อุทธรณ์คดี พธม. ปปช.กลืนไม่เข้า คายไม่ออก
วัดใจป.ป.ช. อีกครั้ง กับการต้องพิจารณายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ยกฟ้องคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
วัดใจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกครั้ง กับการต้องพิจารณายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ยกฟ้องคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินว่า แม้เหตุการณ์จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ศาลเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะรู้ว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
โดยเมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1, จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ก็ไม่อาจอนุมานได้ว่าแก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้
ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาหรือเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต ดังนั้น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. จำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. จำเลยที่ 4 ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
ในฐานะผู้เสียหาย กลุ่ม พธม.เริ่มเปิดหน้าออกมากดดัน เรียกร้องให้ ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้ ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 195 เปิดช่องให้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ภายในระยะเวลา 30 วัน
เนื่องจากเป็นช่องทางเดียวที่จะอุทธรณ์คดีนี้ได้ ทำให้การตัดสินใจสุดท้าย อยู่ที่ ป.ป.ช.ว่าจะออกมาอย่างไร โดยเฉพาะกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปิดช่องให้สามารถอุทธรณ์ได้โดยใช้ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ต่างจากที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญเก่า
สถานการณ์ของ ป.ป.ช.จึงตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดยิ่งต้องมีคำตอบที่ชัดเจนไว้ชี้แจงกับสังคม
หากจำได้คดีนี้หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาอยู่สักพัก ก่อนที่ จุลสิงห์ วสันตสิงห์ อสส. จะเห็นว่าสำนวนยังมีข้อไม่สมบูรณ์ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง อัยการ และ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา ซึ่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าคดีนี้ยังมีข้อไม่สมบูรณ์อัยการไม่อาจดำเนินคดีให้ได้ จึงมีมติส่งเรื่องกลับไปยัง ป.ป.ช.
ก่อนที่สุดท้าย ป.ป.ช.จะเป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา การที่ศาลยกฟ้องส่วนหนึ่งจึงถูกมองอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องสำนวนที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ เพราะในอดีตทาง อสส.ก็เคยมีความเห็นไม่ส่งฟ้อง
หาก ป.ป.ช.จะยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ ก็อาจจะต้องมีข้อมูลหลักฐานใหม่ หรือมุมมองข้อกฎหมายที่มีน้ำหนักเพียงพอจะนำไปใช้เป็นประเด็นในการอุทธรณ์
แต่ที่สำคัญคือเวลานี้กระแสสังคมจากหลายฝ่ายเรียกร้องให้ทาง ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความกระจ่างตามกลไกที่เปิดช่องให้ดำเนินการได้
ถึงขั้นที่กลุ่ม พธม.บุกไปยัง ป.ป.ช. ยื่น 6 ประเด็นให้ไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ อาทิ มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่เห็นว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นไปโดยสงบ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาจนถึงการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล
งานนี้ วีระ สมความคิด อดีตแกนนำ พธม. มั่นใจพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอให้ ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาฯ หากในที่สุด ป.ป.ช.ไม่ยื่นอุทธรณ์ พธม.จะเดินหน้าต่อ จะใช้ทุกช่องทางตามกฎหมายที่มีให้เรื่องนี้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรม
ดังนั้น หาก ป.ป.ช.มีมติไม่ยื่นอุทธรณ์คดี ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นจำเลยเสียเอง
สอดรับกับทาง วิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. ในฐานะอดีตผู้รับผิดชอบสำนวนคดีสลายการชุมนุมฯ ที่ระบุว่า องค์คณะของตุลาการยังมีความเห็นต่างกัน และก่อนหน้านี้คดีที่ศาลปกครองวินิจฉัยมาส่วนหนึ่งแล้ว ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการกระทำโดยมิชอบ
แต่ทั้งหมดยังมีประเด็นเรื่องความเคลือบแคลงของสังคมที่ต้องการให้ใช้ช่องทางอุทธรณ์ เพื่อทำความจริงให้กระจ่างสิ้นสงสัยของทุกฝ่าย
แม้แต่ทาง องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ต้องการให้ ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ เพราะคำพิพากษาที่ถึงที่สุดจะหาข้อยุติให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย อันจะช่วยทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อ ป.ป.ช.
อีกด้านหนึ่งเริ่มมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ปนดักคอเรื่องความพยายามช่วยเหลือ พล.ต.อ.พัชรวาท น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และบิ๊ก คสช. ที่อาจทำให้ ป.ป.ช.กล้าตัดสินใจอุทธรณ์คดี
สุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำ พธม. ระบุว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ก็ถูกสังคมและสื่อมวลชนตั้งข้อสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากลพอสมควรในการดำเนินการเรื่องที่จำเลยบางคนเกี่ยวโยงกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล จึงหวังว่า ป.ป.ช.จะพิสูจน์ตัวเองและสร้างความไว้วางใจความเชื่อมั่นจากสังคม
สถานการณ์ทั้งหมดล้วนแต่ทำให้ ป.ป.ช.ในเวลานี้ตกอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก