posttoday

ส.ส.พรรคก้าวไกลขยับแก้รธน.หมวด 1-2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

18 สิงหาคม 2563

"ณัฐวุฒิ บัวประทุม" ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอแก้รธน.หมวด 1-2 แตะต้องได้ อ้างยังมี ม.255 กำกับไว้ไม่กระทบสถาบันและรูปแบบการปกครอง พร้อมเสนอปิดสวิทซ์ ส.ว.

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ที่รัฐสภา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคก้าวไกลไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติด่วนขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการแยกเรื่องการยื่นญัตติกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในประเด็นหลักที่พรรคร่วมฝ่ายค้านพิจารณา คือ การปลดล็อค การแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณา โดยเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 พรรคก้าวไกล ในฐานะหนึ่งในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมพิจารณาตรงนี้มาโดยตลอด และสนับสนุนร่างของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านที่ได้ยื่นญัตติไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ในร่างฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดบางประการที่พรรคก้าวไกลต้องขอสงวนไว้ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลพยายามจะผลักดันต่อไป 

นายนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ในการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องมีส.ส.ร่วมลงชื่อทั้งสิ้น 100 คน หรือ 1 ใน 5 ของจำนวนส.ส.ทั้งหมดในสภา ซึ่งสิ่งที้ไม่ได้มีความแตกต่างกันและพรรคก้าวไกลกำลังดำเนินการอยู่คือการปิดสวิทซ์ ส.ว.ที่จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกมาตราหนึ่ง คือมาตรา 269-272 พรรคก้าวไกลจัดทำร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการส่งให้พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆพิจารณา คาดว่าสัปดาห์หน้าจะสามารถยื่นญัตติด่วนดังกล่าวขึ้นไปอีกฉบับหนึ่งได้ ถ้าดำเนินการเสร็จพรรคก้าวไกล จะยื่นเพิ่มเติมเข้าไปอีกฉบับหนึ่งต่างหาก รัฐธรรมนูญ2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ปิดล็อคและเป็นวิกฤตในตัวมันเอง สถานการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมาถึงทุกวันนี้ไม่มีเหตุผลอื่นแล้วที่จะไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการตั้ง ส.ส.ร. บังเอิญว่าในร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทยมีการระบุไว้ว่าจะไม่มีการแก้ไขในหมวดที่ 1-2

“ด้วยเหตุจำเป็นและในสภาพปัจจุบันรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 ซึ่งเป็นหมวดทั่วไป ไม่ใช่ไม่เคยมีการแก้ไขเลย แต่มีการแก้ไขหลายครั้งทั้งปี 2540 และปี 2550 ข้อถกเถียงหนึ่งที่เคยพูดคุยกันคือ เช่น อำนาจอธิปไตยเป็นของหรือมาจากประชาชนชาวไทย เราไม่อยากให้มีการปิดล็อคในหมวดดังกล่าวไว้ ส่วนหมวดที่ 2 เป็นหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ มีการตั้งคำถามว่า ถ้าหากมีการแก้ไข เกรงว่าส.ส.ร.จะนำข้อความแก้ไขเลยเถิดออกไป ตามกรอบที่เราไม่อาจกำหนดได้ ขอเรียนว่าในหมวดพระมหากษัตริย์ยังมีมาตรา 255 ที่ระบุไว้อยู่แล้วว่า รูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ขณะเดียวกันจะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐได้ จริงๆสิ่งเหล่านี้ถูกล็อคไว้แล้วจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องไปเขียนเพิ่มเติม จะยกเว้นการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2”นายณัฐวุฒิกล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้พูดในสภาฯถึงความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนในสังคมไทย เราควรจะเปิดกว้างให้มีการพูดคุยเรื่องเหล่านี้อย่างมีวุฒิภาวะ ดังนั้นเมื่อมีส.ส.ร.ขึ้นแล้ว ทุกๆความเห็นจะถูกนำเสนอเป็นระบบ เพื่อให้ส.ส.ร.พิจารณา อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดเราไมได้เรียกร้องเฉพาะส.ส.ฝ่ายค้าน แต่เรียกร้องไปถึงส.ส.รัฐบาลได้ร่วมลงชื่อร่างแก้ไขกับเราด้วยเช่นกัน

