การทำแผนที่สยาม (ตอนที่แปด): พม่าเสียเมือง
โดย... ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
************
พระมหากษัตริย์พม่าสองพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าจักกายแมงและพระเจ้าพุกามต่างมีนโยบายที่แข็งกร้าวต่ออังกฤษโดยไม่ตระหนักถึงความเหนือกว่าของประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ทำให้พ่ายแพ้สงครามและต้องเสียดินแดนไป จากนั้น เมื่อพม่าเปลี่ยนรัชกาล พระเจ้ามินดงเริ่มเปลี่ยนท่าที หันมาประนีประนอมมากขึ้นกับอังกฤษและพยายามติดต่อประเทศอื่นๆในยุโรปเพื่อหวังให้ถ่วงดุลกับอังกฤษ
แต่กระนั้น ก็เกิดความขัดแย้งในประเด็นเกี่ยวกับจารีตการถอดรองเท้าเข้าราชสำนักและเข้าวัดวาอารามที่ฝรั่งไม่คุ้นเคยและไม่ยอมถอดโดยอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินสยาม (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้เปลี่ยนแปลงจารีตนี้ให้อารยะขึ้นแล้ว แต่พระเจ้ามินดงไม่ยอมในเรื่องรองเท้า จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับอังกฤษตึงเครียดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการรับมือของอังกฤษ พระเจ้ามินดงทรงปรับปรุงกิจการภายในประเทศหลายอย่างทั้งในด้านการปกครอง การเศรษฐกิจ การทหาร การสาธารณูปโภค การคมนาคม และการศาสนา กล่าวได้ว่า พระเจ้ามินดงทรงมีขันติธรรมทางศาสนามากกว่ากษัตริย์พระองค์อื่นๆ ของพม่า พระองค์ทรงปรารถนาที่จะฟื้นฟูความรุ่งโรจน์ของพม่าขึ้นมาใหม่ โดยการย้ายราชธานีจากกรุงอมรปุระไปอยู่ที่กรุงมัณฑะเลย์ (Mandalay) ในปี พ.ศ. 2400
อย่างไรก็ดี เสถียรภาพในราชบัลลังก์ของพระองค์ไม่มั่นคงเพราะ พระราชโอรสสองพระองค์ของพระเจ้ามินดงก่อการกบฏขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2409 (ปลายรัชกาลที่สี่) พร้อมกับปลงพระชนม์เจ้าชายคะนอง (พระอนุชาของพระเจ้ามินดง) ซึ่งดำรงตำแหน่งรัชทายาท แต่พระเจ้ามินดงทรงสามารถปราบปรามการกบฏได้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลทำให้พระเจ้ามินดงไม่ทรงแต่งตั้งรัชทายาทองค์ต่อไป เพราะทรงเกรงว่า จะเป็นการนำเคราะห์กรรมมาสู่รัชทายาทอีก แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นตามมาก็คือหลังจากที่พระเจ้ามินดงสวรรคต เกิดการแย่งชิงราชสมบัติและปลงพระชนม์เจ้านายที่มีสิทธิในราชบัลลังก์เป็นจำนวนมาก การแย่งชิงราชสมบัติและสังหารกวาดล้างแบบไม่ให้เหลือซากนี้ ถือ “แบบฉบับของประเพณีการสืบราชสันติวงศ์ของพม่า” นั่นคือ การกำจัดผู้ที่ต้องสงสัย... ให้หมดเสี้ยนหนามของแผ่นดิน และวงจรนี้หมุนวนไปจนพม่าสิ้นสถาบันพระมหากษัตริย์ !
หลังจากศึกชิงบัลลังก์ครั้งใหญ่ในราชสำนัก ในที่สุดพระราชบุตรเขยของพระเจ้ามินดงได้ขึ้นครองราชย์ได้สำเร็จในพระนาม “พระเจ้าธีบอ”
พระเจ้าธีบอ
ขณะที่พระเจ้าธีบอเสด็จขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.2421-2428/อยู่ในสมัยรัชกาลที่ห้า) นั้น พื้นที่ทางตอนใต้ของพม่าได้ตกเป็นของอังกฤษมาแล้วเป็นเวลา 6 ปี พระเจ้าธีบอกลับทรงยึดในแนวทางดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์สามพระองค์ก่อนสมัยพระเจ้ามินดง นั่นคือ พระองค์ประกาศชัดเจนให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าพระองค์มุ่งมั่นที่จะเอาแผ่นดินดังกล่าวให้กลับคืนเป็นของพม่า เมื่ออังกฤษรู้ว่าพระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นดังกล่าวและพยายามเดินหมากด้วยการสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับทางฝรั่งเศส ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับอังกฤษเริ่มจืดจางลงอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2423
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สภาวะเงินสำรองของพม่าเข้าขั้นวิกฤต ทำให้รัฐบาลต้องเก็บภาษีจากชาวนาชาวไร่เพิ่ม จากความต้องการเงินเข้าแผ่นดิน ทำให้รัฐบาลออกสลากกินแบ่งขึ้นเป็นครั้งแรกในพม่า และได้รับความนิยมในช่วงแรก แต่ต่อมาได้กลายเป็นนโยบายที่ผิดพลาดเพราะคนพม่าจำนวนมากต้องล้มละลายไป จนต้องยกเลิกการออกสลากไปในที่สุด
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเอาดินแดนคืนจากการยึดครองของอังกฤษ ในที่สุดในปี พ.ศ. 2428 พระเจ้าธีบอได้ทรงประกาศอย่างเป็นทางการเรียกร้องให้ชาวพม่าร่วมกันลุกขึ้นปลดปล่อยดินแดนตอนใต้ของพม่าจากอังกฤษ แต่การกระทำดังกล่าวของพระองค์เป็นการประเมินสถานการณ์และการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เพราะอังกฤษถือโอกาสใช้คำประกาศของพระองค์เป็นข้ออ้างว่า พระองค์เป็นผู้ทรงละเมิดสนธิสัญญา
อังกฤษฉกฉวยโอกาสนี้ในการสานต่อแผนการณ์การยึดครองพม่าที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2367 อังกฤษและพม่าเข้าสู่สงครามครั้งที่สามที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 แม้สงครามจะจบลงในวันที่ 29 พฤศจิกายน แต่มีบางส่วนของพม่าที่ยังทำการต่อต้านและก่อความไม่สงบต่อการยึดครองของอังกฤษต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2430
แผนการณ์ของอังกฤษที่ต้องการพิชิตพม่าทั้งประเทศก็สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงได้ จากการที่กองกำลังทหารของอังกฤษที่เหนือกว่ามากทำให้สามารถได้ชัยชนะต่อพม่าอย่างง่ายดายได้ภายในระยะเวลาเพียงยี่สิบสี่ชั่วโมงเท่านั้น และหลังจากนั้น พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เดินทางไปพำนักในอินเดียภายใต้การควบคุมดูแลของอังกฤษ พ.ศ. 2428 ถือเป็นปีที่สิ้นสุดของเอกราชและระบอบกษัตริย์และราชวงศ์ของพม่า
พระเจ้าธีบอกลายเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของพม่า !
ในปี พ.ศ. 2428 หลังจากที่อังกฤษยึดพม่าได้อย่างสมบูรณ์แล้ว พระเจ้าธีบอซึ่งถูกถอดออกจากการเป็นกษัตริย์ ถูกอังกฤษส่งไปประทับที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย พร้อมด้วยพระมเหสีและพระธิดาที่ยังเป็นทารกน้อยสองพระองค์
ในตอนแรกๆ พระองค์และครอบครัวยังได้รับการปฏิบัติดูแลจากอังกฤษอย่างดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป สถานะความเป็นอยู่ก็แย่ลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่อยู่อาศัยและเงินทองในการจับจ่ายใช้สอย พระเจ้าธีบอทรงเก็บตัวไม่เสด็จออกจากที่พักตลอดระยะเวลาที่ทรงประทับอยู่ที่รัตนคีรี พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 57 พรรษาในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2459 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่หก)
นั่นหมายถึง พระองค์ต้องทรงทนใช้พระชนม์ชีพในสภาพของอดีตกษัตริย์ผู้ทำให้พม่าต้องสูญเสียเอกราชด้วยน้ำมือของพระองค์เองเป็นเวลาถึง 31 ปี ภายใต้การถูกปฏิบัติอย่างไม่สมพระเกียรติ กระทั่งในวาระสุดท้าย พระบรมศพยังถูกฝังอยู่บริเวณกำแพงเล็กๆ ติดกับสุสานฝรั่งเท่านั้น
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าธีบอ พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ก็ยังคงประทับอยู่ในอินเดียต่อไป แต่บางพระองค์ก็พยายามที่จะหาทางกลับพม่า พระธิดาพระองค์โตของพระองค์ได้หนีตามคนขับรถไปและใช้ชีวิตมีทายาทสืบสานอยู่ในอินเดียต่อไปจนถึงไม่นานมานี้ !
