'วิษณุ'แจงบิ๊กตู่เป็น'เจ้าพนักงาน'ไม่ใช่ 'เจ้าหน้าที่รัฐ'
'วิษณุ' ชี้คำพิพากษาฎีกาไม่ได้ระบุ"หัวหน้าคสช."เป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งคนละความหมาย "บิ๊กตู่" พร้อมรับคำวินิจฉัยศาลปมคุณสมบัติ
'วิษณุ' ชี้คำพิพากษาฎีกาไม่ได้ระบุ"หัวหน้าคสช."เป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งคนละความหมาย "บิ๊กตู่" พร้อมรับคำวินิจฉัยศาลปมคุณสมบัติ
การประชุมรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ในช่วงกลางคืนยังคงมีการอภิปรายอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงหนึ่ง นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายเกี่ยวกับคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ นายวัน ได้ยกคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งศาลสั่งว่าต้องไปรายงานตัวเนื่องจาก คสช.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นหลักฐานที่ชี้ว่า นายกรัฐมนตรีถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้อภิปรายชี้แจงว่า กรณีที่อ้างคำพิพากษาของศาลฏีกาเกี่ยวกับคุณสมบัติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือหัวหน้าคสช. ว่าเป็นพนักงานของรัฐ มีความคลาดเคลื่อน ในรายละเอียดของคำพิพากษาที่กล่าวอ้างนั้นไม่มีถ้อยคำใดที่ระบุถึงความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีเพียงคำว่าเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งรายละเอียดของคดีที่ยกกล่าวอ้างระบุว่า จำเลยขัดคำสั่งเจ้าพนักงานรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานมีความผิดลหุโทษ
“ขอให้ขีดเส้นใต้คำว่าเจ้าพนักงาน ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจว่า เจ้าพนักงาน กับเจ้าหน้าที่ของรัฐชะรอยจะเป็นอันเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่ เจ้าพนักงานก็คือเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่รัฐคือเจ้าหน้าที่รัฐ โดยคุณสมบัติของรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) พูดถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่เจ้าพนักงาน"นายวิษณุ กล่าว
ทั้งนี้ เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 7540/2554 วินิจฉัยคดีที่มีการฟ้องเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง ข้อหาว่าเป็นเจ้าพนักงาน ยักยอกทรัพย์สินของวัด โดยตามกฎหมายของคณะสงฆ์ถือว่าเจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงาน โดยเจ้าอาวาสรูปดังกล่าวได้สู้คดีว่า ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐด้วย แต่ศาลพิพากษาว่า จำเลยเป็นเจ้าอาวาส ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน แต่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นคนละเรื่อง คนละอย่าง ถ้ากฎหมายประสงค์เอาผิดบุคคลใด จะระบุว่า เจ้าพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายอื่นหรือไม่ เป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้พิจารณา
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตนเองเคารพในกระบวนการยุติธรรม เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตนพร้อมรับคำตัดสินทุกประการของศาล ทั้งนี้มีคดีเดียวกันที่เกิดขึ้นกับหลายคนขอให้ยอมรับ และจะยอมรับตามคำตัดสินของศาล