ยุทธศาสตร์ BCG ขับเคลื่อนฟื้นฟูภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหลังวิกฤติ COVID-19
.
โดย...ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา
*************************
ในการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคณะทำงานจาก 21 ประเทศกลุ่มสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการกล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่อย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยได้ร่วมเสนอนโยบาย BCG เพื่อร่วมฟื้นฟูภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหลังวิกฤติ COVID-19
มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาหลักของประเทศ และเป็นหนึ่งในองค์กรหลักสำคัญที่จะต้องร่วมผลักดันนโยบาย BCG หรือยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio – Economy เศรษฐกิจชีวภาพ – Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน – Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว) ของประเทศไทย ได้ให้ความเชื่อมั่นว่าจะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ช่วยประเทศชาติขับเคลื่อน BCG ทั้งในด้านอาหารและการเกษตร (Food and Agriculture) รวมทั้งด้านการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness)
โดยในการประชุมเอเปค มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมเสนอแนะโดยเน้นย้ำถึงการสร้างความมั่นคงและการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจว่า จะต้องให้ความสำคัญเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value creation) ผ่านกระบวนการใช้เทคโนโลยีข้ามศาสตร์ การนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) และการสร้างมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ (upcycle) การใช้วัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด (maximum life cycle usage) และการลดปริมาณขยะให้เป็นศูนย์ (zero-waste)
ภายใต้นโยบาย BCG นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านอาหารและการเกษตร ผ่านการพัฒนาโภชนเภสัช การใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การเพิ่มผลผลิต และการทำการเกษตรแม่นยำสูง และในด้านการแพทย์และสุขภาพ ได้มุ่งเน้นสู่การแพทย์แม่นยำสูง เทคโนโลยีจีโนมิกส์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร และสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ รวมไปถึงการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ (medical hub) เป็นต้น
ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศก็เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญ โดยการสร้างองค์ความรู้ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การเคลื่อนย้ายบุคลากรศักยภาพสูง ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่นคงด้านพลังงาน ความมั่นคงด้านอาชีพและระบบนิเวศที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้ร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จจากงานวิจัยต่างๆ ที่ผ่านมาของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง คือ การได้ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ค้นพบสารสกัด Panduratin A และ Pinostrobin ในพืชสมุนไพรกระชายขาวของไทย ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส COVID-19 ในหลอดทดลอง และในเวลาต่อมาได้ร่วมกับภาคเอกชนต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งสามารถขยายผลสู่ความร่วมมือกับชุมชนให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ชุมชนจังหวัดน่าน ซึ่งกำลังประสบปัญหาพื้นที่ป่าถูกทำลาย เป็นตัวอย่างสำคัญของการขับเคลื่อนด้วย BCG จากปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรปลูกข้าวโพดป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งใช้พื้นที่มาก แต่ให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า โดยทำให้พื้นที่ป่าลดลงถึงร้อยละ 28 จึงได้มีการริเริ่มโครงการรักษ์ป่าน่าน และพัฒนาสู่ "น่านแซนด์บอกซ์" ตามแนวคิดของ คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อพลิกฟื้นผืนแผ่นดินป่าซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
จากความร่วมมือระหว่างชาวชุมชนจังหวัดน่าน ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งรวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ผ่านมาได้มีการวางแผนปลูกป่าในอัตราส่วน ต้นไม้ 100 ต้น ต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยใช้พื้นที่ว่างระหว่างต้นไม้แต่ละต้นทำประโยชน์ด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีคุณค่าซึ่งสามารถเติบโตใต้ร่มไม้ใหญ่ ได้แก่ พืชสมุนไพรกระชายขาวที่มีฤทธิ์ยับยั้ง COVID-19
นอกจากนี้ยังได้มองไปถึงการส่งเสริมปลูกพืชสมุนไพรขมิ้นชัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียว่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีสาร "เคอร์คูมินอยด์" (Curcuminoid) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มากด้วยสรรพคุณทางยา สามารถนำไปแปรรูปสู่เวชภัณฑ์ต่อไปได้อีกมากมาย
ไม่ว่าวิกฤติ COVID-19 จะต่อเนื่องและยาวนานเพียงใด มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมยืนหยัดทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" มุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้สู่หนทางรอดของประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติต่อไป
///////////////
เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล