posttoday

"สุชาติ"ชี้ไทยเศรษฐกิจทรุดหนักกว่าทุกประเทศในอาเซียน

28 มกราคม 2564

อดีตขุนคลัง"สุชาติ ธาดาธำรงเวช"ชี้การขาดความเชื่อมั่น ค่าเงินบาทแข็ง และการใช้พรก.ฉุกเฉิน ทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดหนักสุดในอาเซียน

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เจริญเติบโต คือ

(1) รัฐบาลมาจากเผด็จการ สืบทอดอำนาจ ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ขาดความเชื่อมั่น

(2) มาตรการทางการเงิน ที่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามาก เป็นเบี้ยล่างของนักเก็งกำไรในตลาดเงินและตลาดหุ้น ทำให้เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโต

(3) พรก.ฉุกเฉิน ที่ใช้การแก้ไขการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลกลาง กทม.และจังหวัด สั่งปิดสถานที่ต่างๆ อย่างขาดสติปัญญา รัฐบาลไม่เคยทำมาค้าขาย ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีรายได้จากภาษีประชาชน ไม่เคยรู้ว่าประชาชนทำมาหากินยากลำบากอย่างไร ไม่ฟังเสียงประชาชน

ปัญหาประการแรกคือ รัฐบาลมาจากการปฏิวัติ ปัจจุบันก็ยังสืบทอดอำนาจปฏิวัติอยู่มากว่า 6 ปีแล้ว ประเทศที่มีรัฐบาลมาจากการปฏิวัติ และสั่งการแบบเผด็จการ ไม่มีประเทศใดมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีเหนือ และแอฟริกาบางประเทศ ที่มีลักษณะเดียวกันนี้ เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ที่ฟังความคิดและรู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชน แต่รัฐบาลมาจากขุนศึก อำมาตย์ และนายทุน ที่มีกรอบคิดควบคุมประชาชนชน เป็นเจ้านาย ประชาชน จึงไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง ที่มีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และความยุติธรรมเป็นที่ตั้งด้วยเหตุนี้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ก็ได้ย้ายหนีจากประเทศไทย ไปประเทศที่มีระบบการปกครองที่ดีกว่า มั่นคงกว่า เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว พม่า เป็นต้น เพราะอย่างน้อยประเทศเหล่านี้ ก็มีรัฐบาลที่มาจากประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีความยุติธรรมมากพอ

จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใดเงินลงทุนโดยตรงจึงไม่เข้ามา และเงินทุนที่ลงอยู่แล้วมานานสิบปี กำลังย้ายหนีออกไป เช่น บริษัทผลิต ประกอบรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกรอบคิดของระดับนำ โดยยอมรับให้มีการแสดงออกทางความคิดเห็นใหม่ๆ ที่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตย และมีความยุติธรรม เพราะใครๆ ก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นี้ เป็นรัฐธรรมนูญของประเทศล้าหลังด้อยพัฒนา ให้มีรัฐบาลใหม่ที่ประชาชนเลือกมา เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่ให้พรรคพวกตั้งกันเอง ให้มีกระบวนการใช้กฎหมายที่มีความยุติธรรม และให้มีการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ให้เหมาะสมกับโลกสมัยใหม่ เพื่อจะได้อยู่ยงคงกระพันแบบนานาอารยประเทศ

ปัญหาประการที่สองคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไปมากมาย ทั้งๆ ที่ประเทศไม่ได้เจริญเติบโต เป็นผลมาจากรัฐบาลขาดผู้รู้ ผู้เข้าใจ ขาดผู้เชี่ยวชาญระบบเศรษฐกิจมหภาค

รัฐบาลใช้นโยบาย และมาตรการด้านการเงินแบบล้าหลัง ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ (Inflation targeting) จนต่ำเกินไปมาก หลายครั้งติดลบ ประชาชนและเอกชน ค้าขายไม่ได้กำไร หลายแห่งขาดทุน จนต้องลดการผลิต (ซึ่งลดรายได้หรือ GDP ลงด้วย) ดูได้จากการใช้กำลังการผลิตโดยรวมของไทย ปี 2563 (Capacity utilization rate) เพียง 66% เกือบต่ำที่สุดในโลก (จีน 80%, ญี่ปุ่น 90%, เกาหลีใต้ 104%)

แต่รัฐบาลปล่อยให้นักเก็งกำไร โดยเฉพาะกองทุนเก็งกำไรต่างชาติ (Hedge funds) เข้า มาหาผล ประโยชน์ จากการทำค่าเงินบาทขึ้นๆ ลงๆ ตามต้องการ แล้วได้กำไรจากประเทศไทยไป ทำให้ทรัพย์สินและความมั่งคั่งของคนไทยและของประเทศไทยโดยรวมลดลง โดยหากเปรียบเทียบง่ายๆ เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2557) เงิน 1 ริงกิตมาเลเซีย มีค่าเท่ากับ 10 บาทไทย ปัจจุบันนี้ (มกราคม 2564) เงิน 1 ริงกิตมาเลเซีย เท่ากับ 7.41 บาทไทย ก็คือเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นไปเทียบมาเลเซีย 26 เปอร์เซ็นต์ แปลว่า ถ้าเราขายสินค้าและบริการส่งออกในรูปเงินตราต่างประเทศ เราก็จะแลกเงินบาทได้น้อยลง 26 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับมาเลเซีย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยพัฒนาและเจริญเติบโตแย่กว่ามาเลเซีย เมื่อค่าเงินบาทแพง ราคาสินค้าบริการส่งออกจึงแพงกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้ขายสินค้าและบริการส่งออกได้น้อยลง จึงทำให้การผลิตลดลง ผลิตได้ไม่เต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ การจ้างงานลดลง รายได้ลดลง นอกจากนี้ เมื่อได้เงินตราต่างประเทศมาแล้ว ยังแลกได้เงินบาทน้อยลงไปด้วย แม้ต้นทุนการผลิตสินค้านั้นๆ เท่าเดิม รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ ก็คือเกษตรกรและกรรมกร ซึ่งเป็นผู้ส่งออกทางอ้อมผ่านบริษัทส่งออก จึงหายไปมากมาย ทำให้พี่น้องประชาชนยากจนลง จำนวนคนไทยที่มีรายได้ ต่ำกว่าเส้นความยากจนจึงเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน จาก 4.8 ล้านคน ในปี 2557 เป็น 6.7 ล้านคน ในปี 2562 ไทยนับเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีคนยากจนเพิ่มขึ้น

เรื่องค่าเงินบาทแพง ค่าเงินบาทแข็งเกินไป รัฐบาลปล่อยปละละเลยมานาน รัฐบาลไม่มีผู้รู้ ผู้เข้าใจระบบเศรษฐกิจมหภาคอย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก ว่าทำไมรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ปล่อยให้มีการทำลายตนเองมานานขนาดนี้ ทำให้ประเทศไทยไม่มีอนาคต

ปัญหาประการที่สามก็คือ วิธีการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าฝ่ายแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข จะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีมาก มีระบบ อสส. อสม. ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สามารถตรวจสอบและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนผู้ป่วยมีน้อย จนได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก

แต่การใช้พรก.ฉุกเฉินในการสั่งปิดจังหวัด ปิดกิจการในวงกว้าง ได้ทำลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก ประเทศยากจนอย่างเมืองไทย ประชาชนส่วนใหญ่ต้องทำงาน หาเช้ากินค่ำ การที่รัฐบาลสั่งล็อคดาวน์ระดับจังหวัด ล็อคดาวน์ระดับกิจกรรม จึงไม่ควรนำมาใช้ เพราะคนจะไม่มีกิน เกิดการหลีกเลี่ยง ควรใช้มาตรการทางสาธารณสุข เช่น ใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ซึ่งประชาชนก็ยินดีทำอยู่แล้ว มากกว่าการสั่งหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

หากรัฐบาลต้องการสั่งควบคุมพื้นที่ ควรสั่งเป็นจุดๆ ให้ขนาดเล็กที่สุด และตรวจสอบให้หมดโดเร็ว ดีกว่าการสั่งควบคุมระดับจังหวัด ผลเสียของการสั่งควบคุมระดับจังหวัดในรอบแรกเมื่อเดือนมีนาคม มีมากมาย ดังนั้น มาตรการด้านการปกครองในการระบาดในปี 64 นี้ จึงต้องระมัดระวังอย่างมาก