มังกรพ่ายอ้างสิทธิพิพาททะเล
ศาลอนุญาโตตุลาการปฏิเสธการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเขตพิพาททะเลจีนใต้ ตามคำร้องของฟิลิปปินส์เมื่อปี 2013 โดยระบุว่า จีนไม่มีอำนาจในการอ้างสิทธิและทรัพยากรตามแผนที่เส้นประ 9 เส้น
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์
นับตั้งแต่ที่ฟิลิปปินส์ยื่นคำร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ เพื่อคัดค้านการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่มากกว่า 85% ในทะเลจีนใต้ของจีน เมื่อปี 2013 ซึ่งทับซ้อนกับการอ้างกรรมสิทธิ์ บางส่วนในทะเลเดียวกันของ ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และไต้หวัน ล่าสุด ศาลอนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินปฏิเสธการอ้างอำนาจของจีนในบริเวณดังกล่าว
"ศาลขอตัดสินว่า จีนไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการอ้างกรรมสิทธิ์และทรัพยากรเหนือพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ตามแผนที่เส้นประ 9 เส้น" แถลงการณ์ของศาลอนุญาโตตุลาการ ระบุ พร้อมย้ำว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างและเกาะเทียมของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจำเพาะ (อีอีแซด) ของฟิลิปปินส์เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และการทำประมงเกินขีดจำกัดและการสร้างเกาะเทียมบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งเป็น การกระทำที่ไม่สามารถย้อนกลับได้
ยิ่งไปกว่านั้น การอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนยังเป็นการคุกคามอำนาจอธิปไตยในเขตอีอีแซดของฟิลิปปินส์ ซึ่งการสร้างเกาะเทียมและการกำหนดขอบเขตทำการประมงของเรือประมงจีน เป็นการแทรกแซงเขตประมงและเขตสำรวจทรัพยากรปิโตรเลียมของฟิลิปปินส์
เปอร์เฟคโต ยาเซย์ รัฐมนตรีต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ประกาศน้อมรับคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ ขณะที่ ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุว่า คำตัดสินของศาลถือเป็นที่สุดและมีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายควรปฏิบัติตามคำตัดสินดังกล่าว โดยญี่ปุ่นจะยึดถือต่อหลักการทางกฎหมายและแนวทางสันติภาพเป็นสำคัญ ไม่ใช่การบีบบังคับให้ทำตาม
"ฟิลิปปินส์ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า เราเคารพคำตัดสินดังกล่าวในฐานะที่เป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาพิพาทในเขตทะเลจีนใต้" ยาเซย์ กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้คำตัดสินของศาลจะมีผล ผูกพันทางกฎหมาย แต่ศาลอนุญาโตตุลาการกลับ ไม่มีอำนาจในการบังคับคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายให้ปฏิบัติตาม ดังนั้น ท่าทีต่างๆ ของจีนยังคงคลุมเครือ ท่ามกลางการจับต่อมองว่า จีนจะตอบโต้อย่างไร และจะชะลอหรือยุติการสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพิพาทหรือไม่
จีนยันคำตัดสินไร้ประโยชน์
ทางการจีนปฏิเสธที่จะส่งตัวแทนเข้ารับฟังการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการ โดยกระทรวง ต่างประเทศจีน ชี้ว่า จีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือ หมู่เกาะต่างๆ ในเขตทะเลจีนใต้ ทั้งหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซล อีกทั้งมีการบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า ชาวจีนเข้าถึงหมู่เกาะต่างๆ ตั้งแต่ 2,000 ปีก่อน
"อย่างที่ได้แจ้งให้ทราบก่อนหน้านี้ว่า มีหลายประเทศที่เห็นด้วยกับรัฐบาลจีนต่อกรณีการอ้างสิทธิเหนือเขตทะเลจีนใต้ และอำนาจของศาลอนุญาโตตุลาการก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ลู่กัง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าว พร้อมย้ำว่า จีนจะยึดแนวทางตามอำนาจและบทบัญญัติของกฎหมายระหว่างประเทศ และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (ยูเอ็นซีแอลโอเอส)
ขณะที่กระทรวงกลาโหมจีน ยืนยันว่า คำตัดสินของศาลไม่กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของจีน พร้อมระบุว่า กองทัพจีนจะยืนหยัดปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศ ความมั่นคง รวมถึงผลประโยชน์และสิทธิทางทะเลของจีน ควบคู่ไปกับการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ตลอดจนจัดการ ภัยคุกคามและความท้าทายต่างๆ
ด้านสำนักข่าวซินหัว กระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ระบุว่า ศาลจะไม่มีอำนาจในการตัดสินคดี และคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการมีขึ้นตามคำร้องของรัฐบาลฟิลิปปินส์ชุดก่อน ดังนั้นคำตัดสิน ดังกล่าวจึงไม่มีประโยชน์และไม่มีผลทางกฎหมาย เช่นเดียวกับทางการไต้หวันที่ปฏิเสธคำตัดสิน
ญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์ผนึกกำลังต้านจีน
รัฐบาลฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า กองกำลังรักษาความปลอดภัยชายฝั่งของญี่ปุ่น (เจซีจี) และกองกำลังรักษาความปลอดภัยชายฝั่งของฟิลิปปินส์ (พีซีจี) จะฝึกซ้อมรบทางทะเลในวันที่ 13 ก.ค. บริเวณ อ่าวมะนิลา เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังโจรสลัด เพิ่มศักยภาพในการป้องกันชายฝั่ง และกระชับความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์
พีซีจี ระบุว่า ปฏิบัติการซ้อมรบดังกล่าว จะดำเนินการต่อหน้าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ เช่นเดียวกับตัวแทนจากสหรัฐและออสเตรเลียที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดยไม่มีเจตนาคุกคามจีน แต่มุ่งเน้นไปที่การจัดการโจรสลัดมากกว่าประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้
ด้านกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ระบุว่า กองทัพจะจับตาท่าทีของกองทัพจีนในเขตทะเลจีน ตะวันออก หลังเรือตรวจการณ์ของกองทัพจีน แล่นเฉียดอาณาเขตทางทะเลของหมู่เกาะเซนกากุ หรือเตียวหยู เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา และกรณีเครื่องบินเจ็ตของจีน 2 ลำ บินขัดขวางเครื่องบินลาดตระเวนอาร์ซี-135 ของสหรัฐ ใน น่านฟ้าสากลบริเวณทะเลจีนตะวันออก ในระยะ ที่ไม่ปลอดภัยและอาจเป็นอันตราย
คาดการณ์ท่าทีตอบสนองต่อคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการ
จีน - แม้คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย ทว่าอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (ยูเอ็นซีแอลโอเอส) ปี 1982 กลับไม่มีอำนาจในการบังคับคู่กรณีให้ปฏิบัติตามคำตัดสิน หากจีนยังยืนกรานปฏิเสธคำตัดสินดังกล่าว และมีแนวโน้มที่ทางการจีน จะเดินหน้าก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทั้งทางทหารและพลเรือนบนเขตพิพาท ต่อไป รวมถึงเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (เอดีไอแซด) เพื่อป้องกันการคุกคามจากกองทัพสหรัฐในบริเวณดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) มีมติรับคดีกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้เข้าสู่การพิจารณาในเดือน ต.ค. 2015 ตามคำร้องของรัฐบาลฟิลิปปินส์ โดยคำตัดสินของไอซีเจสามารถบังคับคู่กรณีให้ปฏิบัติตามคำตัดสินได้ เนื่องจากไอซีเจอยู่ภายใต้อำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ซึ่งจีนเป็นสมาชิกถาวร
สหรัฐ - กองทัพสหรัฐอาจเพิ่มปฏิบัติการทางทหารมากขึ้นตามหลักเสรีภาพในการสำรวจทางทะเลและน่านฟ้า รวมถึงการเพิ่มความช่วยเหลือทางการทหารให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค
ประเทศอื่น - ประเทศอื่นที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำพิพาทเช่นเดียวกับจีน โดยเฉพาะเวียดนามที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากมีแนวโน้มที่ประเทศเหล่านี้จะแสดงท่าทีขัดขืนต่อจีนมากขึ้น ส่วนสิงคโปร์ยืนยัน ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง