ระดมแนวคิดเอกชน สร้างระบบอาหารยั่งยืน
โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ
***********************
เดือนกันยายนนี้ จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำในเวที UN Food Systems Summit 2021 เพื่อเรียกร้องให้ประเทศผู้นำและรัฐมนตรีเกษตรและอาหารจากทั่วโลก เร่งหารือ และจัดทำนโยบาย แผนงานการปฏิรูประบบอาหารและการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อการผลิตอาหารที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายใน ปี ค.ศ. 2030 โดยประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก จะมีบทบาทอย่างยิ่งที่จะช่วยยกระดับความยั่งยืน ของระบบอาหาร (Food Systems)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทในการรวบรวมความคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอในเวทีโลก เห็นว่าภาคเอกชนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืนของไทยและของโลก ซึ่งมีการดำเนินงานประกอบด้วย 5 ด้าน (5 Action Tracks) หรือที่เรียกว่า “5 อิ่ม” ได้แก่ อิ่มถ้วนหน้า การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างถ่วนหน้า อิ่มดีมีสุข การปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อสุขภาพ อิ่มรักษ์โลก การส่งเสริมระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อิ่มทั่วถึง การส่งเสริมความเสมอภาคในการดำรงชีวิต และมีการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียมกัน และอิ่มทุกเมื่อ การสร้างความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ในทุกโอกาส โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ
โดยกระทรวงเกษตรฯ จะรวบรวมข้อมูล ประสบการณ์ ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ จากภาคธุรกิจมาเชื่อมโยงกับข้อมูลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการภายใต้นโยบาย 3S คือ ความปลอดภัยของอาหาร (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร(Security) และความยั่งยืนของทรัพยากร (Sustainability) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ความมั่นคงของอาหารของประเทศไทย โดยเห็นว่าการสร้างความยั่งยืนของระบบอาหาร จะต้องเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) และนำแนวคิดของ Zero Waste มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อคำนึงถึงความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีทางการค้าในอนาคตที่อาจจะมีมากยิ่งขึ้น การใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำทางการเกษตรต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ต้องมีการทบทวนการเปลี่ยนแปลงการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งอนาคตระบบสินค้าเกษตรและอาหาร
บทบาทภาคเอกชนไทยในการส่งเสริมการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน ภายใต้ 5 Action Tracks หรือ 5 อิ่ม เพื่อพัฒนา ระบบอาหารไปสู่ความยั่งยืน ทั้งต่อสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของโลก ได้แก่
อิ่มถ้วนหน้า การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการอย่างถ้วนหน้า โดยบริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงอาหารทะเล ซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ควบคู่ไปกับการดูแลความยั่งยืนของท้องทะเล การจ้างแรงงานในห่วงโซ่อุปทานอย่างถูกกฎหมาย ตามหลักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนคำนึงถึงการจัดการขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้นำความรู้เชิงวิชาการ สร้างนวัตกรรมการผลิตอาหารที่หลากหลาย และให้ความรู้ แก่ผู้บริโภค เช่น การแสดงสัญลักษณ์บนอาหารสุขภาพ และเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มความหลากหลาย ของราคาและประเภทอาหารพร้อมรับประทานที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้ผู้บริโภค เข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัยได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยมีนักวิชาการตรวจสอบตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การสรรหาวัตถุดิบ การผลิต การเก็บในคลังสินค้าและ ขนส่งไปยังจุดจำหน่าย
อิ่มดีมีสุข การขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อสุขภาพ โดยบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอาหาร plant-based ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก น้อยกว่าการผลิตอาหารจาก เนื้อสัตว์ ภายใต้แคมเปญ One meal a week รณรงค์ให้ผู้บริโภคทดลอง รับประทานอาหาร plant-based หนึ่งมื้อ หรือ หนึ่งวันต่ออาทิตย์ เพื่อเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ร่างกายได้รับอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น และมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้มากขึ้นถึง 40% โดยระบุว่าโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทยในเรื่องนี้ยังมีอีกมาก ทั้งตลาดในประเทศ และการส่งออกไปยังต่างประเทศ
อิ่มรักษ์โลก การส่งเสริมระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ดำเนินการภายใต้แนวคิด From Waste to Value นำของเหลือใช้ในกระบวนการผลิตอ้อย ไปสร้างคุณค่าเพิ่ม พัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับธุรกิจอื่นๆต่อไป เช่น นำไปผลิตไฟฟ้าชีวมวล เอทานอล และปุ๋ย รวมทั้งยังเกิดเป็นคาร์บอนเครดิต ที่สามารถนำมาชดเชยกับ carbon emission ได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การผลิตภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ที่ช่วยลดการเกิดภาวะโลกรวน (Climate Change) พร้อมทั้งสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ สร้างความสุขให้กับชุมชน ชาวรไร่ ในการดำเนินชีวิต และสร้างการเจริญเติบโตของธุรกิจไปพร้อมกัน
อิ่มทั่วถึง การส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยบริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ที่มีนโยบาย การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ Smart Farming กับเกษตรกร ผ่านโครงการ “Thai Wah Farmer Network” สนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือช่วยให้เกษตรกรได้เข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรอย่างถูกต้อง ช่วยให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่อร่อยและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลัง เพื่อบรรเทาปัญหาขยะพลาสติก
อิ่มทุกเมื่อ การสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้ระบบอาหาร โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) ซึ่งมี มีการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างแหล่งอาหารและองค์ความรู้เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตอาหารได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติ การส่งเสริมสังคมพึ่งตน เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทาน การดูแลรักษาภาวะความเสี่ยงของคู่ค้า รวมถึงเกษตรกรรายย่อย ที่มีความจำเป็นต้องได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ดีเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดินน้ำป่าคงอยู่ ที่ได้ร่วมรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นต้นทางของแหล่งอาหาร ทั้งที่เป็นระบบนิเวศบนบก และระบบนิเวศทางทะเล