ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบสี่): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
****************
ในการทำความเข้าใจการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ.2411จำต้องเข้าใจความเป็นมาก่อนหน้านั้น นั่นคือ การสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า ปัญหาการสืบราชสมบัติของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาคือ ไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนแน่นอน ทำให้เกิดการใช้กำลังความรุนแรงแย่งชิงราชสมบัติ มีการทำรัฐประหารทั้งสิ้น 16 ครั้งใน 32 รัชกาลและในระยะเวลา 412 ปี ในรัฐประหาร 16 ครั้ง มีที่เกิดถี่ติดๆกันและเว้นห่าง และในการรัฐประหารทั้งหมดนี้เป็นการแย่งชิงภายในราชวงศ์ 11 ครั้ง ระหว่างราชวงศ์ 1 ครั้งและแย่งชิงราชบัลลังก์โดยขุนนาง 4 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ความไร้เสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองในการสืบราชสมบัติมิได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะกรณีของอยุธยาเท่านั้น แต่ยังพบปรากฎการณ์ทางการเมืองในลักษณะเดียวกันนี้ในรัฐยุโรปด้วย เช่นในกรณีของสวีเดน มีปรากฎการณ์ความขัดแย้งและการทำสงครามต่อสู้กันระหว่างกษัตริย์และอภิชนขุนศึกภายในรัฐที่ยืดเยื้อเรื้อรังกินเวลายาวนานเกือบตลอดช่วงศตวรรษที่สิบหก และอันที่จริงปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของสวีเดนดำเนินต่อเนื่องมาก่อนหน้าศตวรรษที่สิบหกแล้ว
โดยในช่วงระหว่างศตวรรษที่สิบเอ็ดจนถึงกลางศตวรรษที่สิบสี่ มีการใช้กำลังความรุนแรงในการแย่งชิงบัลลังก์กันอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระหว่างบรรดาบุคคลในราชวงศ์เองและกับพวกอภิชน ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สับสนวุ่นวายและการประหัตประหารกันอย่างไร้ศีลธรรม มีกษัตริย์สวีเดนหลายพระองค์ที่ต้องลี้ภัยออกไปจากสวีเดน ตั้งแต่ตอนกลางศตวรรษที่สิบเอ็ดจนถึง ค.ศ. 1397 โดยหลายพระองค์ต้องลี้ภัยออกไปอย่างน้อยก็ในช่วงหนึ่งในรัชสมัยของตัวเอง
หลายพระองค์มีสถานะกษัตริย์หรือได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ตั้งแต่ก่อนพระชนมายุหกขวบ หลายพระองค์ต้องสิ้นพระชนม์ด้วยโรคภัยหรือถูกสำเร็จโทษก่อนที่จะถึง 30 พรรษา และอย่างน้อยสิบห้าพระองค์หรือองค์รัชทายาทของพระองค์เหล่านั้นต้องถูกสำเร็จโทษหรือสิ้นพระชนม์ในศึกแย่งชิงบัลลังก์
ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 995-1172 เป็นระยะเวลา 177 ปี สวีเดนมีกษัตริย์ทั้งสิ้น 15 พระองค์ ถูกถอดถอนออกจากบัลลังก์ 4 พระองค์ และมีช่วงเวลาที่เกิดศึกชิงบัลลังก์ระหว่างคนในราชวงศ์หรือต่างราชวงศ์ ทำให้สวีเดนปราศจากกษัตริย์ที่สามารถปกครองได้อย่างแท้จริง หรือจำเป็นต้องให้มีกษัตริย์สองพระองค์ปกครองร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ การเมืองสวีเดนในช่วงยุคกลาง (ค.ศ. 995-1365) จึงถูกขนานนามว่าเป็น “กลียุคของกษัตริย์” (Kingly Chaos) หรือ “กลียุคของราชวงศ์” (Dynastic Upheaval)
อันที่จริง วิกฤตดังกล่าวก็ไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์เฉพาะของสวีเดน แต่เป็นสภาพการณ์ทั่วไปของการเมืองในยุโรปในช่วงเวลาเดียวกันด้วย เพียงแต่ของสวีเดนน่าจะมีความขัดแย้งสับสนวุ่นวายหนักกว่าในบรรดาประเทศในแถบสแกนดิเนเวียหรือในยุโรปโดยรวม กล่าวได้ว่า สภาพการณ์ทางการเมืองการปกครองของสวีเดนในอดีตเต็มไปความปั่นป่วนและยังมีปัจจัยศาสนาเข้ามา และสมการการต่อสู้ขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง เอกบุคคล (the one) หรือกษัตริย์ กลุ่มคน (the few) หรือพวกอภิชนขุนนาง และพระที่เป็นอภิชนฝ่ายศาสนจักรคาธอลิกที่เริ่มก่อตัวขึ้น และคนส่วนใหญ่ในที่ประชุมสภาท้องถิ่นต่างๆ (the many/ting) ที่มีสิทธิ์และอำนาจในการเลือกและถอดถอนกษัตริย์
อันที่จริง ตัวแสดงทางการเมืองของไทยในสมัยอยุธยาและของสวีเดนในช่วงดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกัน นั่นคือเป็นการเมืองของการต่อสู้และถ่วงดุลอำนาจระหว่างกษัตริย์ กลุ่มขุนนาง เพียงแต่ของไทยมีเงื่อนไขของตัวแสดงทางการเมืองที่เป็นวังหน้า แต่ไม่มีเงื่อนไขให้ตัวแสดงที่เป็นคนส่วนใหญ่หรือประชาชนได้มีบทบาททางการเมืองเหมือนของสวีเดน
ในกรณีของไทย เงื่อนไขการทำรัฐประหารแย่งชิงราชบัลลังก์ในสมัยอยุธยาได้ตกทอดมายังการเมืองสมัยต้นรัตนโกสินทร์ด้วย รัชกาลที่หนึ่งและรัชกาลที่สองเสด็จขึ้นครองราชย์จากการปราบดาภิเษก (ใช้กำลังอำนาจ) และในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างวังหน้ากับวังหลวงไม่ต่างจากสมัยอยุธยา และเป็นปัญหาที่สืบทอดมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ห้า
ในปี พ.ศ. 2367 ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต มิได้ทรงมีรับสั่งใดๆเกี่ยวกับผู้สืบราชสันตติวงศ์ พระราชโอรสสองพระองค์ในขณะนั้นคือ เจ้าฟ้ามงกุฎพระชนมายุ 20 พรรษา กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ 36 พรรษา ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า หลังการสวรรคต
“พระสังฆราชพระราชาคณะผู้ใหญ่ พระบรมราชวงศานุวงศ์ต่างกรม และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ซึ่งเป็นประธานในราชการแผ่นดินเห็นว่า พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาช้านาน ทั้งข้าทูลละอองธุลีพระบาทต่างมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านมาก สมควรจะครอบครองสิริราชสมบัติรักษาแผ่นดินสืบพระบรมราชตระกูลต่อไป จึ่งพากันเข้าเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามพิภพต่อไป...”
การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สาม (กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์) ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์จากความเห็นพ้องของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ และต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สี่และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้าก็เสด็จขึ้นครองราชย์ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้
เงื่อนไขที่ว่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเงื่อนไขของการสืบราชสมบัติโดยพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ประสูติในเศวตฉัตรโดยอัตโนมัติ แต่ขึ้นอยู่กับ “การเลือก” ของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ ถ้าเทียบกับประเทศในยุโรปสมัยโบราณ ก็ได้แก่ สวีเดนและเดนมาร์ก
Elective Monarchy
โดยสวีเดนในยุคไวกิ้งมีประเพณีการปกครองที่กษัตริย์จะต้องมาจากการเลือกของที่ประชุมท้องถิ่น (ที่เรียกว่า ting) ต่อมาได้มีการตรากฎหมายเป็นทางการที่กำหนดให้การขึ้นเป็นกษัตริย์จะต้องผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมขุนนางอภิชนและพระในราวกลางศตวรรษที่สิบสี่
ส่วนในกรณีของเดนมาร์ก ก่อน ค.ศ. 1665 การสืบราชสมบัติต้องมาจากการเลือกของขุนนางอภิชนและพระชั้นสูงในศาสนจักร อันเป็นที่รับรู้กันทั่วไปในยุโรปว่าการสืบราชสมบัติของเดนมาร์กเป็น “elective monarchy” ดังที่คำดังกล่าวนี้ปรากฏใน “Hamlet” บทละครที่มีชื่อเสียงที่สุดเรื่องหนึ่งของวิลเลียม เชคสเปียร์ มหากวีของอังกฤษและของโลก และที่เชคสเปียร์ต้องการกล่าวถึง “elective monarchy” เพราะ “Hamlet” เป็นเรื่องราวความขัดแย้งภายในราชวงศ์ของเดนมาร์ก
จะว่าไปแล้ว สาเหตุที่ที่ประชุมดังกล่าวเลือกกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นเป็นกษัตริย์ เพราะในสายตาของบุคคลในที่ประชุม พระองค์เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุดภายใต้เงื่อนไขขณะนั้น โดยความต้องการขณะนั้นคือ ต้องการผู้นำที่มีความสามารถทางการค้าและการคลัง และจากการที่พระองค์ตระหนักว่าพระองค์ประสูติแต่เจ้าจอมและมิได้เป็นองค์รัชทายาท ดังนั้น ในการที่พระองค์จะขึ้นเป็นกษัตริย์ พระองค์จึงต้องวางรากฐานกำลังเพื่อที่จะให้ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาขุนนางมาก่อนหน้าแล้ว การสั่งสมฐานอำนาจดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องกำลังคนหรือกำลังทหารเป็นหลัก
