posttoday

การแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในระดับพื้นที่และชุมชนของจังหวัด

09 เมษายน 2563

โดย...อภิชาติ โตดิลกเวชช์

*******************

การรับมือกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรม แต่สำหรับการแก้ไขสถานการณ์โควิด- 19 ในระดับพื้นที่และชุมชนของจังหวัด ผมมีข้อกังวลคือ 1.โควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เคยประสบมาก่อน ข้อมูลข่าวสาร วิธีการแพร่ระบาด การติดโรค การควบคุม การรักษา การเผชิญและแก้ไขสถานการณ์มีทั้งถูกและผิด ไม่มีใครสรุปได้ชัดเจนทั้งหมด2.การเผชิญสถานการณ์ทุกคนตั้งรับ สนใจตามแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อและรักษาโรคตามสถานการณ์ แต่ใส่ใจน้อยในเรื่องการป้องกันโรคอย่างจริงจัง เพื่อยุติโรคไม่ให้เกิดขึ้น 3.การเกิดสถานการณ์โควิด-19 อาจต้องก้าวต่อไปในการแพร่ระบาด ระยะที่ 3 เนื่องจากมีการติดต่อภายในประเทศในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มหาที่มาไม่ได้แล้ว การระบาดเริ่มกระจายไปยังพื้นที่ภูมิภาคในจังหวัดต่างๆ มากขึ้น

4.กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมถูกระงับ ซึ่งสวนทางกับตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในอัตราเร่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิภาคกระจายไปจังหวัดต่างๆ พบผู้ติดเชื้อมากรวมถึง ร้อยละ 44 ของทั้งประเทศ 5.ระบบเศรษฐกิจ กิจกรรมต่างๆ แทบจะหยุดหมด ปิดศูนย์การค้า ห้างร้าน กิจการค้าขาย หาบเร่ แผงลอย การตกงาน การหยุดหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจทำได้ชั่วคราว แต่หยุดในระยะยาวทำไม่ได้ เงินของประชาชนมีไม่มากพอ แรงงานหาเช้ากินค่ำต้องการเงินที่จะใช้ในแต่ละเดือนที่ผ่านไป

6.องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวถึงการแพร่ระบาดโควิดในเอเชีย สถานการณ์ระบาดยังอีกนานกว่าจะจบ การต่อสู้ครั้งนี้คือ ศึกระยะยาว มาตรการตรวจเชื้อจำนวนมาก การสกัดเชื้อแบบกลุ่มก้อน การรักษาแต่เนิ่นๆ การรักษาระยะห่าง หรือการล็อคดาวน์ช่วยซื้อเวลาอันมีค่าเพื่อพร้อมรับมือการแพร่เชื้อขนานใหญ่ แต่ต้องไม่ลืมว่ามาตรการทั้งหมดไม่ได้หมายถึงความเสี่ยงจะหมดไป ตราบใดที่โรคยังระบาดอยู่การแพร่ระบาดจะยุติอย่างน้อยจนกว่าจะพบวัคซีนในการป้องกันโรค

การแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในระดับพื้นที่และชุมชนของจังหวัด

ผมมีข้อเสนอแนวปฏิบัติสำคัญที่นำไปปรับใช้กับพื้นที่ ประกอบด้วย

1.การบริหารสถานการณ์โควิดในระดับพื้นที่ 1.1 ข้อกำหนดตาม ม.9 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 1 ให้อำนาจสำคัญแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนี้ 1) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ รวมถึงการเตรียมรับสถานการณ์ 2) การห้ามประชาชนเข้าพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ 3) การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค 4) การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักรในพื้นที่ 5) ห้ามกักตุนสินค้า เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่มและสิ่งจำเป็น 6) ห้ามชุมนุม การทำกิจกรรมในสถานที่แออัด 7) มาตรการพึงปฏิบัติสำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อให้อยู่ภายในเคหะสถาน หรือบริเวณที่พำนักตน 8) ดูแลความสงบเรียบร้อย จัดเวรยาม ตั้งจุดตรวจตามถนน สถานที่สำคัญ 9) มาตรการป้องกันโรคตามที่สาธารณสุขกำหนดให้ใช้เป็นการทั่วไป

1.2 ในสถานการณ์ปกติ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ใช้ได้อยู่แล้ว และได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการในพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จ ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถ ใช้คำปรึกษาจากคณะกรรมการสาธารณสุขของจังหวัด ดังนั้น ในแง่บริหารจัดการใช้อำนาจของสาธารณสุขเป็นหลัก ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่ที่มีการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพราะงานแก้ปัญหาไม่ใช่เฉพาะด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่จะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย

การปิดพื้นที่ ปิดด่านตามมาอีกมากมาย ความรวดเร็ว ความเข้มงวดและประสิทธิภาพการทำงานเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ดังนั้น การรวมกันระหว่างเทคนิคด้านสาธารณสุขกับการบริหารของพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร ประเมิน การเคลื่อนไหวของชุมชน ผู้นำนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มอิทธิพลต่างๆ ใครมีผลประโยชน์มากน้อยกว่าใคร แล้วจังหวัดจะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบ จึงเป็นงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำกับดูแลให้ได้และมีประสิทธิภาพแท้จริง

1.3 การบริหารงานในภาวะวิกฤตโควิด-19 ผู้ว่าราชการจังหวัดมีความสำคัญมาก ต้องสามารถคาดการณ์ได้ว่าฉากทัศน์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จังหวัดกำลังจะไปทางไหน ความสามารถนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจอยู่กับคณะที่ปรึกษา ต้องมีข้อมูลมาวางไว้ แล้วตกลงกันว่าจะตัดสินใจแบบไหน และรับผิดชอบร่วมกันต่อการตัดสินใจนั้นด้วย

1.4 วัฒนธรรมการทำงาน การบริหารจัดการในภาวะปกติของจังหวัด ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก เป็นการทำงานต่างคนต่างทำ ยึดแนวทางของกระทรวงที่สังกัด ดังนั้น เมื่อมีวิกฤตโควิดการบริหารงานจะให้ดีขึ้นมาทันทีตามภาวะวิกฤตคงเป็นไปไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงต้องแยกการบริหารจัดการให้มีเอกภาพ ทำงานร่วมกันให้ได้ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ที่สำคัญมีระบบสั่งการแบบมืออาชีพ ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งสาธารณสุขจังหวัดไปแล้วก็จบ จะไม่ข้ามไปสั่งหัวหน้าส่วนคัดกรอง ไม่ไปล้วงลูกกับ ผอ.โรงพยาบาล ต้องอยู่นิ่งๆ คอยติดตามกำกับเท่านั้น คนที่อยู่ในอำนาจสั่งแค่ไหนแค่นั้น อย่าแทรกแซงคนที่ทำงานทำตามหน้าที่ หากมีการคิดไม่เหมือนกัน ก็มาคุยกันให้ได้ข้อยุติบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง

1.5 ควรกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพตัวชี้วัดให้ชัดเจนในผลของการบริหารจัดการป้องกันการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นใน 3 เดือน ของจังหวัด เพื่อกำกับงานและรู้สถานการณ์จริง โดยแบ่งประเภทออกเป็น 1) ดีเยี่ยม ไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อเพิ่มเติม หรือไม่มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดเลย 2) ดีปานกลาง มีผู้ติดเชื้อไม่มาก สามารถควบคุมได้ เช่น มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่า ในรอบระยะเวลาทุกๆ 10 วัน 3) ต่ำกว่าเกณฑ์ต้องปรับปรุง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 2 เท่า ในรอบระยะเวลาทุกๆ 5 วัน

