ภูมิใจไทยชูโนบายดับไฟใต้เปลี่ยนเสียงระเบิดเป็นเสียงเครื่องจักร
ภูมิใจไทยเตรียมดันเอสอีซีเปลี่ยนเสียงระเบิดที่3จังหวัดชายแดนใต้เป็นเสียงเครื่องจักร เปลี่ยนงบลับกว่า3แสนล.เป็นงบลงทุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ภูมิใจไทยเตรียมดันเอสอีซีเปลี่ยนเสียงระเบิดที่3จังหวัดชายแดนใต้เป็นเสียงเครื่องจักร เปลี่ยนงบลับกว่า3แสนล.เป็นงบลงทุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม
พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวในงาน “สันติภาพชายแดนใต้หลังเลือกตั้ง: ข้อเสนอจากประชาชนและนโยบายพรรคการเมือง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อเสนอนโยบายของพรรคในการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า พรรคภูมิใจไทยเปิดโอกาสให้ตนและทีมผู้สมัครในพื้นที่ได้ออกนโยบาย เพราะพรรคยึดหลักว่าเรื่องในพื้นที่ คนพื้นที่ทราบดีที่สุด และส่วนตัวได้ทำงานพื้นที่มานานมาก
ทั้งนี้ นโยบายของพรรคพัฒนามาจากหลักคิดที่ว่าปัญหาปากท้อง คือ ต้นกำเนิดของปัญหาทั้งปวง รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ พรรคจึงมีนโยบายทั้งหมด 14 ข้อ และ 12 ข้อ ได้ร่างเป็นกฎหมาย รอยื่นพิจารณาเมื่อโอกาสมาถึง และ 1 ข้อที่น่าสนใจ คือ ร่างกฎหมายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ SEC
"เราได้ต้นแบบมาจากกฎหมาย EEC ของรัฐบาลปัจจุบัน แต่เราจะต่อยอด นำมาใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการปรับเพื่อให้เหมาะสมกับปริบทของพื้นที่ เราต้องเปลี่ยนเสียงระเบิด เป็นเสียงเครื่องจักร"พ.ญ.เพชรดาว ระบุ
นอกจากนี้ ต้องพัฒนาการท่องเที่ยวและกระทำอย่างจริงจัง พื้นที่ชายแดนใต้ เป็นการอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ ซึ่งพูดได้หลายภาษา มีวิถีที่ต่างกัน อยู่ร่วมกันได้ มีคนเก่งมากมาย แต่กลับต้องไปประกอบอาชีพด้านบริการในกรุงเทพ ดังนั้น ทางพรรคเห็นว่า หากทำให้สามจังหวัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างงาน คนกลุ่มนี้จะกลับบ้าน กลายเป็นแรงขับสร้างความเจริญให้บ้านเกิดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของงบประมาณ จะใช้งบลงไปดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ กว่า 3 แสนล้านบาท แต่วันนี้ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้น เรื่องการใช้เงินมาก จึงไม่ใช่คำตอบ ต้องกลับไปคิดว่าต้องใช้เงินไปเพื่ออะไรมากกว่า ดังนั้น จึงเสนอให้เปลี่ยนงบลับ เป็นงบลงทุน ต้องหนุนการลงทุน และให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ส่วนเรื่องกฎหมายพิเศษในพื้นที่ ได้อยู่กับมันมานาน และต้องยอมรับที่จะอยู่กับมัน แต่อยากให้พิจารณาเอาประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบทั้งหลายด้วย