แต่เป็นเรื่องทางการค้า พระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการค้าและการสะสมความมั่งคั่ง จากการที่ได้ทรงรับราชการในหน้าที่กรมท่า และทรงสามารถหาเงินจากการแต่งสำเภาค้าขาย และเก็บภาษีขาเข้า มีรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใช้จ่ายในราชการแผ่นดินทุกอย่างทุกประการ จนทำให้การคลังมั่งคั่งมั่นคงจนพระราชบิดาทรงสัพยอกให้สมญาพระองค์ว่าเป็น “เจ้าสัว” แห่งกรุงสยาม การใช้กำลังความรุนแรงในบริบทขณะนั้นอาจจะไม่เป็นคุณต่อทั้งตัวพระองค์เองและต่อบ้านเมือง เพราะสยามขณะนั้นเพิ่งเริ่มตั้งกรุงใหม่ได้ไม่ถึง 42 ปี ยังมีศึกกับพม่าและญวนอยู่ หากพระองค์ใช้กำลังความรุนแรงในการช่วงชิงราชสมบัติ ย่อมเสี่ยงต่อการเกิดศึกกลางเมืองขึ้นได้ อีกทั้งการค้าเป็นเรื่องสำคัญหลักตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงใหม่ด้วย
ดังนั้น ถ้าพิจารณาตามหลัก “ปัญจราชาภิเษก” หรือราชาภิเษกห้าประการที่เป็นคติการปกครองในสมัยอยุธยา จะเห็นว่า การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่สาม เข้าลักษณะของ “มงคลโภคาภิเษก” นั่นคือ เป็นผู้มีความสามารถในการสั่งสมทรัพย์สินและความมั่งคั่ง ซึ่งในบริบททางการเมืองของสยามขณะนั้นต้องการ (demand) ชนชั้นนำที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเพื่อขึ้นเป็นชนชั้นปกครองตามทฤษฎีการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านชนชั้นปกครองของพาเรโต (the circulation of elite) ที่พาเรโตได้ประยุกต์หลักการ “demand-supply” มาใช้อธิบายการเมือง
การใช้กำลังอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นฐานสำคัญในการขึ้นครองราชย์นี้ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการแข่งขันแย่งชิงราชบัลลังก์จากการใช้กำลังความรุนแรงมาเป็นการสะสมอำนาจบารมีผ่านการประสบความสำเร็จในการค้าและการสะสมความมั่งคั่ง หลักการที่ผู้ที่จะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินจะต้องได้รับการยอมรับจากที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีคือ หลักการที่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ”
การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” แม้ว่าข้อความดังกล่าวจะไม่ได้ปรากฏในพระสุพรรณบัฏในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์ก็ตาม แต่ต่อมาปรากฏในพระสุพรรณบัฏในรัชกาลสี่
อย่างไรก็ตาม การสั่งสมอำนาจบารมีทางการค้าของพระองค์ในครั้งที่ยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ต้องอาศัยขุนนางผู้ใหญ่ โดยเฉพาะตระกูลบุนนาค ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผลักดันให้พระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ได้สำเร็จ ดังนั้นการขึ้นเสวยราชย์ของรัชกาลที่ 3 จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการขึ้นสู่อำนาจของขุนนางตระกูลบุนนาคด้วย
ดิศ ทัต ช่วง
ผู้นำขุนนางตระกูลบุนนาคที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯคือ ดิศ และ ทัต สองพี่น้องขุนนางตระกูลบุนนาค ที่ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ และบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์คือ ช่วง หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจอิทธิพลที่สุดในช่วงปลายรัชกาลที่สี่ต่อรัชกาลที่ห้า
(แหล่งอ้างอิงในส่วนของไทย: พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์; 200 ปีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์ครั้งแรกในวารสารข่าวช่าง ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2530; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย (2562); ในส่วนของเดนมาร์ก ดู ไชยันต์ ไชยพร, ปิยกษัตริย์: เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก, 1849 (2561))