posttoday

สลายพลัง2พรรคใหญ่ กลยุทธ์ปูทาง สืบทอดอำนาจ

06 กรกฎาคม 2561

การก่อกำเนิดของพรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนชัดเจนกับการผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์​

การก่อกำเนิดของพรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนชัดเจนกับการผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยด้วยเหตุผลที่หยิบยกมาอธิบายว่าเพื่อสานต่อภารกิจปฏิรูปที่เดินหน้าไว้ให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย 

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายกับการปลุกปั้นพรรคการเมืองใหม่ลงสนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะหากต้องไปแข่งขันกับเจ้าถิ่นอดีตพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงที่ชัดเจน รวมทั้งกลไก หัวคะแนน สาขาพรรคในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเกาะติดมาต่อเนื่อง​

ต่อให้มีทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุน และทรัพยากรในมือ ก็ใช่ว่าจะหยิบฉวยความได้เปรียบแปรไปเป็นเก้าอี้หรือจำนวน สส.ได้อย่างที่คาดหวัง ตราบเท่าที่พรรคการเมืองเก่ายังคงความแข็งแรง

แม้ที่ผ่านมาการเมืองจะถูกแช่แข็งไม่ให้ขยับเขยื้อนมากว่า 4 ปี แต่นั่นไม่ได้ส่งผลต่อคะแนนนิยมหรือลดความสามารถลดทอนคะแนนเสียงเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ 

เส้นทางสู่ “นายกฯ คนใน”​ ที่หวังจะใช้ความได้เปรียบจาก 250 เสียงของ สว.เฉพาะกาล ที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจะมีส่วนร่วมเลือกนายกฯ ร่วมกับ 500 เสียงของ สส.ที่จะมาจากการเลือกตั้งด้วยแล้วก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด 

ยิ่งหากพรรคเพื่อไทยซึ่งเคยชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา ยังสามารถรักษาฐานเสียงเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ย่อมทำให้เส้นทางสืบทอดอำนาจของ คสช.เป็นไปได้ยาก

​กลยุทธ์สลายขั้วตีพรรคใหญ่ให้เล็กลง จึงเป็นอีกแนวทางที่จะเอื้อให้พรรคพลังประชารัฐสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ง่ายขึ้น

โดยเฉพาะกับกลไกการเลือกตั้งใหม่ที่​ทุกเสียงไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ในระบบเขตก็จะถูกนำมาคำนวณในระบบบัญชีรายชื่อ อันจะเปิดทางให้เกิดพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม​

ดังนั้น เมื่อพรรคใหญ่มีขนาดเล็กลงมากเท่าไร โอกาสที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลย่อมทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในระบบที่มี 250 เสียงของ สว.เฉพาะกาล มาเป็นตัวช่วยสนับสนุนฝั่ง คสช.

​ด้านหนึ่งจึงเห็นการกัดเซาะพรรคเพื่อไทยที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปรากฏการณ์ดูดที่เดินหน้าไปนานแล้วก่อนหน้านี้ จนมาเป็นรูปเป็นร่างมีระบบการจัดตั้งผ่านกลุ่มสามมิตร

การเปิดรายชื่อ ​50 อดีต สส.​-สว.ที่ไหลไปอยู่กับพลังประชารัฐย่อมเป็นแรงดึงดูดให้อดีต สส.เพื่อไทย เริ่มรู้สึกอยากมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐที่มีที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุน ​อันจะง่ายต่อการลงสมัครรับเลือกตั้ง

ท่ามกลางกระแสข่าวมีอดีต สส.อีกหลายพื้นที่กำลังอยู่ระหว่างการทาบทามต่อรอง รอจังหวะเปิดตัวในช่วงโค้งสุดท้ายอีกหลายคน อันจะยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยอ่อนกำลังลง ในขณะที่พลังประชารัฐมีฐานเสียงที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้น

อีกทั้งการได้คนระดับอดีตแกนนำตั้งแต่สมัยไทยรักไทย ทั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ มาเป็นมือทำงานให้กับพลังประชารัฐ ย่อมทำให้การขับเคี่ยวในเชิงนโยบายออกมาใกล้เคียงกันระหว่างเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ​ 

เมื่อต่างฝ่ายต่างรู้จุดอ่อนจุดแข็งของกันและกัน การขับเคี่ยวชิงเก้าอี้กันในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานของทั้งสองพรรค ย่อมทำให้พรรคเพื่อไทยต้องถูกแย่งคะแนนเสียงไปไม่มากก็น้อย

ถึงในภาพรวมเพื่อไทยอาจจะชนะในระบบเขต แต่ย่อมต้องถูกแบ่งคะแนนบัญชีรายชื่อ ซึ่งระบบเลือกตั้งใหม่มีสัดส่วน สส.บัญชีรายชื่อ 150 คน มากกว่าระบบเดิมที่มีเพียง 100 คน 

อีกด้านหนึ่งสำหรับประชาธิปัตย์แม้จะไม่ใช่พรรคขนาดใหญ่เพียงพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ในสถานการณ์ปกติ แต่หากในกรณีที่เพื่อไทยถูกกัดเซาะจนไม่อาจเป็นพรรคขนาดใหญ่แล้ว ​ประชาธิปัตย์ย่อมกลายเป็นตัวแปรที่สำคัญ หากสามารถรักษาฐานเก้าอี้เดิมไว้ได้

แม้ประชาธิปัตย์จะถูกมองว่ามีสัมพันธ์อันดีกับ คสช. แต่ท่าทีล่าสุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประกาศความชัดเจนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ถึงขั้นไล่อดีต สส.ที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไปอยู่พรรคอื่น​

​การตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ​ที่ประกาศส่งผู้สมัครครบ 350 เขต จึงถือเป็นคู่แข่งที่จะมาแบ่งคะแนนของประชาธิปัตย์โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ถึงขั้นแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ออกมายอมรับถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ด้วยสถานะอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ การต้องมาลงแข่งกับประชาธิปัตย์​ย่อมทำให้มองเห็นพื้นที่จุดอ่อน อันจะช่วยทำให้ง่ายต่อการเจาะพื้นที่เป้าหมายโดยเฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานี หรืออย่างน้อยก็ขอแบ่งคะแนนระบบบัญชีรายชื่ออันจะทำให้ประชาธิปัตย์อ่อนกำลังลงไปจากเดิมอย่างมาก

แทนที่รอบนี้ประชาธิปัตย์จะได้ไปรุกขยายฐานในพื้นที่อีสาน​ เหนือ ที่เป็นจุดอ่อน ​อาจจะต้องทุ่มกำลังเพื่อมารักษาฐานที่มั่นในพื้นที่ภาคใต้เสียมากกว่า

สุดท้ายการตัดกำลังทำให้ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์อ่อนแอลงไป ย่อมตัดตอนป้องกันไม่ให้ทั้งสองฝั่งมีเสียงเพียงพอจะผนึกกำลังจัดตั้งรัฐบาลได้ รวมทั้งทำให้โอกาสของพลังประชารัฐที่จะเป็นแกนนำรวมเสียงพรรคต่างๆ มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลทำได้ง่ายกว่าสถานการณ์ปกติ