ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบสอง): Old Siam, Young Siam และ Conservative Siam
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
**************
คำว่า Young Siam หรือ สยามหนุ่ม เป็นคำที่หมอสมิธ มิชชันนารีอเมริกันใช้เรียกชนชั้นสยามกลุ่มหนึ่งในสมัยรัชกาลห้า กลุ่มที่ว่านี้คือผู้ที่เปิดรับอายรธรรมตะวันตก และคนเหล่านี้มักจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือรุ่นหนุ่มๆในขณะนั้น และอย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า Young Siam ก็น่าจะเทียบได้กับ new gen. ในสมัยนี้ และหมอสมิธบอกว่า คนที่เป็นสยามหนุ่มได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าพระยาภาณุวงศ์ และกลุ่มเจ้านายและขุนนางหนุ่มๆ
หมอสมิธ หนังสือพิมพ์ Siam Repository
ขณะเดียวกัน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงชนชั้นนำที่นิยมฝรั่งหรือเป็นพวกสมัยใหม่ อันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) แต่ท่านเหล่านี้ หมอสมิธไม่เรียกว่าเป็น สยามหนุ่ม ! ทั้งๆที่ก็เปิดรับตะวันตกชัดเจนโดดเด่นจนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงกับกล่าวถึง
คำตอบก็คือ ท่านทั้งสี่นั้น แม้จะนิยมฝรั่ง แต่ก็ไม่แรงเท่ารุ่นถัดมา คือ รุ่นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะที่หมอสมิธเขียนถึงนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระชนมายุได้ 20 พรรษา ห่างจากคนรุ่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ประมาณ 40 ปี ส่วนเจ้าพระยาภาณุวงศ์ขณะนั้นอายุ 43 ปี ก็ไม่น่าจะจัดได้ว่าเป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เป็นคนรุ่นตรงกลางมากกว่า
พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แล้วทำไมหมอสมิธจึงจัดให้ท่านอยู่ในกลุ่มสยามหนุ่มด้วย ? หมอสมิธใช้เกณฑ์อะไรกันแน่ในการจัดว่าใครเป็นสยามหนุ่ม ?
ก่อนจะเฉลย จะขอเล่าประวัติความเป็นมาของเจ้าพระยาภาณุวงศ์ เดิมท่านชื่อ ท้วม บุนนาค เป็นบุตรของ ดิศ บุนนาค หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และเป็นน้องของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้พี่ก็ได้นำร่องสนใจนิยมความรู้ตะวันตกไปล่วงหน้าแล้ว เพราะเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นคนไทยคนแรกที่สนใจเรียนวิชาต่อเรื่อกำปั่นแบบฝรั่งและได้เรียนภาษาอังกฤษอยู่บ้าง
ดังนั้น พอถึงรุ่นคุณท้วม การเรียนรู้วิชาการและภาษาฝรั่งก็จะเข้มข้นขึ้นเป็นธรรมดา ถ้าคนรุ่นพี่เห็นความสำคัญ ก็คงอยากให้น้องๆได้มากขึ้น ดังนั้น ตามประวัติการศึกษาของคุณท้วม จะพบว่า ภาษาอังกฤษของท่านนั้นเรียกได้เลยว่า ดี และเมื่อได้มีโอกาสได้เดินทางไปในคณะทูตที่ไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2400 ในสมัยรัชกาลที่สี่ ซึ่งเป็นคณะทูตคณะแรกในประวัติศาสตร์การทูตของไทยกับอังกฤษ คณะทูตนี้ที่มีหม่อมราโชทัย (กระต่าย อิศรางกูร) เป็นล่าม
แน่นอนว่า คนที่เรียนภาษาอังกฤษจนใช้การได้ดีตั้งแต่อยู่เมืองไทย และยิ่งได้ไปเมืองนอกก็จะยิ่งใช้การได้ และสามารถรับรู้ซึมซับประสบการณ์เมืองฝรั่งได้มากกว่าคนที่ไม่รู้ภาษา
ทีนี้ เมื่อเข้าสู่รัชกาลที่ห้า หนึ่งปีหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณท้วม บุนนาค (ขณะนั้นเป็นพระยาเทพประชุน) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีการท่า หรือกระทรวงต่างประเทศในปัจจุบันและได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาภาณุวงศมหาโกษาธิบดี แต่ผู้ที่แต่งตั้งหาใช่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่คือคุณช่วง ผู้พี่ หรือขณะนั้นคือ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะในตอนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2411 นั้น พระองค์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ พระชนมายุเพียง 15 พรรษาเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์
แต่การที่ คุณท้วม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีการท่าในขณะที่อายุ 38 ปี เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน สมควรต้องขยายความ เพราะจะทำให้ตัดสินได้ว่า การที่หมอสมิธจัดให้ท่านอยู่ในกลุ่มสยามหนุ่มร่วมกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นการจัดที่ถูกหรือผิด ? เพราะท่านไม่ใช่คนรุ่นหนุ่ม แต่ก็ไม่ใช่คนรุ่นแก่ !
