posttoday

การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมสมัยใหม่ (3)

07 พฤศจิกายน 2563

โดย..ทวี สุรฤทธิกุล

*************

ปัญหาของคณะราษฎรทั้งก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองคือเรื่อง “สถาบันกษัตริย์”

หากใครได้อ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่แถลงออกมาในวันที่คณะราษฎรเข้ายึดอำนาจ 24 มิถุนายน 2475 จะพบว่าเต็มไปด้วยถ้อยคำที่ว่ากล่าวองค์พระมหากษัตริย์และ “พวกเจ้า” อย่างรุนแรง และหากมองย้อนไปถึงแนวคิดเดียวกันนี้ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อนหน้านั้น คือการกบฏเมื่อ พ.ศ.2455 ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “กบฏ ร.ศ.130” ก็คือแนวคิดที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ อันเป็นแนวคิดหลักที่ยังสืบเนื่องมาถึงคณะราษฎรนั้นด้วย

นั่นย่อมแสดงว่าคณะราษฎรมี “ความกินแหนงแคลงใจ” กับพระมหากษัตริย์มาพอสมควร โดยเฉพาะการที่พระมหากษัตริย์ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับข้าราชการบางกลุ่มในตอนที่มีการใช้นโยบายปรับสมดุลข้าราชการภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อันหมายถึงการเอาข้าราชการจำนวนมากออกจากราชการ ทำให้ข้าราชการจำนวนหนึ่งค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการยึดอำนาจของคณะราษฎรในครั้งนั้น และนำมาซึ่งความร้าวฉานระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะราษฎรเรื่อยมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะราษฎรมีความฝังใจกับพระมหากษัตริย์ที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ภายหลังที่เปลี่ยนแปลงการปกครองก็พยายามที่จะประนีประนอมและลดความแข็งกร้าวนั้นลง โดยได้ปฏิบัติกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ อย่างนุ่มนวล รวมถึงให้ความมั่นใจในความปลอดภัยที่จะไม่มีการทำร้ายบุคคลเหล่านั้น

ที่สำคัญก็คือการจัดตั้งรัฐบาลชุดแรกที่ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ว่ากันว่าเป็น “คนกลาง” ผู้สามารถประสานระหว่างคณะราษฎรกับพวกเจ้านั่นได้ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อพระยามโนฯมีท่าว่าไม่ได้เป็นพรรคพวกของคณะราษฎรท่านก็ถูกปลดออก (นัยว่าถูกบีบให้ออกผ่านกระบวนการทางรัฐสภา) แล้วให้พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าของคณะราษฎรขึ้นดำรงตำแหน่งแทน เช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ที่แย่ลงเรื่อย ๆ ระหว่างพระบาทสมเด็จปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับ นายปรีดี พนมยงค์ ที่โต้แย้งกันในเรื่อง “เค้าโครงเศรษฐกิจ” อันนำมาสู่การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ในที่สุด

การอัญเชิญพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นครองราชสืบต่อเต็มไปด้วยความยุ่งยากและความระแวงแคลงใจ ในข้อเขียนเชิงประวัติศาสตร์ของวิมลพรรณ ปิตะธวัชชัย เรื่อง “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” ได้กล่าวถึงความหวาดระแวงของพระบรมวงศานุวงศ์และผู้รักในสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่า คณะราษฎรไม่ได้เคารพและเทิดทูนสถาบันแต่อย่างใด ทำให้กว่าที่จะมีการยอมตกลงพระทัยของรัชกาลที่ 8 เข้ารับราชสมบัติ ก็ต้องมีการสร้างหลักประกันต่าง ๆ อย่างมากมาย