2.รณรงค์ป้องกันเชิงรุก สร้างความเข้าใจ และการได้รับความร่วมมือจากประชาชน

2.1 การป้องกันโควิด ข้อเท็จจริงทำไม่ยาก เพราะไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ตา จมูก ปากเท่านั้น ถ้าปิดทางเข้าก็กันเชื้อไวรัสได้ และไม่มีหลักฐานยืนยันว่าไวรัสนี้สามารถติดต่อผ่านอากาศ (airborne) ในสภาพแวดล้อมปกติได้ ช่องทางหลักยังคงติดต่อผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย เช่น การถูกไอใส่หน้า การสัมผัสกับเชื้อไวรัส แล้วนำมาสัมผัสกับใบหน้าทำให้เชื้อโรคผ่านตา จมูก และปาก 2.2 คนแพร่เชื้อไม่ต้องมีอาการ สามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งอาจมีถึง 80 % เดินผ่านก็ไม่มีทางรู้เลยว่าติดเชื้อ ระยะฟักตัวอาจไม่พบว่ามีไข้ การตรวจวัดไข้ไม่ได้ช่วยอะไรมาก โดยเฉพาะการตั้งด่านตามถนน ตรวจรถทุกคันไม่ได้ รถติดมากก็ต้องทยอยไป พอรถจอดก็ทำได้แค่วัดไข้ เป็นมาตรการด้านจิตวิทยามากกว่า 2.3 จุดบกพร่องในการต่อสู้กับโควิด คือ การเน้นการรักษา ซึ่งต่อไปคนป่วยจะเกิดมากจนรักษาไม่ไหว ต้องให้ประชาชนช่วยอีกทาง คือ รณรงค์ป้องกันอย่างเข้มข้น โดย1) สวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันไวรัสโควิดได้ให้มากที่สุด เมื่อเดินทางหรือออกนอกบ้าน 2) ล้างมือจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม3) กินร้อน ช้อนกลางตนเอง 4) สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย นอนให้เพียงพอ กินวิตามินเสริม ถ้าร่างกายแข็งแรงคนป่วยที่รักษาก็น้อยลง

2.4 ไวรัสจะทำร้ายเราได้จริงๆ แค่บุคคลที่ไม่มีภูมิต้านทาน หรือภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัวอยู่ ถ้าเราแยกที่อยู่เฉพาะหรือระมัดระวังบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษก็จะลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดและป้องกันชีวิตได้

2.5 การรณรงค์ป้องกันเชิงรุกในจังหวัด ต้องทำคู่ขนานไปกับการค้นหาผู้ป่วยและการแกะรอยสอบสวนโรค จึงจะได้ผลและเสริมแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. การค้นหาผู้ป่วยและการแกะรอยสอบสวนโรคและนำเข้ามาในระบบสาธารณสุขให้เร็วที่สุด

3.1 ปัจจุบันสถานการณ์ในไทยยังไม่ได้เลวร้ายเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ แต่เราก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการติดเชื้อ ยังมีการพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่วันละเกือบ 100 ราย หากดำเนินการต่อไป แรงกดดันที่มีต่อระบบสาธารณสุขจะเพิ่มความเสี่ยงไปสู่การควบคุมไม่ได้ ต้องยอมรับความจริงว่าจำนวนคนที่ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อในไทยถือว่าน้อย และมียอดสะสมรอการตรวจมากพอสมควร และผู้ติดเชื้อบางคนก็ไม่มีอาการซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้น เราต้องค้นหาผู้ป่วยและแยกรักษา ติดตามผู้เสี่ยงสูงที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อแยกดูอาการมีการติดตามรายวัน 3.2 จังหวัดต้องตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด เมื่อได้ข้อมูลและแกะรอย ผู้ติดโรคหรือสัมผัสเชื้อ หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดให้ได้มากที่สุดหรือจนครบ 100 % เพื่อกักตัวตามมาตรการเฝ้าระวังโรค แนวทางตัวอย่างเช่น มีทีมทำงาน 3 ทีม 1) ทีมสอบสวนโรค ซักประวัติอย่างละเอียด กำหนดไทม์ไลน์ของพฤติกรรม รู้ถึงความสัมพันธ์ในระยะใกล้ – ไกล 2) ทีมที่ 2 ทำต่อเนื่อง เริ่มติดต่อไปยังกลุ่มเสี่ยงที่ได้ข้อมูลจากทีมสอบสวนโรค เริ่มจากโทรศัพท์ไปจนถึงตัวบุคคลทุกคน ซักถามเพิ่มเติมพฤติกรรมหลังจากนั้นเป็นอย่างไร มีอาการโรคหรือไม่ เข้าไปใกล้ชิดที่จะแพร่เชื้อให้กับคนอื่นบ้าง ถ้าได้ข้อมูลว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ให้กักตัวในบ้าน 14 วัน และติดตามรายบุคคลจนครบกำหนด 3) ทีมที่ 3 ทำหน้าที่ตรวจสอบ กรณีพบผู้ติดเชื้อและไม่สามารถรับข้อมูลเพิ่มเติมจากการซักประวัติได้ จำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติมอาจใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความชำนาญ สอบสวนแกะรอยย้อนหลังอย่างละเอียด เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด

3.3 จังหวัดจัดหาทุ่มเทบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครตรวจเชื้อ ในเชิงรุกและกว้างขวางให้มากขึ้นกว่าปกติอย่างน้อย 2 - 3 เท่า เพราะการตรวจหาผู้ป่วยได้เร็วจะช่วยหยุดการระบาดโรคในชุมชนและยังช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้นโดยอาจกำหนดการตรวจเป็นโซนพื้นที่ให้ได้ผู้ติดเชื้อที่แท้จริง จะได้กักตัวหรือถ้าพบ ผู้สงสัยติดเชื้อจะได้ให้หยุดอยู่ในบ้าน 14 วัน เพื่อไม่ให้มีการกระจายของโรคไวรัส

3.4 จังหวัดต้องพยายามจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิดให้มากพอจะไปสุ่มตรวจประชาชนที่ไม่มีอาการและเน้นกลุ่มเสี่ยงได้อย่างกว้างขวาง เพราะตามมาตรการการรักษาระยะห่างระหว่างกัน (ทางกายภาพ) แม้จะประสบความสำเร็จลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ แต่การกลับไปใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติจะทำได้ต่อเมื่อมีการตรวจค้นหาผู้ป่วยอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปสู่การแยกตัวของผู้ติดเชื้ออย่างเคร่งครัด หากไม่ดำเนินการการแพร่ระบาดในระยะที่ 2 และ 3 จะตามมา

3.5 ใช้มาตรการค้นหาผู้ป่วยและการแกะรอยสอบสวนโรคอย่างเข้มข้นจริงจังล่วงหน้าดีกว่ามาตรการเริ่มจากเบาไปหาหนัก หากโรคแพร่กระจายในพื้นที่แล้วการควบคุมจะยากลำบากขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

4.มาตรการการรักษาระยะห่างระหว่างกัน (Physical Distancing, Social Distancing)

4.1 โควิด-19 แพร่กระจายผ่านละอองฝอย โดยเฉพาะเวลาไอหรือจาม การรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยอย่างเข้มงวด จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จังหวัดต้องขับเคลื่อนจริงจังเพื่อช่วยลดเชื้อติดต่อระหว่างกัน ซึ่งเป็นอาวุธที่ดีที่สุดและประหยัดใช้เงินน้อยที่จะชะลอการแพร่ระบาดกระจายเชื้อไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการนี้ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศและได้ผล เพื่อให้การระบาดเป็นไปอย่างช้าๆ และระบบสาธารณสุขสามารถรับมือโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4.2 ความกังวลของโควิด คือ ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อในช่วงแรกๆ มักไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นชัดเจน หลายคนยังมีสุขภาพดีอยู่ทำให้ใช้ชีวิตเป็นปกติ พบเจอคนหมู่มากแบบไม่ระวังตัว กว่าจะรู้ตัวจึงแพร่เชื้อไปทั่วทุกสถานที่ที่ไป การเว้นระยะห่างระหว่างกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น 4.3 เป้าหมายมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างกันในไทย ปัจจุบันทำได้ 70 % เราต้องการเพิ่มให้ถึง 90 % เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยลง โดยเฉพาะในภูมิภาคจังหวัดต่างๆ ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ 4.4 ตามมาตรการของรัฐบาลอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เป็นมาตรการที่ถูกต้อง อยู่บ้านให้มากขึ้น ทำงานอยู่กับบ้าน การจำกัดคนมาเยี่ยมบ้าน ในกรณีจำเป็นต้องออกจากบ้าน การรักษาระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 – 2 เมตร ในที่มีคนเยอะหรืออยู่ห่างจากคนอื่นในที่สาธารณะเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ในจังหวัด เช่น งานสวดอภิธรรมศพ การรับประทานอาหาร การใช้รถร่วมกัน การเข้าคิวรับบริการทั้งภาครัฐและเอกชน การจัดที่นั่งประชุมการรับบริการในร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือห้างสรรพสินค้า การออกกำลังกาย เป็นต้น

