posttoday

เส้นทางชีวิต "พลเอกเปรม" ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน

26 พฤษภาคม 2562

เปิดประวัติ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย และที่มาของคำว่า "ป๋า"

เปิดประวัติ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย และที่มาของคำว่า "ป๋า"

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย (พ.ศ. 2523-2531) เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่บ้านบ่อยาง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ตำแหน่งพะทำมะรง (พัศดี) เมืองสงขลา (พ.ศ. 2457) กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลา-นนท์) มีพี่น้อง 8 คน

ชื่อ “เปรม” นั้น ท่านเจ้าคุณพระรัตนธัชมุนี (แบน คณฐภรโณ - เปรียญ) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ตั้งให้ ในคำไว้อาลัยแด่ท่านเจ้าคุณรัตน-ธัชมุนี (แบน คณฐาภรโณ) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2523 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้เขียนคำไว้อาลัยตอนหนึ่งว่า “อนึ่งท่านเจ้าคุณและบิดาของผมเป็นศิษย์ร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์เดียวกันและบิดาของกระผมเป็นผู้กราบนมัสการขอให้ท่านเจ้าคุณตั้งชื่อให้กระผม จึงนับได้ว่าท่านเจ้าคุณเป็นผู้มีพระคุณต่อกระผมเป็นส่วนตัวด้วย”

ส่วนนามสกุล “ติณสูลานนท์” นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ พระราชทานให้ เมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2462

ที่มาของชื่อ "ป๋า"

เมื่อปี 2511 พลเอกเปรมได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี ซึ่งในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านี้ พลเอกเปรมมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า "ป๋า" และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า "ลูก" จนเป็นที่มาของคำว่า "ป๋า" หรือ "ป๋าเปรม" และคนสนิทของท่านมักถูกเรียกว่า "ลูกป๋า" และเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน

เส้นทางชีวิต \"พลเอกเปรม\" ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน

ชื่นชอบ "ดนตรี-กีฬา"

พลเอกเปรม ชื่นชอบดูการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะกีฬามวยและฟุตบอล มักเปิดโอกาสให้นักกีฬาเข้าพบเพื่อคารวะ และให้กำลังใจ ก่อนจะเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังชื่นชอบการร้องเพลง ระยะหลังได้ฝึกหัดเล่นเปียโนกับ ณัฐ ยนตรรักษ์ นักเปียโน นักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงของไทย

พลเอกเปรมประพันธ์เพลงเป็นงานอดิเรก และมีผลงานเพลงบันทึกเสียงจำหน่าย บรรเลงดนตรีโดย กองดุริยางค์ทหารบก

ประวัติการศึกษา

พ.ศ. 2469 เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา มีเลขประจำตัว 167 และมีความประทับใจในขณะได้รับการศึกษา คือ

- เริ่มเรียนครั้งแรกจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 พ.ศ. 2478

- ในสมัยเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยี่ยมโรงเรียน และทรงพระดำเนินเยี่ยมในห้องเรียน ท่านก็ทรงอ่านสมุดวิชา “สรีรศาสตร์” ของเด็กชายเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่ง ฯพณฯ ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

- ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เด็กชายเปรม ติณสูลานนท์ กับเด็กชายอิ่ม นิลรัตน์ ผลัดกันสอบได้ที่ 1 มาโดยตลอดจนครูแยกห้องเรียนกัน และเด็กชายเปรม เคยได้รับ "กียรติบัตรหมั่นเรียน" เพราะเรียนดีไม่เคยสาย ไม่เคยขาดเรียน ได้ทุกปี

-เป็นนักกีฬาประเภทวิ่งผลัด และนักฟุตบอลของโรงเรียน

- เป็นนายหมู่ลูกเสือตรี ขณะนั้นเรียนมัธยมปีที่ 5 ข.

- 18 พฤษภาคม 2479 เข้าเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ วิทยาลัยแผนกวิทยาศาสตร์ มีเลขประจำตัว 7587 เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8

- ได้เข้าเรียนในเมืองหลวง โดยพี่ชายชื่อชุบ ติณสูลานนท์

- ขณะเรียนอาศัยอยู่บ้านของพระยาบรรณสิทธทัณฑการ

- 2 พฤษภาคม 2481 เข้าเรียนโรงเรียน “เท็ฆนิคทหารบก” หรือโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน

- ขณะเรียนต้องการเป็นทหารปืนใหญ่ แต่พอเกิดสงครามจึงต้องเปลี่ยนมาเลือกเป็นทหารม้า

พ.ศ. 2484 สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรพิเศษของโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก (จปร) นักเรียนนายร้อยรุ่นนี้รับการศึกษาไม่ครบ 5 ปี ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ คือต้องใช้เวลาการศึกษาเพียง 3 ปี เท่านั้น เพราะต้องออกมาเป็นผู้บังคับหมวดตั้งแต่มีสภาพเป็นนักเรียนนายร้อย

เส้นทางชีวิต \"พลเอกเปรม\" ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน

เส้นทางการรับราชการ

3 มกราคม 2484 เป็นผู้บังคับหมวดประจำกรมรถรบ ทั้ง ๆ ที่ยังเรียนไม่จบหลักสูตร เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทในอินโดจีนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส นับเป็นการเข้าสู่สงครามครั้งแรก

20 มกราคม 2484 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ว่าที่ร้อยตรี เปรม ติณสูลานนท์ แต่ไม่ได้เข้าพิธีพระราชทานกระบี่จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากต้องไปประจำการอยู่ที่สนามรบปอยเปต ประเทศเขมร (รับกระบี่ในสนามรบ)

มกราคม 2485 - 2488 ได้รับแต่งตั้งให้ไปสงครามอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ 2 (สงครามมหาเอเซียบูรพา) เป็นผู้หมวดตอนแรก เป็นกองหนุนของกองทัพคือกองทัพพายัพ ซึ่งมีหลวงเสรีเริงฤทธิ์เป็นแม่ทัพ กองบัญชาการอยู่ที่ลำปาง ต่อมากองทัพเคลื่อนย้ายไปอยู่เชียงราย และได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นอยู่กับกองพล 3 ที่เชียงตุง จนได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก และได้รับคำสั่งให้เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ลพบุรี

23 กรกฎาคม 2489 เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กองพันที่ 1 กรมรถรบ

4 ธันวาคม 2489 เข้าศึกษาเป็นนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนนายทหารม้า

29 สิงหาคม 2490 รักษาราชการรองผู้บังคับกองร้อย

8 เมษายน 2492 รักษาราชการผู้บังคับกองพันที่ 1

18 กุมภาพันธ์ 2493 เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 3 กองพันทหารม้าที่ 4 จังหวัดอุตรดิตถ์

1 พฤษภาคม 2493 เป็นรองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4

7 กรกฏาคม 2493 เป็นรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์

3 มีนาคม 2495 เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศเนื่องจากรับทุนจากกองทัพบกโดยการสอบแข่งขันได้ไปศึกษาต่อที่ THE UNITED STATES ARMY ARMOR SCHOOL ฟอร์ทนอกซ์ ซึ่งอยู่ที่รัฐแคนตั๊กกี้ สหรัฐอเมริกา

24 เมษายน 2496 เป็นอาจารย์ในแผนกวิชายุทธวิธี กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ (บริเวณเกียกกาย) กรุงเทพมหานคร

30 ธันวาคม 2497 เป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 5 กรมทหารม้าที่ 2 และรักษาราชการอาจารย์แผนกวิชาทหาร กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ

16 ธันวาคม 2498 เป็นอาจารย์หัวหน้าแผนกวิชาทหาร กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ กองพลทหารม้า

10 มีนาคม 2501 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า

25 ธันวาคม 2501เป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า

3 กุมภาพันธ์ 2502 เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

พ.ศ. 2503 เข้าศึกษาการวิทยาลัยการทัพบก หลักสูตรพิเศษชุดที่ 2 (ยศพันเอก)

พ.ศ.2509 เข้าศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 9 (ยศพันเอก)

4 กรกฏาคม 2511 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา

1 ตุลาคม 2511 เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า

14 เมษายน 2512 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์เวร

18 กรกฏาคม 2512 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์

พ.ศ. 2515 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

16 ธันวาคม 2515 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์เวรสืบต่อไป

1 ตุลาคม 2516 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2

1 ตุลาคม 2517 เป็นแม่ทัพภาคที่ 2

เส้นทางชีวิต \"พลเอกเปรม\" ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน

1 ตุลาคม 2518 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์พิเศษ

1 ตุลาคม 2520 ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปฝ่ายทหาร และเป็นผู้ข่วยผู้บัญขาการทหารบก มียศเป็นพลเอก

12 พฤศจิกายน 2520 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

27 กรกฏาคม 2521 เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

1 ตุลาคม 2521 เป็นผู้บัญชาการทหารบก

4 ธันวาคม 2521 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

24 พฤษภาคม 2522 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

12 กรกฏาคม 2522 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์

3 มีนาคม 2523 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี

23 เมษายน 2523 ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/23 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ อันนำไปสู่การยุติสงครามกลางเมืองลงอย่างเด็ดขาด

1 พฤษภาคม 2526 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2526

5 สิงหาคม 2529 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529

เส้นทางชีวิต \"พลเอกเปรม\" ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน

โปรดเกล้าฯให้เป็นประธานองคมนตรี

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ พลเอกเปรม ลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรส ในฐานะสักขีพยาน

ข้อมูลจาก หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดนครศรีธรรมราช