การพัฒนาสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ (ตอนที่สี่สิบสอง): ความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลง
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร************************
จากปัญหาเรื่องอาณาเขตดินแดนทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ทรงสามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญในรัชกาลของพระองค์ตามที่คาดหมายได้ และคงต้องเป็นพระราชภารกิจของรัชกาลต่อไป
คราวที่แล้ว ได้กล่าวถึงการเสียดินแดนไปสี่ครั้งในสมัยรัชกาลที่ห้า ได้แก่ เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ต่อมา เสียฝั่งขวาแม่น้ำโขง พ.ศ. 2446 แก่ฝรั่งเศส ต่อมา เสียมณฑลบูรพา พ.ศ. 2449 แก่ฝรั่งเศสอีก และต่อมา เสียไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส พ.ศ.2451 ให้แก่อังกฤษ
มีผู้อ่านที่ใช้ชื่อว่า คุณ Yasintorn Reinangkul ได้ถามมาว่า “แล้วกรณีเสียดินแดน 14 ครั้ง คืออย่างไรครับ ? เพราะเขตแดนเราเพิ่งจะมีมาสมัยรัชกาลที่ 5 ครับ”
ต่อกรณีการเสียดินแดน 14 ครั้งนี้ เราจะพบได้เมื่อเข้าไปค้นในกูเกิลภายใต้หัวข้อ “การเสียดินแดนให้ต่างชาติจำนวน 14 ครั้ง” และจะพบ https://www.guideubon.com/2.0/ubon-story/14/ อธิบายการเสียดินแดน 14 ครั้งที่ว่านี้ ที่นับได้ 14 ครั้ง เพราะไม่ได้นับแค่สมัยรัชกาลที่ห้าเท่านั้น แต่นับย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่หนึ่งและนับต่อไปถึงการเสียเขาพระวิหารในปี พ.ศ. 2505 ด้วย
ส่วนข้อสังเกตที่ว่า เราจะคิดว่าเราเสียดินแดนของเราไปก่อนที่เราจะ “มี” เขตแดนได้อย่างไรนั้น ผมต้องขอให้คุณ Yasintorn Reinangkul กลับไปอ่านตอนที่แล้วครับ อธิบายไว้ชัดเจน สรุปความได้ว่า วิธีคิดและมุมมองเรื่องการครอบครองดินแดนของสยามกับของฝรั่งนั้นต่างกัน ที่จริงก็ไม่ใช่เฉพาะสยามหรอกครับ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ ก็ไม่ต่างจากสยาม คือมีวิธีคิดและมุมมองแบบเก่าโบราณ ไม่ได้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในการกำหนดเขตแดนที่กลายมาเป็นแผนที่สมัยใหม่ที่มีความชัดเจนแน่นอนในทางภูมิศาสตร์ ดังนั้น ถ้าใช้วิธีคิดแบบสมัยใหม่ เราก็จะถูกตู่จากฝรั่งว่า ดินแดนเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา แต่ถ้าคิดตามแบบเดิม เราก็ว่ามันเป็นของเรา พูดง่ายๆก็คือ คล้ายๆกับว่า ปกติ เรามีที่ดินทำกินมาหลายชั่วคน ที่มันก็ยืดบ้างหดบ้างตามกำลังของเรา หรือของบ้านอื่น และไม่มีเคยมีแผ่นกระดาษโฉนดอะไรมารับรอง วันดีคืนดี มีคนมาพร้อมกับใบโฉนดและบอกว่าเป็นของเขา !
ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์และหลังจากที่ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ทรงเริ่มการปฏิรูปด้านต่างๆเพื่อพัฒนาสยามให้เข้าสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่เพื่อรับมือกับพวกฝรั่งที่มาพร้อมกับวิธีคิดในแบบรัฐสมัยใหม่
นอกจากภารกิจของการสร้างรัฐให้เป็นรัฐสมัยใหม่ที่ยังไม่เสร็จสิ้นในรัชกาลที่ห้าแล้ว สิ่งที่ยังคงตกค้างอยู่อีกอย่างหนึ่งก็คือ สมการทางการเมืองและสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างตัวแสดงหลักทั้ง 3 ตามทฤษฎีการปกครองแบบผสม (mixed constitution) ที่ยังไม่ลงตัวและเกิดเป็นแรงเหวี่ยงเพื่อหาจุดสมดุลใหม่ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวแสดงใหม่ที่มีบทบาทมากขึ้นในสังคม คือ กลุ่มข้าราชการ
กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบสมการทางการเมืองระหว่างช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ กับต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะพบว่า สมการการเมืองได้เปลี่ยนจากกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคมาเป็นกลุ่มเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เกิดความขัดแย้งชัดเจนระหว่างพระมหากษัตริย์กับเสนาบดีที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งจากเหตุผลส่วนพระองค์ภายในพระบรมวงศานุวงศ์เองและเหตุผลทางการบริหารราชการ
มีกรณีที่แสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์มิได้ทรงมีพระราชอำนาจอันสมบูรณ์เสียทีเดียว เพราะเสนาบดีใช้อำนาจทัดทานไม่อนุมัติตามพระมหากษัตริย์ได้ดังกรณีความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าฯ กับกรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งอาจจะมีผู้ตีความว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจอันสมบูรณ์ แต่เนื่องจากเสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ กรมพระจันทบุรีฯ เป็นพระปิตุลา จึงกล้าที่จะทัดทานพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โดยยืนยันว่า ไม่ยอมอนุมัติงบประมาณในการเสด็จประพาสญี่ปุ่นหรือไม่พระองค์ก็จะลาออก ซึ่งในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็มิได้เสด็จญี่ปุ่น แต่กรมพระจันทบุรีฯ ก็ประสงค์จะลาออก แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ไม่ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต
อีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงมีพระราชอำนาจอันสมบูรณ์เสียทีเดียว หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2453 พระองค์ยังมิได้เสกสมรสจึงยังไม่มีพระราชโอรสสืบทอดตำแหน่งรัชทายาท จึงจำเป็นต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทเพื่อความมั่นคงปลอดภัย
แต่เนื่องจากได้มีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้าไป และพระมหากษัตริย์ยังมิทรงมีพระราชโอรส ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ จึงยังไม่มีแบบแผนในการตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทมาก่อน และยังไม่มีการตรากฎมณเฑียรบาลจนกระทั่งปี พ.ศ. 2467 ก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สวรรคตหนึ่งปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริเห็นสมควรให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระอนุชาร่วมพระชนนีต่อจากพระองค์ดำรงตำแหน่งรัชทายาทชั่วคราวโดยอนุโลม แต่มีการคัดค้านในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ ด้วยเหตุผลที่ว่ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงมีชายาเป็นชาวต่างชาติ และขอให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราโขวาทให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทรงมีพระชายาตามมูลนิธิธรรมขัตติยประเพณี และเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทรงปฏิบัติตามแล้วจึงถึงเวลาที่สมควรจะเลือกและประกาศพระอิศริยยศขององค์รัชทายาท ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาในการสืบราชสันตติวงศ์ต่อที่ประชุมเสนาบดีสภา วันที่ 21 พฤศจิกายน 2435 แต่งตั้งให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถดำรงตำแหน่งรัชทายาทชั่วคราว
ต่อมา พ.ศ. 2462 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงหย่าร้างจากชายาขาวต่างขาติ และทรงแสดงพระประสงค์จะเสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส พระธิดา กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งจะทำให้พระองค์ทรงมีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ไม่ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ด้วยเหตุผลสองประการคือ หนึ่ง การหย่าร้างไม่ต้องด้วยพระราชนิยม ทรงเห็นว่าการมีเมียหลายคนเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ถึงกับมีพระราชดำรัสว่าพระองค์จะทรงมีพระมเหสีพระองค์เดียวเพื่อเป็นตัวอย่างอันดีนี้ สอง ด้วยคาดหวังว่าจะมีพระราชโอรสและพระองค์จะให้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ แต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงรับหม่อมชวลิตโอภาสเป็นชายา โดยมิทรงสนพระทัยว่าจะเป็นการละเมิดและทำความไม่พอพระทัยแก่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากสมการทางการเมืองจะเปลี่ยนตัวแสดงทางการเมืองจากจากขุนนางมาเป็นพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว การปฏิรูประบบราชการและการศึกษาวิชาทหารสมัยใหม่ได้ให้กำเนิดคณะบุคคลชุดใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้น นั่นคือ นายทหารรุ่นใหม่ซึ่งได้พยายามใช้กำลังความรุนแรงในการแย่งชิงอำนาจจากพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 ซึ่งการแย่งชิงอำนาจแตกต่างไปจากที่ผ่านมา ด้วยเป้าหมายของคณะกบฏ ร.ศ. 130 อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจจำกัดหรือ “ลิมิตเตดมอนากี” กับ “รีปับลิค” ซึ่งเป้าหมายหลังนี้เป็นเป้าหมายทางการเมืองใหม่อันเป็นผลพวงมาจากแนวคิดรูปแบบการปกครองตะวันตกที่เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และในคณะกบฏ ร.ศ. 130 มีผู้สนับสนุนการเปลี่ยนไปสู่สาธารณรัฐมากกว่าให้มีกษัตริย์อยู่ต่อไป แม้ว่าสาธารณรัฐจะมีต้นกำเนิดจากตะวันตก แต่คณะกบฏฯ ได้รับอิทธิพลจากสาธารณรัฐจีน จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น
ผลจากกบฏ ร.ศ.130 ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงยกกรณีดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่การปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญตามแบบอังกฤษ แต่ที่ประชุมเสนาบดีส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่ายังไม่ถึงเวลา และประชาชนพลเมืองยังไม่มีการศึกษาพอ พระองค์จึงไม่สามารถจะฝืนได้ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวนี้เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่การปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังที่ ลินซ์ สเตพานและมินอเวฟ-ไทรเควล (Linz, Stepan, and Minoves-Triquell) ได้สรุปเป็นกรอบแนวคิดว่า การปกครองที่มีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ยังทรงมีอำนาจในทางการเมืองการปกครองถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากการปกครองที่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจในการปกครอง (ruling monarchy) ไปสู่การปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายรัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) แม้ว่าตัวพระมหากษัตริย์จะต้องการให้เปลี่ยนแปลงก็ตาม
แหล่งอ้างอิง: ชาญชัย รัตนวิบูลย์, บทบาทของอภิรัฐมนตรีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2548); จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๙ เรื่องราชประเพณี (พระนคร: คุรุสภา, 2514), 41, อ้างใน ศิรินันท์ บุญศิริ, บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2423); หจช., ร. ๖ ว. ๑/๒ ลายพระหัตถ์กรมหมื่นสวัสดิ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๙ อ้างใน ศิรินันท์ บุญศิริ, บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ; แถมสุข นุ่มนนท์, ยังเติร์กรุ่นแรก: กบฏ ร.ศ. 130; หจช. ร.6 บ. 17/23 เรื่องสมุดของกลาง 2 เล่ม; Alfred, Stepan, Juan J. Linz, and Juli F. Minoves, “Democratic Parliamentary Monarchies,” Journal of Democracy 25, 2 (April 2014)