posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่23):สมการการเมืองในช่วงต้นรัชกาลที่5

26 สิงหาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**************

การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่มีต่อที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี ดังนั้น ในพระสุพรรณบัฏจึงมีข้อความ “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” ไม่ต่างจากพระสุพรรณบัฏในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ ขณะเดียวกันการที่ยังทรงพระเยาว์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์และได้รับการเลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพะยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งอันทรงอำนาจรองจากพระมหากษัตริย์อย่างตำแหน่งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) ก็ได้รับการแต่งตั้งอย่างผิดราชประเพณีภายใต้อำนาจอิทธิพลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อีกด้วย ทั้งๆที่อำนาจในการแต่งตั้งนั้นจะต้องเป็นของพระมหากษัตริย์ อีกทั้งผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีระดับสูงทั้งหมดและตำแหน่งข้าราชการที่กระจายไปทั่วเป็นบุคคลในตระกูลหรือเครือข่ายของตระกูลบุนนาค

บุคคลในตระกูลควบคุมตำแหน่งสำคัญๆในราชการทั้งหมด เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯขึ้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้มอบตำแหน่งสมุหพระกลาโหมให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้เป็นบุตรชาย ส่วนตำแหน่งพระคลังและกรมท่านั้น

หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2411 เพียงหนึ่งปี สมเด็จเจ้าพระยาฯในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ปลดกรมขุนวรจักรธรานุภาพออกจากตำแหน่งกรมท่า สาเหตุจากการที่พระองค์เคยขัดขวางสมเด็จเจ้าพระยาฯในการแต่งตั้งกรมหมื่นวิไชยชาญให้ขึ้นเป็นวังหน้า และได้มอบให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี ขำ บุนนาค น้องชายต่างมารดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นผู้ดูแล แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าราชการได้เพียงปีเดียว ก็ถึงแก่อสัญกรรม จึงได้มอบให้น้องชายต่างมารดาอีกคนหนึ่งคือ ท้วม บุนนาค (พระยาเทพประชุน ตำแหน่งขณะนั้น/ผู้เขียน) ให้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาภาณุวงศ์และดำรงตำแหน่งกำกับราชการพระคลังหรือกรมท่า

นอกจากนั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯยังมีขุนนางคู่ใจคือ พุ่ม พุก จันทร์และเนียม ผู้มีฝีมือในด้านต่างๆ อาทิ กฎหมาย กระบวนราชการ การสืบจับโจรผู้ร้าย กระทั่งการค้าขาย ส่วนเส้นสนกลในในราชสำนักก็ยังมีเจ้าจอมมารดาพึ่ง พระมารดาของกรมหลวงพิชิตปรีชาการคอยเป็นหูเป็นตาอีกด้วย ทำให้สถานะของสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นที่ยอมรับยำเกรงของข้าราชการส่วนใหญ่ในฐานะผู้มีอำนาจที่แท้จริง

แม้ว่า รูปแบบการปกครองในทางทฤษฎีและจารีตประเพณีจะเป็นราชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์คือผู้มีอำนาจทางการเมืองการปกรอง แต่ในความเป็นจริง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯกลับไม่มีอำนาจใดๆ และแม้ว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระมหากษัตริย์จะทรงไม่มีอำนาจดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเผชิญ

ในขณะที่ขึ้นครองราชย์นั้น พระราชอำนาจยิ่งลดน้อยถดถอยมากกว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นอกจากพระองค์ไม่ทรงมีฐานอำนาจสนับสนุนและยังมิได้เป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์เนื่องจากทรงพระเยาว์ ผลประโยชน์ส่วนพระองค์และผลประโยชน์แผ่นดินถูกเบียดบังเป็นอันมาก ก่อให้เกิดความคับแค้นพระทัย ยิ่งกว่านั้นยังถูกแย่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งวังหน้า โดยพระองค์ได้ทรงกล่าวประชดประชันกรมหมื่นบวรวิชัยชาญที่สมเด็จเจ้าพระยาฯแต่งตั้งขึ้นมาเป็นวังหน้าว่าขึ้นมาดำรงตำแหน่งโดยพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ทรงเลือก ทั้งที่อำนาจดังกล่าวเป็นของพระเจ้าแผ่นดินมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

ดังความตอนหนึ่งว่า “…ท่านเสนาบดีปฤกษาว่า พระองค์เจ้ายอร์ชวอชิงตัน กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอร์ชวอชิงตันเป็นพระนามเดิมของกรมหมื่นบวรฯ ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงตั้งให้/ผู้เขียน) ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีวิชาเป็นช่างเชาว์เกลาเกลี้ยง ให้เป็นกรมพระราชวังรับพระบัณฑูรเป็นที่ 16 จะได้คุมข้าไทยของวังหน้าต่อไป เป็นวังหน้า ซึ่งมิได้เป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ และพระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงเลือกเองเป็นที่ ตั้งแต่กรุงทราวดีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์บัดนี้...”

ดังนั้น แม้ว่าคณะบุคคลกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคจะครองอำนาจนำเหนือพระมหากษัตริย์และรวมทั้งวังหน้า แต่ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวย่อมต้องการช่วงชิงอำนาจนำให้มาเป็นของตน

จะสังเกตได้ว่า ในสมการการเมืองระหว่างกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และวังหน้า สัมพันธภาพทางอำนาจจะอยู่ในลักษณะที่เมื่อฝ่ายหนึ่งจะครองอำนาจมากขึ้นได้ก็โดยการลดทอนอำนาจอีกฝ่ายหนึ่ง ดังที่เกิดขึ้นในกรณีที่กลุ่มขุนนางบุนนาคมีอำนาจมากขี้น โดยลดทอนอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯลง ซึ่งการที่อำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯลดลงนี้ ย่อมเป็นผลดีต่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ดังนั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจึงมีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคมากกว่าฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

แต่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคก็จะไม่ปล่อยให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ มีอำนาจมากเกินไปจนเกินที่จะควบคุมไว้ได้เช่นกัน โดยกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคจะถ่วงดุลอำนาจของทั้งฝ่ายวังหลวงและวังหน้าไว้ แต่หากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ สัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างวังหน้าและกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคก็จะเปลี่ยนไปดังที่ได้กล่าวไปในกรณีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯที่พยายามจะลดทอนอำนาจของขุนนางลง หลังจากที่เป็นพันธมิตรกันและอาศัยการสนับสนุนของกลุ่มขุนนางให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

ส่วนการร่วมมือกันระหว่างวังหลวงและวังหน้าในการลดทอนอำนาจของกลุ่มขุนนางจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อวังหน้าไม่ต้องการแย่งชิงบัลลังก์และต้องการสนับสนุนอำนาจของพระมหากษัตริย์ และรอขึ้นเป็นกษัตริย์ตามเงื่อนไข อันได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าที่เป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว แต่อย่างที่กล่าวไปว่า เงื่อนไขเรื่องอายุและคุณสมบัติความสามารถของวังหน้าและพระราชโอรสอันเป็นตัวแปรที่กำหนดควบคุมได้ยาก

ดังนั้น การร่วมมือระหว่างวังหน้าและวังหลวงในการลดทอนอำนาจของกลุ่มขุนนางจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก และเงื่อนไขที่ทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างวังหน้ากับพระราชโอรสในการเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่งจนถึงต้นรัชกาลที่ห้าเป็นเพราะความบังเอิญที่ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าสวรรคตลงไปก่อนจะสิ้นรัชกาล และไม่มีการตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้จนเปลี่ยนรัชกาลซึ่งเป็นความบังเอิญที่ทำให้การเมืองช่วงต้นรัตนโกสินทร์แตกต่างไปจากการเมืองสมัยอยุธยา