ขำ บุนนาค ท้วม บุนนาค
จริงแล้วๆ ก่อนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะตั้งคุณท้วมเป็นเสนาบดีกรมท่า สมเด็จเจ้าพระยาฯท่านได้ตั้งคุณขำ บุนนาคให้เป็นก่อน คุณขำก็เป็นน้องคนหนึ่งของสมเด็จเจ้าพระยาฯ แต่ต่างมารดา คุณขำหรือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดีเป็นเสนาบดีกรมท่าอยู่ แต่เป็นได้อยู่เพียงปีเดียวก็ถึงแก่อสัญกรรม ตำแหน่งก็เลยมาลงที่คุณท้วม ในฐานะน้องคนหนึ่งที่มีความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับต่างประเทศ
แต่ที่กล่าวมานี้ ยังไม่สลับซับซ้อนเท่าไร ! แต่ที่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนก็คือ ก่อนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะตั้งคุณขำให้เป็นเสนาบดีกรมท่า ผู้ที่ดูแลกรมท่าอยู่ก่อนคือ ไม่ใช่ขุนนางข้าราชการธรรมดา แต่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ นั่นคือ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระองค์เป็นพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พูดแบบชาวบ้าน ก็คือ กรมขุนวรจักรฯเป็นอาของรัชกาลที่ห้า
แล้วอยู่ดีๆ ทำไมสมเด็จเจ้าพระยาฯถึงตั้งคุณขำให้เป็นเสนาบดีกรมท่าได้ ? กรมขุนวรจักรฯท่านสิ้นพระชนม์หรือลาออกหรือชราภาพหรืออย่างไร ?
เปล่าเลย ! ท่านไม่ได้เป็นอะไรที่ว่ามาทั้งหมดนั้น แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯใช้อำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ปลดกรมขุนวรจักรฯ และแต่งตั้งคุณขำ น้องชายตัวเองให้เป็นแทน
อ้าว ! แล้วทำไมอยู่ดีๆไปปลดได้ ? มันต้องมีสาเหตุ !
สาเหตุที่ว่านี้คือ ท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯไม่พอใจกรมขุนวรจักรฯในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพิ่งเสด็จสวรรคต และจะต้องมีการประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีในการเลือกผู้ที่จะสืบราชสัตติวงศ์ และหลังจากที่ที่ประชุมได้มีความเห็นพ้องให้ “เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” เสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯเห็นสมควรให้ที่ประชุมนั้นเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าต่อไปเลย ในที่ประชุมไม่มีผู้ใดคัดค้านยกเว้นกรมขุนวรจักรฯ จนเกิดปากเสียงกันระหว่างท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯกับกรมขุนวรจักรฯขึ้น ตอนนั้นกรมขุนวรจักรฯมีพระชนมายุ 52 พรรษา ส่วนท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯอายุ 60 ปี
ช่วง บุนนาค กรมขุนวรจักรธรานุภาพ
การโต้เถียงที่ว่านี้เกิดขึ้นเพราะกรมขุนวรจักรฯไม่เห็นด้วยกับการที่ท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯจะมาให้ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้า เพราะอำนาจในการแต่งตั้งวังหน้าเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์มาตลอดตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และไม่เคยเลยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะให้ผู้อื่นหรือคณะบุคคลใดมีอำนาจดังกล่าวนี้ ดังนั้น การโต้แย้งของกรมขุนวรจักรฯคือการลุกขึ้นมาปกป้องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ปกป้องพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง
ดังนั้น ความขัดแย้งดังกล่าวนี้จึงสะท้อนว่า กรมขุนวรจักรฯอยู่ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและพยายามต่อต้านการใช้อำนาจผิดราชประเพณีของสมเด็จเจ้าพระยาฯ แต่ลำพังกรมขุนวรจักรฯพระองค์เดียวจึงไม่สามารถทัดทานอำนาจอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯได้ และเมื่อท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯแต่งตั้งให้คุณท้วมหรือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯดำรงตำแหน่งแทนกรมขุนวรจักรฯ คุณท้วมก็ย่อมต้องเป็นคนในฝ่ายของท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ เพราะนอกจากเป็นน้องชายแล้ว ยังได้รับการอุปถัมภ์ยกให้เป็นเสนาบดีกรมท่าอีกด้วย แล้วเจ้าพระยาภาณุวงศ์จะมาเป็นคนในกลุ่มสยามหนุ่มที่นำโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อย่างไร ? หมอสมิธคิดอะไรอยู่ !!??
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เข้าใจว่าท่านผู้อ่านคงเกิดคำถามในใจขึ้นมากมาย อาทิ
หนึ่ง ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯต้องผ่านการลงมติเห็นชอบจากที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี ไม่ใช่ขึ้นครองราชย์ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติหรือ ?
สอง ทำไมสมเด็จเจ้าพระยาฯจึงสามารถเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการแต่งตั้งวังหน้า จากเดิมที่การแต่งตั้งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ?
สาม ทำไมหมอสมิธถึงจัดให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์อยู่ในกลุ่มสยามหนุ่มที่มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเป็นผู้นำ ?
ปัญหามา ปัญญามี ต่อตอนต่อไปครับ