แต่กระนั้นพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 8)ก็ยังขอประทับเพื่อศึกษาต่อยังต่างประเทศไปก่อน โดยได้เสด็จกลับมาประเทศไทยเพียงช่วงสั้น ๆ ใน พ.ศ. 2481 และ อีกครั้งในตอนปลายปี 2488 ซึ่งได้ประทับอยู่จนถึงวันที่พระองค์ท่านสวรรคต ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 อันเป็นกรณีที่สั่นสะเทือนความรู้สึกของคนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความปลอดภัยขององค์มิ่งขวัญแห่งประเทศ ทำให้รัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ถูกมองไปในทางร้าย แม้ว่านายปรีดีจะยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เหตุการณ์ก็ไม่สงบ จนกระทั่งทหารได้ทำรัฐประหารในวันที่ 8พฤศจิกายน 2490

การรัฐประหารในครั้งนั้นถือว่าเป็น “จุดจบของคณะราษฎร” และเข้าสู่ยุค “ทหารครองเมือง” อย่างเต็มตัว แม้ว่าผู้นำทหารจะเป็นอดีตแกนนำของคณะราษฎรด้วยคนหนึ่ง คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีความคิดตรงกันข้ามกับกลุ่มของนายปรีดี โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งคณะรัฐประหารได้มีแนวทางที่จะฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ดังจะเห็นได้จากการที่ได้เปิดให้มีการคุ้มครองความมั่นคงและส่งเสริมพระราชอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492ที่ควบคุมการร่างโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (ดังที่ได้กล่าวมาในสองตอนแรกของบทความเรื่องนี้) รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพระมหากษัตริย์ให้แนบแน่นมากขึ้น อันทำให้ทหารเองก็ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น รวมถึงส่งผลต่อนายทหารคนหนึ่งที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เป็นพิเศษ คือพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ให้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และมีบารมีโดดเด่นเหนือกว่านายทหารคนใด ๆ รวมถึงเหนือกว่าจอมพล ป. นั้นด้วย

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นนักการเมือง “รุ่นใหม่” อยู่ในยุคนั้น ได้กล่าวถึงบรรยากาศของบ้านเมืองในยุคที่มีการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยนั่นว่า เต็มไปด้วย “ความถวิลหวัง” คือคนไทยมีความรู้สึกและคาดหวังอย่างรุนแรงเกี่ยวกับการคงอยู่ของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในช่วงที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จกลับมายังประเทศไทยทั้งสองคราวนั้น

คนไทยได้ไปคอยรับเสด็จอย่างล้นหลาม และปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้คนจำนวนมากทั่วประเทศได้ขวนขวายหาพระบรมฉายาลักษณ์มาติดไว้ในบ้าน ทั้งที่รูปถ่ายในสมัยนั้นยังมีราคาแพงมาก ครั้นพระองค์ท่านสวรรคต ประเทศไทยก็เหมือนมืดดับ คนไทยร้องไห้ระงมไปทั้งหมด แต่เมื่อรัชกาลที่9 ได้ขึ้นครองราชสืบแทนก็กลับคืนมาชุ่มชื่นเหมือนฟื้นคืนมีชีวิตขึ้นใหม่ โดยที่ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แล้วให้พระเจ้าน้องยาเธอภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชสืบแทนนั้น พระองค์ท่านได้เสด็จไปศึกษาต่อจนกลับมาประเทศไทยใน พ.ศ. 2492ซึ่งคนไทยก็ไปคอยรับเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองบรรยายความรู้สึกแทนคนไทยทั้งประเทศในตอนนั้นว่า “เหมือนคนไทยได้หัวใจกลับคืนสู่ร่าง”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คือ “พระมหากษัตริย์นักปฏิรูปอย่างแท้จริง” เพราะไม่เพียงแต่จะปฏิรูปประเทศในหลาย ๆ ด้านอย่างยิ่งใหญ่แล้ว ยังปฏิรูปพระองค์เองให้เป็น “พระมหากษัตริย์ยุคใหม่” ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับพระมหากษัตริย์แปรเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะพระองค์ไม่เพียงแต่จะเป็น “เทพจากสวรรค์” แต่ยังเป็น “พ่อในหัวใจประชาชน” อีกด้วย

ความสัมพันธ์เช่นนี้นักรัฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งเรียกว่า “ราชประชาสมาศัย” ซึ่งจะได้อธิบายต่อไป

*******************************