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอนที่23):สมการการเมืองในช่วงต้นรัชกาลที่5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว           สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์            กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

ดังนั้น สภาพการณ์การต่อสู้ช่วงชิงและรักษาอำนาจจะยังคงดำเนินต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่กล่าว ซึ่งไม่ต่างจากการเมืองสมัยอยุธยานักหากไม่เกิดความบังเอิญที่กล่าวไป และจะมีข้อต่างเพียงว่ากลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคสามารถครองอำนาจได้สืบเนื่องยาวนานกว่าขุนนางในสมัยอยุธยา ดังที่วัยอาจ (David K. Wyatt) ได้กล่าวถึงปัญหาการเมืองในต้นรัชกาลที่ห้าว่าเป็น “ปัญหาทางการเมืองเกี่ยวกับการจัดแบ่งอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์และขุนนางที่เรื้อรังมายาวนาน”

แต่ปัญหาดังกล่าวนี้จะยังคงเป็นปัญหาที่เรื้อรังอยู่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละกลุ่มการเมือง แน่นอนว่าฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯและกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจะยังคงมองว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังและร้ายแรงยิ่งที่จะต้องรีบหาทางแก้ไขดึงอำนาจกลับคืนมา เพราะกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคได้ครองอำนาจนำทางการเมืองมาตั้งแต่รัชกาลที่สามและพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ถูกลดทอนต่อเนื่องจนพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่เพียงแต่ในนาม

ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญย่อมมองว่าเป็นปัญหาเรื้อรังเช่นเดียวกัน แต่ยังต้องอาศัยกลุ่มขุนนางเพื่อสนับสนุนพระองค์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ และหลังจากนั้นถึงจะหาทางปรับเปลี่ยนเพื่อให้พระมหากษัตริย์ครองอำนาจนำเหนือกลุ่มขุนนาง

ส่วนกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคย่อมคิดว่าปัญหาเรื้อรังในการจัดแบ่งอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางได้จบลงแล้ว หลังจากที่พวกตนสามารถครองอำนาจนำมาเป็นเวลานาน ปัญหาที่เหลือคือการรักษาสมการทางอำนาจนี้ได้มั่นคงสืบต่อไป

ดังนั้น การต่อสู้ช่วงชิงและรักษาอำนาจยังคงดำเนินต่อไปจากฝั่งพระมหากษัตริย์ อันทำให้ดูเหมือนว่า การเมืองในรัตนโกสินทร์ช่วงนี้จะยังคงไม่ต่างไปจากการเมืองสมัยอยุธยา และแม้ว่ากลุ่มขุนนางจะกุมอำนาจนำไว้ได้ แต่ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ก็ยังคงอยู่ และในทุกครั้งที่เปลี่ยนรัชกาลย่อมจะเกิดความสับสนวุ่นวายด้วยความไม่มีแบบแผนที่เป็นระบบมีกฎเกณฑ์กติกาที่แน่นอนนี้ ผู้คนที่อยู่ในการปกครองดังกล่าวอาจจะไม่ตระหนักว่าเป็นปัญหา และอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติของการเมืองการปกครองของไทยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดแบ่งอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางที่ดำรงต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาอย่างทีวัยอาจกล่าว เมื่อถึงปลายรัชกาลหรือมีการเปลี่ยนรัชกาล ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวว่า

“เวลาพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตเปลี่ยนรัชกาลใหม่ ราษฎรมักหวาดหวั่นว่าจะเกิดเหตุร้าย เห็นจะเป็นความรู้สึกมีสืบมาแต่เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีในสมัยกลาง ตั้งแต่พระเจ้าประสาททองเสวยราชย์เป็นต้นมา ด้วยมักเกิดรบพุ่งหรือฆ่าฟันกัน แม้ไม่ถึงเช่นนั้น ก็คงมีการกินแหนงแคลงใจกันในเวลาเปลี่ยนรัชกาลแทบทุกคราว ที่จะเปลี่ยนโดยเรียบร้อยทีเดียวนั้นมีน้อย จนเกิดเป็นคติสำหรับวิตกกัน ว่าเวลาเปลี่ยนรัชกาลมักจะเกิดเหตุร้าย”