ในปี พ.ศ. 2538 หนังสือพิมพ์ “ฮินดูสถานไทม์ส” (The Hindustan Times) ฉบับวันที่ 16 กันยายน รายงานว่า “มีผู้บันทึกว่า ก่อนพระนาง (พระธิดาองค์โตของพระเจ้าธีบอ) สิ้นพระชนม์ พระองค์อยู่ในสภาพที่ยากแค้นลำเค็ญอย่างแสนสาหัส ชาวบ้านแถบนั้นต้องช่วยกันเรี่ยไรเงินเพื่อทำศพพระองค์ พระองค์มีบุตรสาวคนหนึ่งกับโกปาล คนขับรถที่เธอหนีตามมา แต่โกปาลได้เสียชีวิตไปก่อน บุตรสาวที่ว่านี้มีชื่อว่า ตูตู (Tu Tu) เติบโตมาท่ามกลางความยากจน ไม่รู้หนังสือ ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพื้นเพความเป็นราชนิกูลรัชทายาทของพระเจ้าธีบอแห่งราชวงศ์อลองพญาที่เคยยิ่งใหญ่รุ่งเรืองของพม่า สิ่งเดียวที่หลงเหลือตกมาถึงเธอก็คือ ภาพวาดใบหน้าเศร้าๆของแม่ของเธอ ที่เธอแขวนไว้บูชากับเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้าน
ด้วยความยากจนและไม่มีการศึกษา ตูตูได้แต่งงานกับช่างเครื่องท้องถิ่นคนหนึ่ง และมีลูกหกเจ็ดคน เด็กๆ เหล่านั้นได้กลายเป็นคนอินเดียทั้งในการนับถือศาสนา วัฒนธรรม และรูปร่างหน้าตา ตูตูในขณะนี้เป็นหญิงแก่ ไม่รู้จักภาษาพม่า และยังคงอาศัยอยู่ในรัตนคีรี เธอหาเลี้ยงชีวิตวันต่อวันด้วยการทำดอกไม้กระดาษขาย”
ส่วนพระธิดาองค์เล็กของพระเจ้าธีบอ ชะตากรรมของเธอไม่ได้ย่ำแย่นัก เธอเกิดที่รัตนาคิรีในปี พ.ศ. 2430 และต่อมาในปี พ.ศ. 252 เธอได้กลับพม่า และอีกสองปีต่อมา เธอได้แต่งงานกับอู เนียง (U Naing) ผู้ที่เคยบวชเป็นพระมาก่อน เธอเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2479 มีบุตรชายสี่คน บุตรสาวสองคน บุตรชายคนโตถูกลอบสังหารในพม่าในปี พ.ศ. 2491 ในช่วงที่พม่าต่อสู้เรียกร้องเอกราช ซึ่งเข้าใจว่า ฝ่ายที่ลอบสังหารเกรงว่า ถ้าปล่อยให้เขามีชีวิตอยู่ อาจจะมีอิทธิพลต่อการรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์กลับคืนมาอีกได้ ส่วนบุตรคนรองชื่อ ตอ พญา (Taw Phaya) ที่เกิดในปี พ.ศ. 2467 หนังสือพิมพ์ The Independent ของอังกฤษ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553 รายงานว่า เขายังคงมีชีวิตอยู่ในพม่าจนถึงขณะนั้น
อู โซ วิน หนึ่งในเหลนของพระเจ้าธีบอ (รูปนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2559)
ตั้งแต่พระเจ้าธีบอสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2459 หลุมศพของพระองค์ก็ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครสนใจดูแล จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เองที่ประธานาธิบดีเต็งเส็งได้เดินทางไปคารวะหลุมศพพระองค์ที่อินเดีย ถือเป็นผู้นำพม่าคนแรกในรอบเกือบศตวรรษที่เดินทางมาเคารพกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของพม่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นครั้งแรกในรอบเกือบหนึ่งร้อยปีที่พระบรมศพของพระเจ้าธีบอได้รับการรำลึกไว้อาลัยอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลพม่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลุมศพอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมผุพังอย่างยากที่จะอธิบาย ประธานาธิบดีเต็งเส็งได้กล่าวถึงการเชิญทายาทที่เหลือทั้งหมดของพระเจ้าธีบอให้กลับไปพม่าอีกด้วย และจากการมาเยือนอินเดียของประธานาธิบดีเต็งเส็ง ทางการอินเดียได้มีแผนการณ์ที่จะบูรณะหลุมศพพระเจ้าธีบอเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างอินเดียกับพม่า
แน่นอนว่า ถ้าเปรียบเทียบพม่ากับไทย ชัดเจนว่า พม่าเสียบ้านเสียเมืองและเสียเอกราช
*******************