posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (4)

22 พฤษภาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

***************

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการเมืองการปกครอง ผู้นำฉลาด ชาติก็เจริญ

การศึกษาของขุนแผนเป็นแบบอย่างที่น่าสนใจของการศึกษาในสมัยอยุธยา ซึ่งล้วนแต่เป็น “การศึกษานอกระบบ” หรือ “การศึกษาตามอัธยาศัย” ไปทั้งหมด เพราะไม่ได้มีการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ ได้แก่ ไม่มีโรงเรียน ไม่มีครูที่มีใบประกอบวิชาชีพ และหลักสูตรการเรียนการสอน ที่รวมถึงระบบการประเมินการจบการศึกษา อย่างที่เพิ่งมามีการจัดการให้เป็นมาตรฐานในสมัยรัชกาลที่5 ของกรุงรัตนโกสินทร์

คนไทยในยุคขุนแผน ขาดความเท่าเทียมในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เริ่มต้น ผู้หญิงจะถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการศึกษา ผู้ชายเท่านั้นที่จะได้รับการศึกษา ทั้งยังขึ้นอยู่กับความสนใจและการผลักดันของพ่อและแม่เป็นส่วนใหญ่

ในกรณีของขุนแผนที่มีพ่อเป็นทหาร ก็ต้องการที่จะให้ขุนแผนรับราชการเป็นทหารต่อไป เมื่อขุนไกรถูกประหารชีวิตแล้ว นางทองประศรีผู้มารดาก็พาขุนแผนหนีราชภัยมาอยู่ที่เมืองสุพรรณ ตอนนั้นขุนแผนย่างเข้าวัยหนุ่มแล้ว คือมีอายุ 15 ปี แต่เดิมขุนแผนคงได้รับการศึกษาพื้นฐานต่าง ๆ มาจากกาญจนบุรีบ้างแล้ว อย่างน้อยก็สามารถอ่านออกเขียนได้ และมี “วิชาการ” อย่างที่สมัยโบราณนั้นก็คือ “คาถาอาคม” ต่าง ๆ มาบ้าง

แต่เมื่อจะต้องเป็นคนที่ “เก่งกล้า” ให้สมฐานะที่จะมีอาชีพทหาร ก็จำเป็นจะต้องศึกษาวิชาการต่าง ๆ คือคาถาอาคมทั้งหลายให้ “แก่กล้า” คือมีความสามารถอย่างเชี่ยวชาญนั้นด้วย (ถึงตรงนี้ผู้เขียนก็นึกถึงเรื่องของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ที่เรียกย่อ ๆ ว่า “โรงเรียนนายร้อย จปร.” หรือที่ปัจจุบันมีบางคนเรียกว่า “โรงเรียนนายกรัฐมนตรี” ก็คงจะเป็นค่านิยมของผู้นำไทยในยุคหลัง ๆ ที่ถ้าหากอยากจะเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง ก็ต้องขวนขวายเข้าเรียนในโรงเรียน จปร.แห่งนี้ให้ได้ จึงนับเป็นความไม่เท่าเทียมกันในทางสังคม และเป็นการผูกขาดตำแหน่งผู้นำทางการเมืองการปกครองมาโดยตลอดอีกด้วย)

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนถึงระบบการศึกษาในสมัยอยุธยา ด้วยการยกเรื่องการศึกษาของขุนแผนขึ้นมาอธิบายว่า “ขุนแผนเริ่มการศึกษาเมื่ออายุ 15 ปี แต่การศึกษาของขุนแผนนั้น คงมิใช่แต่เรียนหนังสืออย่างเช่นคนธรรมดาสามัญ แต่ขุนแผนต้องการเรียนวิชาที่จะเป็นทหารต่อไปตามตระกูลของตน ขุนแผนจึงคิดจะเข้าโรงเรียนนายร้อย จปร.ว่างั้นเถอะ ขุนแผนจึงขอให้เอาตัวไปบวชเณร แล้วฝากให้เรียนวิชาการกับพระสงฆ์องค์ใดที่วิชาการดี” ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “วิชาการ” ที่ว่านี้ก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับคาถาอาคมหรือการแสวงหา “ของดี” หรือเครื่องรางของขลังทั้งหลายนั่นเอง โดยอ้างถึงในสมัยกรุงธนบุรีก็ยังมี “กรมวิชาการ” อยู่ในทำเนียบกองทัพไทยในสมัยนั้น ซึ่งกรมวิชาการนี้มีหน้าที่ผลิตและแจกจ่าย “ผ้าประเจียดและเครื่องรางของขลัง” ตลอดจนเป็นแหล่งแห่งคาถาอาคม ตำรับพิชัยสงคราม และอื่น ๆ ที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ในการทหารอีกด้วย

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า “การเชื่อถือเครื่องรางของขลังผ้าประเจียด ในการสงครามนี้ เคยเป็นปัญหาในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถือ ทหารในกองทัพหลวงและกองทัพพระราชวังบวร ซึ่งระดมมาเพื่อจะสู้ศึกพม่า ซึ่งรุกรานเข้ามาในพระราชอาณาเขตถึง 9 ทางนั้น ปรากฏว่าเป็นคนมากครูมากอาจารย์ มีผ้าประเจียดเครื่องรางแตกต่างกันไปมากมายหลายอย่าง

เมื่อระดมเข้ามาอยู่ด้วยกันแล้วก็มักจะลองของกัน ... ก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในกองทัพในที่สุด ทหารเริ่มจะทะเลาะเบาะแว้งกัน เริ่มถือพวกถือพ้อง ขาดความสามัคคี ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าฯให้ริบเครื่องรางของขลังและผ้าประเจียดจากทหารทั้งกองทัพ เอามากองไว้ที่สนามหลวง แล้วจุดไฟเผา อย่างเดียวกันกับที่ในสมัยหลังเคยเผายาเสพติด...”