และในคราวเปลี่ยนจากแผ่นดินรัชกาลที่สี่ ผู้คนก็พากันหวาดหวั่นเช่นเคย จนหมอสมิธ มิชชันนารีชาวอเมริกันได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ “สยามริปอสิตอรี” ว่า

“เวลานี้ ทั่วประเทศสยามพากันสั่นสะท้าน และหวาดหวั่นอยู่ในระหว่างเปลี่ยนรัชกาล ด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เก่า ซึ่งมีพระเดชพระคุณแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาก และได้ทรงปกครองชนชาติอื่น ที่มาพึ่งพระบารมีอยู่ในพระราชอาณาเขต กับทั้งชาวต่างประเทศอันอยู่ในบังคับของกงสุล มิได้เสด็จสถิตอยู่ในเศวตฉัตร ให้คนทั้งหลายเกรงพระราชอาญาเสียแล้ว แม้สมเด็จเจ้าฟ้าอันเป็นพระราชโอรส ได้ทรงรับรัชทายาทก็จะเกรงอยู่ แต่ว่าประชวรพระกำลังยังปลกเปลี้ย จะรอดพระชนม์ทนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการรับแขกเมืองเฝ้าได้แลหรือ แม้แต่ในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกำลังประชวร ยังไม่สวรรคต ก็มีกิตติศัพท์ว่าจะเกิดกบฏ และได้มีเหตุวุ่นวายด้วยเรื่องจับฝิ่นเถื่อน ทั้งปรากฏว่ามีผู้ทำอัฐปลอมมาก เกิดยุ่งยากในเรื่องเครื่องแลก จนตื่นกัน ไม่เป็นอันซื้อขายในท้องตลาดอยู่หลายวัน”

ปัญหาดังกล่าวนี้ ถ้ากล่าวในทางรัฐศาสตร์คือ ปัญหาในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ซึ่งระบอบการเมืองการปกครองที่มีเสถียรภาพมั่นคง จะไม่มีปัญหาในการเปลี่ยนผ่าน หากมี ก็จะไม่รุนแรงมากนัก

ในกรณีของไทย ความหวาดระแวง ความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างบุคคลในพระราชวงศ์และกลุ่มขุนนางที่มีฝักฝ่ายจะปะทุรุนแรงขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านอยู่เสมอตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัชกาลที่ห้า

และจะรวมถึงการเมืองปัจจุบันหรือไม่ ? เพียงแต่ตัวแสดงทางการเมืองเปลี่ยนไป เป็นประเด็นที่น่าคิดวิเคราะห์อย่างยิ่ง

(แหล่งอ้างอิง: พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์เรื่อง พระราชพงศาวดารกับเรื่องราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช อ้างใน ชลธิชา บุนนาค, การเสื่อมอำนาจทางการเมืองของขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2416-2435): ศึกษาในกรณีขุนนางตระกูลบุนนาค, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, พ.ศ. 2527;

พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ; David K. Wyatt, “Family Politics in Nineteenth Century Thailand,” Journal of Southeast Asian History, 1968, vol. 9, no. 2; David K. Wyatt, The Politics of Reform in Thailand: Education in the Reign of King Chulalongkorn,; ชัยอนันต์ สมุทวนิช, การเมือง-การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย 2411-2475; Edward Van Roy, “Bangkok’s Bunnag Lineage from Feudalism to Constitutionalism: Unraveling a Genealogical Gordian Knot,” Journal of Siam Society, Vol. 108, Pt. 2, 2020,; วิภัส เลิศรัตนรังษี, “อวสานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)”, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 42 ฉบับที่ 3 มกราคม 2564)

****************