posttoday

เปิดตัวยกแรก พลังประชารัฐอ่วม

02 ตุลาคม 2561

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ “พรรคพลังประชารัฐ” เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ซึ่งเป็นไปตามคาดเมื่อมีรัฐมนตรีในรัฐบาล และกลุ่มสามมิตร รวมถึงอดีตกลุ่ม กปปส.เข้าไปร่วมงาน

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ “พรรคพลังประชารัฐ” เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ซึ่งเป็นไปตามคาดเมื่อมีรัฐมนตรีในรัฐบาล และกลุ่มสามมิตร รวมถึงอดีตกลุ่ม กปปส.เข้าไปร่วมงาน

รัฐมนตรีในรัฐบาลที่ประกาศตัวไปร่วมงานพรรคพลังประชารัฐมีทั้งสิ้น 4 คน ประกอบด้วย 1.อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค 2.สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค 3.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองหัวหน้าพรรค และ 4.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีคนดังในแวดวงการเมืองเข้าไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐอีก เช่น พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง สกลธี ภัททิยะกุล รองผู้ว่าราชการ กทม.​ และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งทั้ง 3 คนเคยเคลื่อนไหวในนามแกนนำประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

ทั้งนี้ เปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ไปไม่เท่าไร ปรากฏว่าพรรคพลังประชารัฐก็โดนรับน้องอย่างเป็นกันเองจากพรรคการเมืองรุ่นพี่ ภายหลังเกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐมนตรี 4 คนที่เตรียมลงสนามการเมืองแสดงสปิริตด้วยการลาออก เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้อำนาจรัฐเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นในสนามเลือกตั้ง ในประเด็นดังกล่าว รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 169 บัญญัติให้รัฐบาลที่รักษาการภายหลังมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรืออายุสภาสิ้นสุดลง จะดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติ แต่มีอยู่ 4 เรื่องที่ห้ามดำเนินการ ได้แก่

1.การกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติโครงการมีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

2.การแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

3.การกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

4.การใช้ทรัพยากรของรัฐอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง

แต่ในทางกฎหมายแล้วบทบัญญัติมาตรา 169 ไม่สามารถไปบังคับรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ เนื่องจากบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจโดยสมบูรณ์ทุกประการ จึงเท่ากับว่าในอนาคตแม้จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว แต่รัฐบาลและ คสช.ยังใช้อำนาจได้ตามปกติ

เมื่อรัฐบาลและ คสช.มีความชอบธรรมที่ใช้อำนาจได้สะดวกมือตามปกติ ส่งผลให้บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ต้องออกมากดดันด้วยการยกเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองขึ้นมาแทน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังแสดงท่าทีว่ารัฐมนตรีทั้ง 4 คนไม่ต้องลาออก

“การลาออกเป็นเรื่องที่ง่าย แต่ต้องถามว่าประโยชน์ของมันคืออะไร หากว่าประโยชน์ไม่มีมากขนาดนั้น กับช่วงเวลาก็เป็นสิ่งที่นักบริหารต้องคิดผมคิดว่าเราอย่าเล่นแต่การเมืองกัน ผมพร้อมยืนยันช่วงดำรงตำแหน่งอยู่จะรอบคอบ และระมัดระวังไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมือง และจะทำให้ดีกว่าที่สังคมคาดหวัง” สนธิรัตน์ ระบุ

แน่นอนว่า ในทางกฎหมายรัฐมนตรีทั้ง 4 คนไม่จำเป็นต้องลาออกก็ได้ แต่ในทางการเมืองแล้ว ระยะยาวจะนำมาซึ่งปัญหาแบบที่ว่าที่นักการเมืองป้ายแดงคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลและ คสช.เข้ามาดำรงตำแหน่งด้วยวิธีการพิเศษและมีอำนาจพิเศษ ไม่เหมือนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกติที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่สามารถเอามาตรฐานแบบรัฐบาลปกติที่ทำหน้าที่รักษาการณ์มาเทียบเคียงเพื่อไม่ต้องออกจากตำแหน่งได้ด้วยเหตุนี้ ส่งผลให้รัฐบาลเกิดจุดอ่อนเต็มตัวไปหมด เพราะปัจจุบันรัฐบาลยังต้องทำหน้าที่บริหารประเทศอยู่ แต่อีกด้านหนึ่งจะต้องเผชิญกับ
แรงกดดันและสายตาจ้องจับผิดจากทุกฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลเสียที่สุดจะตกมาอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เข้าอย่างจัง

ตัวอย่างได้ปรากฏให้เห็นแล้วจากกรณีการใช้อำนาจมาตรา 44 แต่งตั้ง “สนธยา คุณปลื้ม” มาดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าสู่เทศกาลการเลือกตั้งอย่างเต็มตัว แต่ก็ทำให้รัฐบาลเป็นหมู่บ้านกระสุนตกโดยปริยาย เพราะเป็นการแต่งตั้งในช่วงที่กำลังมีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐกำลังรุกคืบเพื่อยึดครองฐานทางการเมืองในภาคตะวันออก

นับจากนี้ไปยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์การเมืองข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ที่เห็นแน่ๆ คือ สนามเลือกตั้งครั้งนี้ที่คิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีทั้งอำนาจและบารมี อาจจะไม่ได้อย่างที่คิดเอาไว้ เนื่องจากอำนาจที่มีอยู่ย่อมไม่สามารถใช้อย่างสะดวกมือเหมือนอดีตอีกแล้ว

เรียกได้ว่าอำนาจพิเศษกำลังเป็นของร้อนย้อนเข้าตัวก็คงไม่ผิดนัก และนี้เป็นเพียงแค่ยกแรกของการเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ ที่โดนกระหน่ำหนักขนาดนี้ ยังไม่รวมถึงเรื่องการดูดกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าพรรคพลังประชารัฐซึ่งอาจจะโดนอีกหลายระลอก

ทั้งหมดนี้จะทำให้บิ๊กตู่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหรือไม่ เลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. 2562 จะได้รู้กัน