เมื่อถามว่า ในการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 จะมีนิยามข้อไหนที่พอจะจำกัดความได้ว่าจะไม่กระทบต่อระบบการปกครอง นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า อย่างที่ได้ระบุไว้ว่า ข้อความรายละเอียดในมาตรา 255 มันไม่มีเรื่องของการให้นิยามเป็นอื่นไปได้ มันคือคำที่มีความหมายชัดเจนในตัว ส่วนแรกเรื่องรูปแบบของรัฐว่ารัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว ไม่อาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบดังกล่าวได้และไม่อาจตีความเป็นอื่นไปได้ ส่วนที่สอง ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่สามารถเปลี่ยนแก้ไขคำสำคัญนี้ไปได้ อย่างไรก็ตามทั้งหมวด 1 และ 2 ยังมีรายละเอียดอื่นๆ นอกจากนั้น คิดว่าสังคมไทยต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะและรับฟังกันอย่างเปิดกว้าง โดยเมื่อมีส.ส.ร.ก็ให้ส.ส.ร. รับข้อเสนอของทุกฝ่ายซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีการแตะในส่วนของมาตรา 255 แต่แตะในส่วนที่สังคมไทยเรียกร้องและถกเถียงอย่างมีวุฒิภาวะ

เมื่อถามว่า 10 ข้อเรียกร้องของนักศึกษาถ้าแก้ไขจะกระทบต่อการปกครองตามมาตรา 255 หรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เรายืนยันว่า ต้องมีการเปิดพื้นที่ในการรับฟัง ตนต้องย้ำว่า 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน เป็นประเด็นหลักที่ประชาชนส่วนใหญ่และนักศึกษาเห็นร่วมกันแล้ว ใน 10 ข้อดังกล่าว มีหลายข้อควรค่าแก่การพิจารณา เราจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัยจริงๆที่จะพูดคุยกันได้ และจำเป็นต้องมีกระบวนการการรับฟังที่เป็นระบบและต้องการความคิดเห็นที่หลากหลาย ท้ายที่สุดเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบบของประชาพิจารณ์จะเป็นตัวที่เข้ามากำหนดอีกครั้ง สุดท้ายผลของการแก้ไขจะเป็นอย่างไร พรรคก้าวไกลมั่นใจว่ามาตรา 255 เป็นตัวกำหนดทิศทางเรื่องของหมวดที่ 1 และ 2 อยู่แล้วโดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องพูดในรายละเอียดที่เป็นอื่นนอกเหนือจากนั้น ซึ่งภาพรวมยืนยันข้อเรียกร้อง 10 ข้อนี้ ไม่กระทบต่อการปกครองต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐยังเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่อาจแบ่งแยกได้  

เมื่อถามว่า การที่ให้แก้ไขในหมวดที่ 1 และ 2 ได้ เป็นจุดที่ทำให้ไม่สามารถร่วมลงชื่อกับพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ใช่หรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ประเด็นเหล่านี้ ยังคงถกเถียงกันในกรรมการบริหารและส.ส.ของพรรค ท้ายที่สุดมีความเห็นร่วมกันว่า การคงข้อความดังกล่าวไว้ไม่เป็นประโยชน์ในแง่การผลักดันร่าง การไม่มีข้อความดังกล่าวก็ไม่ส่งผลต่อการผลักดันให้มีส.ส.ร. นาทีนี้คิดว่า ประเด็นหลักคือการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดพื้นที่ได้จริง และมีส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญได้จริง ถ้ายืดเวลาไปอีกก็ไม่เป็นผลดีต่อวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะไม่ลงชื่อร่วมในการยื่นญัตติของพรรคของก้าวไกลเพราะเป็นคนละแนวทางกัน นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพูดคุย และพรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่มีมติที่ชัดเจนว่ามีลักษณะแบบนั้น ซึ่งในเรื่องการปิดสวิทซ์ส.ว. ยืนยันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านและส.ส.ฝ่ายค้านเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับเรา เพียงแต่ยังอยู่ในรายละเอียดของการอ่านข้อความเพื่อลงชื่อ ซึ่งการลงชื่อเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. แต่เชื่อว่าในนามของฝ่ายค้านที่ร่วมทำงานกันมาปีกว่าจะไปในทิศทางเดียวกัน ขณะนี้ญัตติที่จะร่วมเสนอในนามพรรคก้าวไกลนั้น ได้เสียงสนับสนุนเกินกว่าจำนวนส.ส.ของพรรคก้าวไกลไปแล้ว แต่ยังไม่ถึง 1 ใน 5 ของจำนวนส.ส.ในสภาหรือ 98 คน และอยู่ในระหว่างประสานงาน หลังจากนี้เชื่อว่าจะได้เสียงครบตามจำนวน