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท เสด็จลงในพระอุโบสถวัดชนะสงคราม ทรงลิขิตอักขระลงในผ้าขาวและทรงบริกรรม จนมีจำนวนมากพอจะแจกจ่ายแก่ทหารทั้งกองทัพ “อักขระขอมที่ทรงลงในผ้าประเจียดนั้น เป็นอักขระตัวเดียว คือคำว่า อุ หมายถึง อุณาโลม ซึ่งอยู่บนพระนลาฏของพระพุทธเจ้า เป็นของสูง ... กองทัพไทยที่ไปรบพม่าที่จังหวัดกาญจนบุรี และขับไล่พม่าออกไปจากดินแดนไทยเป็นครั้งสุดท้าย ไม่ได้กลับมาอีกเลยนั้น ก็เลิกการแตกครูแตกอาจารย์ มีแต่อาจารย์คนเดียวคือ พระบาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ความสามัคคีและเอกภาพก็เกิดขึ้นในกองทัพไทย และยังอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ เพราะอักษรขอมที่อยู่หน้าหมวกทหารทุกกองทัพในปัจจุบัน ที่เรียกว่าอุณาโลมนั้น เป็นอักขระขอมตัวเดียวกันกับตัว อุ ที่ได้ทรงลงไว้บนผ้าประเจียดก่อนที่จะทัพไปรับพม่าที่เมืองกาญจนบุรี” (ดีนะที่มีการระงับไม่ให้นักการเมืองบางคนผลิตเหรียญ “หลวงพ่อป้อม” ไม่งั้นก็อาจจะมีใครไปผลิตเหรียญหลวงพ่ออื่น ๆ เช่น หลวงพ่อแดง หลวงพ่อแป้ง ฯลฯ ออกมาแข่งกัน ก็จะเป็นปัญหาเหมือนครั้งสมัยสงครามพม่านั้น)

กล่าวถึงการศึกษาของขุนแผน ขั้นแรกขุนแผนได้ไปบวชเณรที่วัดส้มใหญ่ใกล้บ้าน เริ่มเรียนวิชาหนังสือไทยและหนังสือขอม อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดเข้าไปถึงคาถาอาคมต่าง ๆ และสามารถท่องจำคาถาต่าง ๆ ได้หมดภายในเวลาไม่ถึงปี จากนั้นก็ไปเรียนวิชากับขรัวมีที่วัดป่าเลไลย์ ภายในเวลาแค่ 3เดือนก็สามารถเทศน์มหาชาติได้ และด้วยน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ ทำให้เป็นที่นิยมของญาติโยม โดยได้มารู้จักสนิทสนมกับนางพิมพิลาไลยที่นี่ ถึงขั้นนัดหมายไปพบกันที่ไร่ฝ้ายนอกวัด กระทั่งเกิดเป็นนิยายรักสามเส้าในเวลาต่อมา

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า วิชา “ทำเสน่ห์” ก็เป็นวิชาการที่สำคัญในสมัยโบราณ ซึ่งขุนแผนน่าจะได้เรียนจากขรัวมีที่วัดป่าเลไลย์นี้ ซึ่งการทำเสน่ห์ไม่เพียงแต่จะทำให้คนรักคนหลงเท่านั้น แต่ยังเป็นวิชาของชายชาตรี ที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ไว้ผูกมัดใจหญิงสาว ในอันที่จะแสดงความเป็นชายชาตรีนั้นด้วย แต่คุณค่าของการทำเสน่ห์ในทางการเมืองการปกครองก็น่าจะมีอยู่ด้วย กล่าวคือ คนที่สามารถประจบประแจงเจ้านายได้ดี ก็จะได้รับโชควาสนาได้ดิบได้ดีและเติบโตในตำแหน่งต่าง ๆ ในทางราชการนั้นด้วย

หลายปีก่อนผู้เขียนไปกราบหลวงพ่อโตที่วัดป่าเลไลย์ที่สุพรรณบุรี ออกจากพระวิหารมาข้างนอกด้านหลังระเบียงคต เคยเห็นมีพ่อค้ามานั่งแกะไม้กาฝากเป็นรูปนกสาลิกา ขนาดเล็ก ๆ กว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย ขายตัวละ 20 บาท แต่เมื่อช่วงสงกรานต์ปีนี้ได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตอีกครั้ง ก็ไม่เห็นมีขายแล้ว นี่กระมังอาจจะเป็นเพราะที่วัดป่าเลไลย์นี้เคยมีชื่อเสียงเรื่อง “สาลิกาลิ้นทอง” หรือเปล่า เสียดายที่ไม่ได้ซื้อมาบูชา ไม่งั้นอาจจะได้ดิบได้ดีเป็น ส.ว.อยู่ค้างฟ้าไปได้นาน ๆ ร่วมกับผู้นำทหารของไทยในทุกชาติไป

แต่พระขุนแผนก็ยังมีให้บูชาอยู่มาก ลองไปหามาบูชาดูก็น่าจะดีเหมือนกัน!

*******************************