ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (17): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
***************
การสืบราชสันตติวงศ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สามและรัชกาลที่สี่เป็นไปตามหลัก “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” อันหมายถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์จากการเห็นชอบของผู้คน และผู้คนที่ว่านี้คือ สมาชิกในพระราชวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งที่มาประชุมและลงความเห็นว่าสมควรจะให้ผู้ใดเป็นผู้สืบราชสมบัติ
และอย่างที่กล่าวไปในตอนก่อนๆแล้วว่า ในที่ประชุมนั้น ก็มักจะมีกลุ่มคนหรือคนบางคนที่มีเสียงดังกว่าคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถพบเห็นได้ในที่ประชุมทั่วไป น้อยนักที่จะไม่มีสภาพการณ์แบบที่ว่า และกลุ่มคนที่มีอำนาจอิทธิพลในที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่สองมาที่สามและที่สามมาที่สี่คือ กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค อันได้แก่ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) น้องชายของเจ้าพระยาพระคลัง และพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายของเจ้าพระยาพระคลังและเจ้าพระยารวิวงศ์ (ขำ บุนนาค) ผู้เป็นน้องต่างมารดาของพระยาศรีสุริยวงศ์
ดิศ ทัต ช่วง ขำ
ในปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้รับความเห็นชอบจากขุนนางตระกูลบุนนาคให้สืบราชสมับติแทนที่จะเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงษ์ พงษ์อิศรกระษัตริย์ ขัติยราชกุมาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงสถาปนาพระยศและพระนามให้ตั้งแต่ พ.ศ. 2359 และโดยพระนามก็สื่อชัดเจนในตัวแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตั้งพระทัยจะให้เจ้าฟ้ามงกุฎฯเป็นผู้สืบราชสมบัติ
สาเหตุที่ขุนนางตระกูลบุนนาคสนับสนุนกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เพราะพระองค์มีความสามารถและสนพระทัยในทางการค้า โดยพระองค์ได้ร่วมกันกับขุนนางตระกูลบุนนาคในการทำการค้ามาก่อนหน้าดังที่อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ดได้ทำการศึกษาและสรุปไว้ว่า “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และเจ้าพระยาพระคลังได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรในการตักตวงผลประโยชน์ส่วนตัวจากการค้าสำเภาหลวงและใช้อภิสิทธิ์ในการซื้อขายกับพ่อค้าชาวตะวันตก การจับมือเป็นพันธมิตรกันนี้หนุนให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นเจ้านายที่มีอำนาจโดดเด่นที่สุดและได้ขึ้นครองราชย์ในที่สุด”
และทรัพย์สินรายได้ที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงหาได้เป็นการส่วนพระองค์นี้ มีมากจนต้องเก็บในอีกห้องหนึ่งต่างหาก อันเป็นที่มาของ “คลังข้างที่” และ “เงินถุงแดง” ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อมีพระราชทรัพย์ในขณะที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทรัพย์ทั้งหมดจึงควรจะเป็นของแผ่นดินหาใช่พระราชทรัพย์ที่จะตกทอดถึงพระราชโอรส ธิดาของพระองค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า ในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ.112) กรุงเทพมหานครถูกยึดครองเป็นเวลาถึง 12 วัน ด้วยกองเรือรบติดอาวุธของฝรั่งเศสอย่างหมดหนทางต้านทานจากฝ่ายไทย
ฝรั่งเศสเรียกร้องให้มอบผืนแผ่นดินในพระราชอาณาเขตบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง พร้อมด้วยเงินค่าไถ่เป็นค่าปฏิกรณ์สงครามที่ฝ่ายไทยถูกกล่าวหาว่าก่อขึ้นก่อนโดยการเปิดฉากยิงเรือฝรั่งเศส คิดเป็นเงินสดจำนวนทั้งสิ้นรวม 5,000,000 ฟรังก์ เสนาบดีพระคลังมหาสมบัติถวายรายงานจำนวนเงินในพระคลังให้ทรงทราบ แต่ก็ไม่เพียงพอกับจำนวนที่ถูกเรียกร้องตามใจชอบของพวกฝรั่งเศสอยู่ดี
พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทูลเตือนให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ถึงเงินพระคลังข้างที่จากสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเก็บสะสมไว้จำนวนหนึ่งใน “ถุงแดง” เงินพระคลังข้างที่คือพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินรายได้แผ่นดินส่วนหนึ่ง ที่แบ่งถวายพระมหากษัตริย์เพื่อใช้จ่ายส่วนพระองค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทนสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้อาศัย “เงินถุงแดง” ใช้จ่ายเป็นค่าไถ่จากความเสียหายให้แก่ฝรั่งเศส
เงินถุงแดง
จากกรณีดังกล่าวนี้เองเป็นที่มาของเรื่องเงินถุงแดงไถ่เมือง ตามที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล นิพนธ์ไว้ในเรื่อง “เหตุการณ์ใน ร.ศ. 112 และเรื่องเสียเขตแดนใน ร.5” ดังความว่า“ฝรั่งเศสไม่ต้องการให้ไทยจ่ายค่าเสียหายเป็นธนบัตร หากต้องการเป็นเงินกริ๋งๆ คราวนี้ก็ต้องเทถุงกันหมด เงินถุงแดงข้างพระที่ๆ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่3 ทรงเก็บไว้ ด้วยมีพระราชดำรัสว่า “เอาไว้ถ่ายบ้านถ่ายเมือง” ก็ได้ใช้จริงคราวนี้ ผู้ใหญ่เล่ากันว่าเจ้านายในพระราชวังเทเงินถวายกันจนเกลี้ยง ใส่ถุงขนออกจากในวังทางประตูต้นสน ไปลงเรือทางท่าราชวรดิษฐ์กันทั้งกลางคืนกลางวัน…”
แล้วเมื่อใกล้สิ้นรัชกาลที่สาม ด้วยเงื่อนไขอะไรที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคถึงเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎฯให้เป็นผู้สืบราชสมบัติ ?
และไม่สนับสนุนหม่อมเจ้าอรรณพ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และไม่สนับสนุนเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ?
กล่าวได้ว่า ปัจจัยที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎฯสัมพันธ์กับบริบทางการเมืองของสยามขณะนั้น
กระนั้น การตัดสินใจเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎก็ใช่ว่าจะเป็นความเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกภาพในหมู่เสนาบดีผู้ใหญ่เสียทีเดียว เพราะถ้ากล่าวในภาษาทางการเมืองสมัยใหม่ ในช่วงปลายรัชกาลที่สาม จุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศในหมู่เจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งเริ่มมีความเป็น “ชาตินิยม (nationalistic) ” และมุ่งในนโยบายไม่ติดต่อกับต่างประเทศ (isolationist)
และจากจุดยืนดังกล่าวนี้ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านเจ้าฟ้ามงกุฎอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องด้วยพระองค์ทรงวิจารณ์รูปแบบของพุทธศาสนาของสยามและรับเอารูปแบบพุทธศาสนาจากพม่า ที่เป็นศัตรูของสยามมาตั้งแต่ในอดีต รวมทั้งการที่ทรงเป็นมิตรกับบรรดามิชชันนารีต่างชาติ แต่กระนั้นก็ตาม พระองค์ก็ไม่ได้ทรงมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่ปรากฎชัดเจนแต่อย่างใด พระองค์ไม่ได้ทรงก้าวก่ายในกิจการบ้านเมืองแต่อย่างใด มีบันทึกของชาวต่างชาติรายงานว่า พระองค์ทรงต้องครองพระองค์อย่างระมัดระวังและจะติดต่อสื่อสารกับคณะทูตในลักษณะที่ “เป็นการส่วนพระองค์และด้วยความระแวดระวังเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว กลุ่มขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดอันได้แก่ขุนนางรุ่นใหม่ในตระกูลบุนนาคได้ตระหนักในความสำคัญของพระปรีชาในความรู้ในภาษาต่างประเทศและวิทยาการและความเป็นไปของโลกตะวันตกของพระองค์ อันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจให้เท่าทันต่อโลกภายนอกสยาม และทรงมีทีท่าที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกไม่ต่างจากจุดยืนของกลุ่มขุนนางดังกล่าวนี้ที่ต้องการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับอังกฤษ นั่นคือ “สองพี่น้องตระกูลบุนนาครุ่นถัดมา ได้แก่ ช่วง และ ขำ บุนนาค กับเจ้าพระยาพระคลังผู้เป็นบิดาของทั้งคู่ และเจ้าฟ้ามงกุฎ สนับสนุนให้สยามปรับตัวเข้าหาฝ่ายอังกฤษ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามนำโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และพระยาศรีพิพัฒน์ จางวางพระคลังสินค้า ทั้งนี้ฝ่ายของเจ้าฟ้ามงกุฎถือเป็นชนชั้นนำกลุ่มแรกที่ปรับตัวให้เป็นแบบตะวันตก
อีกทั้งเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงได้รับความนิยมยกย่องในหมู่ประชาชนทั้งหลายและรวมทั้งมิชชันนารีชาวอเมริกัน โดยมีผู้ให้ความเห็นว่า ในช่วงที่ทรงผนวช พระองค์ได้ทรงสั่งสมบารมีอย่างต่อเนื่องในฐานะภิกษุผู้นำธรรมยุติกนิกายซึ่งเคร่งครัดในพระวินัยมากกว่านิกายอื่นในพุทธจักร แต่ด้วยความที่ทรงผนวชมาเป็นเวลานานราวสามทศวรรษทำให้พระองค์ไม่มีอำนาจต่อรองกับขุนนางตระกูลบุนนาคมากนัก ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมเสนาบดีไม่เห็นด้วยที่จะเลือกพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ตัดสินใจเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในสายตาของกลุ่มขุนนางดังกล่าวที่เป็นคณะบุคคลที่ทรงอำนาจทางการเมืองของสยามในขณะนั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
และเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) แม้ว่าจะทรงสนพระทัยและมีความรอบรู้ในภาษาและศาสตร์ตะวันตกอย่างยิ่งอาจจะไม่ต่างหรือยิ่งกว่าเจ้าฟ้ามงกุฎฯด้วย แต่หากเจ้าฟ้าจุฑามณีได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะเป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค เพราะพระองค์ทรงสั่งสมทั้งอำนาจบารมีทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์ ดังนั้น การเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎฯที่ทรงผนวชมาตลอดน่าจะเป็นเงื่อนไขที่ดีสำหรับการครองอำนาจนำของขุนนางตระกูลบุนนาคต่อไป เพราะเจ้าฟังมงกุฎฯไม่ได้ทรงมีอำนาจบารมีทางการเมืองที่เข้มแข็งพอที่จะต่อรองอะไรได้
(แหล่งอ้างอิง: Abbot Low Moffat, Mongkut the King of Siam, (Ithaca, New York: Cornell University Press: 1961, 1968); หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, ประชุมนิพนธ์ เล่ม ๑, (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์บำรุงบัณฑิต, 2529); ไกรฤกษ์ นานา, “’เงินถุงแดง’ อิสรภาพไทยแลกด้วยค่าไถ่ 3 ล้านฟรังก์ ร.ศ. 112 หาเงินจากไหนให้ฝรั่งเศส”, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2546; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย; สิริน โรจนสโรช, เงินถุงแดง, สำนักบรรณสารสนเทศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)