4.5 มาตรการเช่นนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนและจิตสำนึกของทุกคนในจังหวัด การรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่พาตัวเองไปเสี่ยงหรือรับเชื้อ ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมให้ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของพื้นที่ สามารถดูแลและรักษาผู้ป่วยให้หายได้ทัน และลดความตึงเครียดของบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี 4.6 มาตรการนี้จังหวัดอาจนำมาปรับใช้ขยายผลขึ้นหรือลงได้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะของชุมชน ลักษณะประชากรส่วนใหญ่และโอกาสในการเข้าถึงบริการการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด เป็นประโยชน์มากที่สุด และดูแลรักษาง่าย เช่น 1)สำหรับสถานการณ์ที่ยังไม่ถึงขั้นระบาดใหญ่ เราอาจไปซื้ออาหารนอกบ้านได้ แต่ควรเลือกสถานที่คนไม่แน่น และรักษาระยะห่างจากลูกค้าอื่นราว 1 – 2 เมตร 2)การขนส่งสาธารณะ ควรเลือกในจุดที่ห่างจากผู้โดยสารคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และในทางกลับกันหน่วยงานของรัฐในจังหวัดก็ควรเพิ่มจำนวนรถ เพื่อช่วยลดความหนาแน่นต่อผู้โดยสารลง หรือจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่จะขึ้นได้ในแต่ละคัน 3)การออกกำลังกาย ควรทำในพื้นที่เปิดโล่ง เลือกไปในเวลาที่คนน้อย เช่น เช้าตรู่ หรือตอนดึก เลือกสถานที่มีความสะอาดและมีการฆ่าเชื้อบนพื้นอย่างจริงจังในเครื่องมือที่ใช้ออกกำลังกาย 4)ออกกฎห้ามพบกันในที่สาธารณะเกิน 2 คน หรือการมีกิจกรรมที่คนมาชุมนุมหรือรวมกันเกิน 50 คน ทำไม่ได้ 5)แนะนำให้อยู่ในบ้านห้ามออกนอกบ้าน ไม่เดินเป็นกลุ่มก้อน ไม่สังสรรค์ยามกลางคืนเวลาเคอร์ฟิวสรุปมาตรการการรักษาระยะห่างระหว่างกัน หากคนไหนเข้าใจ ยึดหลักการนี้อยู่แต่ในบ้าน ออกบ้านเท่าที่จำเป็น หากคนร่วมกันทำให้ได้ 90 % ก็สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ การปิดเมือง ปิดจังหวัด ก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็น

5.ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน

5.1 การแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องจำเป็นต้องควบคุมให้ได้ แล้วค่อยมาแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจทีหลังแต่ก็ต้องไม่มองข้ามทางเลือก ทั้ง 2 เรื่องไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หากปัญหาด้านสาธารณสุขไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จเป็นผลชัดเจน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือตรงข้ามหากเศรษฐกิจไม่ถูกจัดหาให้ดีพอ ปัญหาสาธารณสุขก็จัดการไม่ได้ เพราะความอยู่รอดทางด้านเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อมาตรการความร่วมมือต่างๆ ที่รัฐกำหนด ทั้ง 2 ด้านจึงต้องทำคู่ขนานกันไปซึ่งเป็นหน้าที่ของจังหวัดต้องเตรียมการด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์โควิดยุติลง ประชาชนต้องทำมาหากินต้องมีรายได้มาเลี้ยงตนเองและครอบครัว โครงการต่างๆ ที่ถูกกำหนดโดยจังหวัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจะต้องมีงบประมาณรองรับ จึงจะขับเคลื่อนไปได้ทันที 5.2 มาตรการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไปทำดีอยู่แล้ว แต่ต้องปรับใช้วิธีง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่เพิ่มงานจังหวัดในการตรวจสอบหรือคัดกรองผู้มีสิทธิมาก ควรใช้เป็นระบบประกันรายได้ขั้นต่ำหรือกำหนดรายได้สำหรับคนที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ต้องเสียภาษีได้รับการช่วยเหลือเพราะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว 5.3 สถานการณ์โควิดไม่ได้ส่งผลต่อด้านสุขภาพอนามัยอย่างเดียว แต่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่การทำมาหากินและรายได้ของประชาชนด้วย จึงต้องมีมาตรการช่วยอุดหนุนสินค้า บริการของชุมชนด้วยกันเองก่อนที่จะไปอุดหนุนกลุ่มทุนใหญ่ หรือสินค้าโรงงานที่สายป่านยาวไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ

5.4 ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มหยุดชะงัก ประชาชนถูกจำกัดให้อยู่ในบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด มีการหยุดงาน ถูกเลิกจ้าง ต้องกลับไปอยู่ต่างจังหวัดบ้านเกิด จังหวัดจึงจำเป็นต้องเตรียมมาตรการสำคัญจำเป็นเพื่อการช่วยเหลือ เช่น 1)มาตรการช่วยกลุ่มที่กลับไปอยู่บ้านในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ของจังหวัด ให้สามารถมีอาชีพทำงานในชุมชน หมู่บ้าน ภายในจังหวัดที่ตนอาศัย เป็นกิจกรรมหรือโครงการทางเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นให้สามารถประคับประคองช่วยเหลือตัวเองได้ภายใน 3 – 6 เดือน 2)การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในท้องถิ่นในรูปแบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 ให้มีการผลิต การจ้างงาน สร้างตลาดทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ 3)ใช้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นและบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการที่สอดคล้องกับพื้นที่ในทุกมิติเป็นตัวขับเคลื่อนโดยใช้มหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัด รวมถึงการมีส่วนร่วมของนักศึกษา คณาจารย์ และชุมชนในลักษณะของ Area Base เพื่อต่อยอดสร้างสรรค์วัฒนธรรมท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มกลับคืนสู่คนในชุมชน ซึ่งต้องดำเนินการทันทีเมื่อผ่านพ้นวิกฤตโควิด 4)กลุ่ม SME และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ต่างๆ ต้องกระตุ้นให้มีการยกระดับการทำงานหรือให้ช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจฐานรากได้ทันทีอย่างเข้มแข็ง ซึ่งช่วงวิกฤตต้องมีข้อมูลแต่ละกลุ่มปัญหา เช่น กลุ่มขาดเงินทุนหมุนเวียน กลุ่มไม่มีเงินชำระหนี้ กลุ่มมีสินค้าค้างสต๊อกไม่มีที่ขาย กลุ่มยอดขายลดลงมาก หรือกลุ่มที่ไม่มีวัตถุดิบ และมีปัญหาต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือตามปัญหาที่ถูกจำแนกไว้ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง 5)การปรับโครงสร้างทางสังคมอันเป็นพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นการกระจายอำนาจ สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนและท้องถิ่น สร้างเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เครือข่ายโอทอป หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้มีเครือข่ายที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ

6.การเตรียมรับสถานการณ์ล่วงหน้า

เมื่อสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิดผ่านไป กลไกและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนการใช้ชีวิตของประชาชนจะกลับไปไม่เหมือนเดิม จึงควรจัดให้มีการศึกษาวิจัย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงการหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้กับการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับจังหวัดและประเทศ ซึ่งสามารถกำหนดไว้ได้ ดังนี้6.1 มาตรการระยะสั้น คือ 2 เดือนต่อจากนี้ต้องมีการเยียวยาช่วยเหลือผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการทำวิจัยแบบเร็วๆ ดังนี้1)มีมาตรการชดเชยเยียวยาแบบไหนจะเหมาะสมที่สุด แยกออกเป็นกลุ่มไหนบ้าง ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วรีบศึกษาได้ทันทีเลย2)ศึกษาวิจัยในมาตรการเยียวยาที่สอดคล้องกับทางเลือกที่จะต้องเลือกในอนาคตอันใกล้ เช่น อีก 1 เดือนข้างหน้าเห็นสถานการณ์ชัดเจนรัฐบาลอาจจะเลือกมาตรการบางอย่างที่เป็นยาแรงออกมาใช้ เช่น ปิดประเทศจะมีมาตรการเยียวยาอะไรที่รอไว้ ทั้งหมดคือความสามารถของนักวิจัยที่จะมองจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือคาดการณ์

จากสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าอันใกล้แล้วศึกษาวิจัยหามาตรการรองรับไว้6.2 มาตรการระยะกลาง อีก 3 – 6 เดือนข้างหน้า พอมีวัคซีนออกมาแล้วจะทำอย่างไร การก่อให้เกิดมาตรฐานสังคมใหม่จะทำอย่างไร ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม การจ้างงาน ค่าเสียโอกาสที่จะเกิดขึ้น ทำอย่างไร เงื่อนไขแบบไหนที่จะทำให้การตัดสินใจแต่ละมาตรการแตกต่างกันและมีผลอย่างไรเป็นต้น6.3 มหาวิทยาลัยต่างๆ ของรัฐและเอกชนที่อยู่ในจังหวัดต้องมีบทบาท จัดหาทีมวิจัยทำหน้าที่ศึกษาวิจัยในมาตรการระยะสั้นและระยะยาวของสถานการณ์โควิด โดยคำนึงถึงผู้วิจัยไม่ใช่นักวิชาการ ต้องเป็นนักปฏิบัติร่วมด้วย ต้องไปนั่งทำงานกับหน่วยงานรัฐ เขาทำอะไร อย่างไร ลำบากแค่ไหนในการทำงาน มีกฎเกณฑ์ระเบียบอะไร ทำให้ตัดสินใจแบบนั้น เราต้องการงานวิจัยที่สามารถถอดบทเรียนที่ถูกต้องชัดเจนจากสถานการณ์ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในโลกยังระบาดอีกนานกว่าจะจบลง มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลและจังหวัดได้ทำมาแล้วทั้งหมดหรือที่ยังไม่ได้ทำ เช่น ในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะเป็นผลกระทบเป็นคลื่นลูกที่ 2 และ 3 ตามมา เพียงช่วยซื้อเวลาอันมีค่า เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดที่อาจมีขึ้นต่อไปอีก ผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยานานาชาติต่างชี้ว่ากว่าที่ประเทศที่มีการระบาดจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมต้องผ่าน 4 ระยะ ตอนนี้ทั่วโลกเพิ่งจะอยู่ในระยะที่ 1 เท่านั้นเองยกเว้นจีน

ระยะที่ 1 Slow the Spread เป็นการชะลอการระบาดด้วยวิธีมาตรการลดการติดต่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบ การจัดการข้อมูล เพิ่มความสามารถของระบบสาธารณสุขจัดหาเวชภัณฑ์ให้พอ เพิ่มความเข้มข้นในการหาตัวผู้สัมผัสมากักตัว เน้นย้ำให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือระยะที่ 2 Reopen, State by State เป็นการค่อยๆ เปิดทีละเมือง ทำความสะอาดสถานที่สม่ำเสมอ เฝ้าระวังและกักตัวผู้ติดเชื้อ และผู้สัมผัส สำหรับผู้สูงอายุยังมีความเสี่ยงแนะนำให้อยู่กับบ้าน หาตัวผู้มีภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถกลับไปทำงานได้ ทั้งหมดมีตัวชี้วัดที่บอกว่าอยู่ในระยะที่ 2 คือ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเรื่อยๆ ต่อเนื่อง 14 วัน โรงพยาบาลต้องรักษาผู้ที่นอนป่วยได้อย่างสบายๆ รัฐสามารถตรวจทุกคนที่มีอาการได้ และติดตามผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เมื่อไหร่จำนวนที่พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นต้องกลับไปที่ระยะที่ 1 ใหม่

ระยะที่ 3 Establish protection then lift All Restrictions จะเข้าสู่ระยะนี้ได้ต่อเมื่อมีการนำวัคซีนมาใช้สำเร็จ (ผ่าน FDA) สามารถป้องกันการติดเชื้อด้วยการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสำรวจหาผู้ที่มีภูมิคุ้มกันระยะที่ 4 Rebuild Our Readiness for the Next Pandemic เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการระบาดครั้งหน้า พัฒนาวิธีการให้ได้มาซึ่งวัคซีนสำหรับไวรัสตัวใหม่ให้เร็วขึ้น เป็นเดือน ไม่ใช่เป็นปี และเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข

การรู้สถานการณ์ว่าเราอยู่ในระยะที่เท่าใดจะช่วยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารของจังหวัดสามารถมองเหตุการณ์ให้ตรงตามความเป็นจริง เพื่อกำหนดแผนและกิจกรรมการดำเนินงาน เพื่อคุมพื้นที่และช่วยเหลือประชาชนได้มีประสิทธิภาพในสถานการณ์ปัจจุบัน และในอนาคตต่อไป