posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (13): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

17 มิถุนายน 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**********************

ในการตอบคำถามดังกล่าว ต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขการขึ้นครองราชย์ตั้งแต่สมัยอยุธยาและในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ก่อนการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

ในสมัยอยุธยา “กฎระเบียบในการสืบราชสันตติวงศ์..นั้นยังไม่แน่ชัด แม้ว่ากฎมณเฑียรบาลและพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน รวมทั้งเอกสารตะวันตกจะระบุว่า พระมหาอุปราชนั้นเป็นองค์รัชทายาทที่จะสืบบัลลังก์ และส่วนใหญ่นั้นจะเป็นพระราชอนุชาของกษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะพบว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่ขึ้นครองราชย์นั้นกลับเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์องค์ก่อน ความคลุมเครือดังกล่าวนี้ทำให้ขุนนางเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ นอกจากนี้ในอดีต ขุนนางทีมีอำนาจเข้มแข็งได้ฉวยโอกาสที่กษัตริย์ยังทรงพระเยาว์นัก หรือเกิดช่องว่างทางการเมือง ก่อการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เสียเอง”

และเงื่อนไขดังกล่าวในการเมืองอยุธยาก็ยังเป็นมรดกให้แก่การเมืองต้นรัตนโกสินทร์

อย่างที่ทราบกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยการปราบดาภิเษก และถ้าว่าตามคติความชอบธรรมในการขึ้นเป็นกษัตริย์ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่เรียกว่า “หลักปัญจราชาภิเษกหรือราชาภิเษกห้าประการ" ก็ถือว่าเข้าข่ายประการที่สาม นั่นคือ มงคลปราบดาภิเษก คือ อยู่ในตระกูลนักรบและเป็นผู้มีชัยเหนือข้าศึกศัตรู และพระองค์ได้ทรงทรงตั้งพระอนุชาที่ร่วมทำศึกมาด้วยกันเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งขณะที่แต่งตั้งนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทมีพระชนมายุได้ 39 พรรษา และพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงมีพระชนมายุได้ 14 พรรษา

ซึ่งการแต่งตั้งพระอนุชาที่ร่วมรบทัพจับศึกเป็นวังหน้าในสถานการณ์ที่ยังเต็มไปด้วยศึกสงครามย่อมเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลกว่าที่จะตั้งพระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ และพระมหากษัตริย์ขณะนั้นยังมีอำนาจบารมีในการแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้าโดยไม่มีบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทและอำนาจของกลุ่มเสนาบดีที่เกี่ยวข้องแต่อย่างไร

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาจากการแต่งตั้งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาที่มีความสามารถในการสงครามคือ ข้าราชการเริ่มแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย นั่นคือ ฝ่ายวังหลวงและฝ่ายวังหน้า โดยข้าราชการฝ่ายวังหน้ามีอยู่แต่เฉพาะในกรุงเทพฯ

ส่วนตามหัวเมืองจะเป็นข้าราชการฝ่ายวังหลวง ในตอนแรก ข้าราชการทั้งสองฝ่ายต่างปรองดองกันดี เพราะต่างเคยช่วยกันทำศึกสงครามมาก่อน และยังต้องช่วยกันต่อสู้ข้าศึกรักษาบ้านเมือง แต่ยี่สิบปีหลังจากนั้น ข้าราชการรุ่นเดิมที่เคยร่วมรบต่างเสียชีวิตไป ส่วนข้าราชการรุ่นหลัง แม้ว่ายังมีโอกาสร่วมทำศึกสงคราม แต่การเปลี่ยนจากการรักษาบ้านเมืองเป็นฝ่ายรุกข้าศึก

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถมักจะเสด็จไปเป็นจอมพล ทำให้พวกวังหน้าเป็นทัพหลวง ได้โอกาสรบพุ่งได้เกียรติยศ ส่วนพวกวังหลวงเป็นทัพสมทบ และได้รับการตำหนิติเตียนอยู่หลายครั้ง จึงเกิดความร้าวฉานขึ้นระหว่างข้าราชการทั้งสองฝ่าย โดยพวกวังหน้ามักดูหมิ่นว่าขุนนางวังหลวงไม่มีผู้ใดเข้มแข็งในศึกสงครามเหมือนที่ผ่านมา

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (13): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

ต่อมาในปี พ.ศ. 2346 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคต พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต พระลูกเธอของกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำสงคราม อีกทั้งพวกขุนนางวังหลังรุ่นหลังที่เริ่มมีบทบาทสำคัญ ต่างพากันกระด้างกระเดื่องร่วมกันคิดการกบฏ แต่ก็ล้มเหลว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดให้ถอดจากเพระองค์เจ้า แล้วสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ และลงโทษประหารชีวิตพระยากลาโหมราชเสนากับพวก

