อในพระเจ้าแบบอเทวนิยม 20% ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าแบบอไญยนิยม และ 33% ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาเลย) เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่า ความผูกพันทางศรัทธา (แม้ว่าจะไม่มีศาสนา) อาจส่งผลต่อมุมมองและการปฏิบัติของผู้คนหรือไม่ จึงมีการสร้างกลุ่มที่สองของ SBNR ซึ่งเน้นเฉพาะผู้ที่ไม่อ้างสิทธิ์ ศรัทธาใด ๆ เลย (SBNR #2) กลุ่มนี้ยังคงบอกว่าพวกเขาเป็น “จิตวิญญาณ” แต่พวกเขาระบุว่า เป็นผู้ไม่เชื่อในพระเจ้า (อเทวนิยม) 12% ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า (อไญยนิยม) 30% หรือไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา 58%
สำหรับมุมมอง ในบรรดาผู้ที่อ้างว่า “ไม่มีศรัทธา” ประมาณหนึ่งในสามบอกว่า พวกเขาเป็น “ฝ่ายจิตวิญญาณ” (Spiritual) หรือ มีธรรม (34%) นี่จึงเป็นคำจำกัดความเข้มงวดหรือชัดเจนยิ่งกว่าของกลุ่ม "มีจิตวิญญาณแต่ไม่เคร่งศาสนา" แต่ทั้งสองกลุ่มมีคุณสมบัติที่สำคัญและสะท้อนถึงแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน แม้จะเป็นตัวแทนของผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 2 ประเภทที่แตกต่างกัน—ประเภทหนึ่งมีความรู้ทางศาสนามากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ดูเหมือนว่าการนับถือศาสนาไม่ส่งผลต่อการปฏิบัติและความเชื่อของคนกลุ่มนี้ แม้ว่าคุณจะยังคงผูกพันกับศาสนาก็ตาม และหากคุณละทิ้งศาสนาในฐานะที่เป็นหลักการสำคัญในชีวิตของคุณ ดูเหมือนว่าจะมีอิทธิพลเล็กน้อยต่อการปฏิบัติทางจิตวิญญาณของคุณ
แปลได้ว่า คนที่มีจริยธรรมตามแบบแผนของศาสนา ความถูกต้องชอบธรรมผ่านภาพพิธีกรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิต (เข้าวัดทุกวันธรรมสวณะ หรือไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์) กับคนที่มีคุณธรรมจากประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว (อาจไปวัดทำบุญ หรือเข้าโบสถ์ด้วย) มีความแตกต่างกัน “มันอยู่ที่ใจ” หรือ คุณค่าภายในมนุษย์คนนั้นนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมี SBNR ที่แยกย่อยออกไปอีกหลายประเภท คงคล้ายกับกรณีที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้บอกว่า ไม่นับถือศาสนาอะไรเลย แต่ก็ยังไปไหว้จิตวิญญาณศักดิสิทธิ์ตามสถานที่ทางจิตวิญญาณทั้งหลาย เช่น ศาลพระพรหม ศาลเจ้าแม่งู ศาลพระแม่ลักษมี หรือกระทั่งไปขอ ผัว/เมียกับพระศิวะ เรียกว่า เป็น พหุเทวนิยม นับถือเทพเจ้าหลายพระองค์จนไม่อาจระบุได้ว่า นับถือศาสนาอะไร ศาสนากลายเป็นสิ่งไร้ขอบเขตที่สามารถเชื่อมต่อกันตามฟังค์ชั่นการใช้งานทางจิต
จึงมีข้อสันนิษฐานว่า SBNR ทุกคนเป็น "ผู้แสวงหา" ที่กำลังมองหา “ดินแดนแห่งศรัทธา” แห่งใหม่ เช่นเดียวกับผู้อพยพตามภูมิศาสตร์ กำลังพยายามปรับตัว ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะมีปัญหาอยู่บ้าง
คนนอกศาสนา ไม่ใช่พวกนอกรีตอีกแล้ว แต่ก็ต้องหลีกหนีกับดักบางอย่างเช่นกัน เพราะนับเป็นความผิดพลาดที่จะถือว่า SBNR โดยทั่วไปเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนา บางคนเข้าใจผิดคิดว่า SBNR ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นทางศาสนาอย่างจริงจัง แต่เรากลับพบว่า SBNR ที่มีปัญหาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับศาสนาที่เป็นระบบระเบียบนั้น มักจะเป็นปัญหาในทางเทววิทยา พิธีกรรมบางอย่าง หรือ รูปแบบการดำเนินชีวิตบางอย่างที่อาจดูล้าสมัย ทำให้พวกเขาห่างเหินหรือกระทั่งมีความความโศกเศร้าผิดหวังแตกต่างจากคนอื่น ๆ ที่สำคัญคือพวกเขาไม่เคยได้รับความ "เข้าใจ" อย่างถูกต้องเลย
ทั้งที่ SBNR คือปรากฏการณ์ทางสังคมที่กำลังเติบโตในเชิงบวก จำนวนที่เพิ่มขึ้นกำลังเปิดทางให้เกิดผู้แนะนำทางจิตวิญญาณมากมาย (รวมถึงไลฟ์โคช) และทางเลือกอื่นๆ อีกเยอะแยะ และแม้แต่ประเพณีทางศาสนาที่หลากหลายและมีสีสันมากขึ้น ในขณะที่พวกเขาเหล่านั้นยังคงหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณภายในต่อไป
แต่ข้อเสียก็คือ หากพวกเขามีข้อมูล ชุดความรู้ หรือภูมิหลังอันน้อยนิดในการเดินทางทางจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่สายนี้ พวกเขาก็จะต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างบ่อน้ำจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งกับแอ่งน้ำที่ตื้นเขิน
อ้างอิง:
- https://grottonetwork.com/keep-the-faith/belief/i-believe-in-god-not-religion-meaning/
- https://www.theatlantic.com/membership/archive/2018/01/what-it-means-to-be-spiritual-but-not-religious/550337/
- https://www.gotquestions.org/Thai/Thai-agnosticism.html
- https://www.matichonweekly.com/column/article_404364