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงแต่งตั้งพระราชโอรส พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งในขณะนั้น พระองค์ทรงพระชนมายุได้ 38 พรรษา ก็ถือว่าสมเหตุสมผล เพราะพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรทรงเจริญพระชันษาและมีประสบการณ์พอสมควร

ต่อมาพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรในฐานะที่เป็นพระราชโอรสและดำรงตำแหน่งวังหน้ามาแล้วเป็นเวลา 6 ปี ก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคตในปี พ.ศ. 2352

แต่การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรถือว่าเป็นการปราบดาภิเษกไม่ต่างจากการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เพราะหลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคต ได้มีข่าวการคิดแย่งชิงราชสมบัติโดยฝ่ายกรมขุนกษัตรานุชิต ผู้เป็นบุตรพระเจ้ากรุงธนบุรี (เจ้าฟ้าชายสุพันธุวงศ์ในพระเจ้ากรุงธนบุรีและเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คือเป็นทั้งลูกของพระเจ้ากรุงธนบุรีและหลานของรัชกาลที่ 1 นั่นเอง)

พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรโปรดให้ไต่สวนและลงโทษบรรดาผู้คิดก่อการกบฏ หลังจากนั้น “พระราชวงศานุวงศ์ เสนาบดี แลสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย พร้อมกันเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเษก เป็นเอกอรรคมหาราชาธิราชดำรงพิภพสยามประเทศ”

จึงกล่าวได้ว่า นอกจากพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรในฐานะที่เป็นพระราชโอรสและดำรงตำแหน่งวังหน้ามาแล้วเป็นเวลา 8 ปี การปราบกบฏกรมขุนกษัตรานุชิตได้สำเร็จแสดงให้เห็นถึงกำลังอำนาจและบารมีในการสืบราชสมบัติ การคิดก่อการกบฏครั้งนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่นั้นยังเป็นสิ่งที่น่าสงสัยอยู่ ที่ว่าน่าสงสัย เพราะไม่แน่ใจว่าการก่อการกบฏนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะในพระราชพงศาวดาร กล่าวว่า มีอีกาคาบหนังสือมาทิ้งไว้ และหนังสือนั้นมีข้อความว่า กรมขุนกษัตรานุชิตและพวกคบคิดกับขุนนางหลายนายจะแย่งชิงราชสมบัติ !

คงไม่ใช่อีกา แต่น่าจะเป็นคนนั่นแหละที่คาบข่าวมาบอก หรือไม่ก็ปล่อยข่าวว่าจะมีการก่อกบฏ ถึงแม้จะไม่ได้มีมูลอะไร แต่เพื่อหาทางถอนรากถอนโคนสายพระเจ้ากรุงธนบุรีให้สิ้นซาก แต่ก่อนหน้านี้ ยังทำไม่ได้ถนัด เพราะเจ้าฟ้าชายสุพันธุวงศ์หรือกรมขุนกษัตรานุชิต นอกจากจะเป็นลูกพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่พระมารดายังเป็นพระราชธิดาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ดังนั้น กรมขุนกษัตรานุชิตก็มีศักดิ์เป็นหลานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯนั่นเอง เรื่องทุกอย่างก็คงจะยังสงบอยู่ ตราบเท่าที่สมเด็จพระพุทธยอดฯยังทรงพระชนม์ชีพอยู่

แต่ภายใต้วิธีคิดที่ตกทอดมาจากการเมืองสมัยอยุธยา ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯจะต้องรอบคอบ ไม่ปล่อยให้มีเงื่อนไขของผู้ที่จะสามารถท้าชิงราชบัลลังก์กับพระองค์อย่างชอบธรรม เพราะถ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ถูกทำรัฐประหาร กรมขุนกษัตรานุชิตในฐานะพระราชโอรสย่อมจะเป็นผู้หนึ่งที่มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์

ดังนั้น เพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางการเมือง ตัดบัวต้องไม่ให้เหลือใย

หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงแต่งตั้งพระอนุชา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือตำแหน่งวังหน้า ซึ่งการที่กษัตริย์ตั้งน้องชายเป็นวังหน้า ก็ถือว่าเป็นไปตามราชประเพณีที่ที่กระทำกันมา แต่ถ้าจะตั้งพระราชโอรสให้เป็นวังหน้า ก็ไม่ถือว่าผิดราชประเพณีเช่นกัน

ขณะนั้นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์มีพระชนมายุได้ 27 พรรษา ส่วนพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับ (ต่อมา กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ) มีพระชนมายุได้ 21 พรรษา ส่วนทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่หรือเจ้าฟ้ามงกุฎที่เป็นพระราชโอรสที่ประสูติในเศวตฉัตร (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) มีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา

ในกรณีดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่า พระอนุชา เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับมีพระชนมายุต่างกันไม่มาก และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับก็ทรงพระชนมายุได้ถึง 21(พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่1-4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค)เล่ม1,นนทบุรี:สำนักพิมพ์ศรีปัญญา:2555)หน้า397) พรรษาแล้ว และน่าจะมีคุณสมบัติความสามารถพอที่จะได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งวังหน้า เพราะในการปราบกบฏกรมขุนกษัตรานุชิต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ใหญ่ทรงเข้าจัดการจับกุมตัวบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ที่ร่วมคบคิดกบฏ ซึ่งพระองค์ก็ทรงสามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จลุล่วงจนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชทานที่วังและทรัพย์สิ่งของผู้คนของกรุมขุนกษัตรานุชิตให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ทั้งสิ้น

แต่แม้ว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่จะทรงพระปรีชาสามารถและเป็นพระราชโอรสพระองค์แรก แต่ก็ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย) ในขณะที่ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ เจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 43 และเป็นลำดับที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (13): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

                       รัชกาลที่สาม (พระองค์เจ้าชายทับ)                               รัชกาลที่สี่ (เจ้าฟ้ามงกุฎ)

ความแตกต่างในสถานะของพระมารดาหรือการประสูตินอกหรือในเศวตฉัตรน่าจะเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงแต่งตั้งพระอนุชาในตำแหน่งวังหน้าเพื่อรอเวลาให้ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ทรงเจริญพระชันษาและมีประสบการณ์มากพอ

หากแต่งตั้งพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับให้ดำรงตำแหน่งวังหน้าตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ หากไม่เกิดอุบัติเหตุอันใด พระองค์เจ้าชายทับก็ต้องเป็นผู้สืบราชสมบัติอย่างแน่นอนจากระยะเวลาและประสบการณ์ในการทำหน้าที่ในตำแหน่งวังหน้า

อย่างไรก็ตาม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ให้เหตุผลย้อนหลังอธิบายสาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตั้งพระอนุชา เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรด้วยเป็นเหตุผลจากเงื่อนไขหรือ “เหตุการณ์บังคับที่ทำให้ไม่สามารถทรงตั้งพระราชโอรสได้ เพราะพระอนุชา เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ดำรงพระยศเป็นพระบัณฑูรน้อยมาแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ รับพระบัณฑูรด้วย อันหมายความว่า ทรงมีพระราชโองการสถาปนาให้เป็นพระมหาอุปราช แต่ในกรณีของพระบัณฑูรน้อยคือ ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชที่รองลงมาจากพระมหาอุปราชที่ดำรงตำแหน่งอยู่ หรือเรียกว่าพระบัณฑูรใหญ่"

แต่กระนั้น เมื่อหมดเงื่อนไขบังคับ นั่นคือ ครั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคตในปี พ.ศ. 2360 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯก็มิได้ทรงแต่งตั้งกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์หรือผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งวังหน้าเป็นองค์รัชทายาท แต่ปล่อยให้ตำแหน่งว่างไปจนสิ้นรัชกาลเป็นเวลา 7 ปี ทั้งที่ในปี พ.ศ. 2360 กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มีพระชนมายุ 29 พรรษาแล้ว และเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงมีพระชนมายุเพียง 13 พรรษาเท่านั้น ซึ่งตีความได้ว่าพระองค์ทรงปรารถนาคาดหวังจะให้เจ้าฟ้ามงกุฎเป็นผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์

สรุปว่า เหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงรัชกาลที่หนึ่งและรัชกาลที่สอง ยังคงมีความพยายามทำรัฐประหารแย่งชิงบัลลังก์อยู่

ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2346 เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคต พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต พระลูกเธอของกรมพระราชวังบวรฯพยายามทำรัฐประหาร

ครั้งที่สอง พ.ศ. 2352 หลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯสวรรคต กรมขุนกษัตรานุชิตพระราชโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรีพยายามทำรัฐประหาร

แต่ไม่เกิดความขัดแย้งแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้ากับพระราชโอรสของกษัตริย์ในตอนสิ้นรัชกาลเหมือนในสมัยอยุธยา เพราะวังหน้าในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) สวรรคตไปก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯสวรรคตเป็นเวลา 6 ปี และหลังจากสิ้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงตั้งพระราชโอรส นั่นคือ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรขึ้นเป็นวังหน้า และครองตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลา 6 ก่อนจะปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์

ในสมัยรัชกาลที่สอง จะมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างวังหน้าและวังหลวงและพระราชโอรสหรือไม่ ? และด้วยเงื่อนไขอะไรที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายทับหรือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ที่ประสูตินอกเศวตฉัตรถึงได้ขึ้นครองราชย์ แต่เจ้าฟ้ามงกุฎที่เป็นพระราชโอรสที่ประสูติในเศวตฉัตรไม่ได้ขึ้น ? โปรดติดตามตอนต่อไป

(แหล่งอ้างอิง: พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่ม 1, (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา: 2555)