posttoday

“จาตุรนต์”แนะ ส.ว.-พปชร.เปิดทางแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดวิกฤตการเมือง

05 มีนาคม 2564

“จาตุรนต์”เชื่อ ศาลรัฐธรรมนูญไร้ประเด็นวินิจฉัยปมอำนาจสภาฯ แก้รัฐธรรมนูญ ชี้ ส.ว.-ส.ส.พปชร.ควรเห็นแก่บ้านเมือง

วันที่ 5 มี.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง  อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ส่งสัญญาณไปยัง ส.ว.และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ต่อการเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นทางออกให้กับประเทศ อย่างไรก็ตามตนยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ เป็นไปได้ยากมาก แต่ยังมีความเป็นไปได้ หากผู้ที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ ส.ว., ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ร่วมให้ความเห็นชอบ  ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ควรเห็นแก่บ้านเมือง มากกว่าการรักษาอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขียนโดยมีเจตนาคุ้มครองรัฐบาลปัจจุบันให้อยู่ไป 8 ปี และวางยุทธศาสตร์อยู่ยาว 20 ปี ดังนั้นจึงเขียนเนื้อหาเพื่อไม่ให้แก้ไขได้ และหากกระบวนการที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันมีปัญหาและต้องแก้ไข ถูกล้มไปเชื่อว่าจะเกิดวิฤตการเมืองที่มากขึ้น

      นายจาตุรนต์ กล่าวตอบคำถามถึงประเมินท่าทีของ ส.ว.ต่อการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญวาระสาม ด้วยว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเห็นชอบให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวเชื่อในข้อเท็จจริงที่ว่าศาลไม่มีเนื้อหาที่จะพิจารณา เพราะตามกระบวนการที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในขั้นตอนที่รัฐสภาพิจารณาเนื้อหาและลงมติในวาระสามแล้ว แต่ขณะนี้รัฐสภายังทำกระบวนการดังกล่าวไม่แล้วเสร็จ ส่วนที่ ส.ว.ใช้ข้ออ้างไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นตนมองว่าไม่เป็นเหตุเป็นผล

      “รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ได้ห้ามแก้หมวด1 บททั่วไป และหมวด 2พระมหากษัตริย์ มีเพียงว่าหากแก้ไขต้องไปทำประชามติ ทั้งนี้มีข้อห้ามแก้ไขเพียงเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง  ในมาตรา 255 ดังนั้น การที่เพิ่มห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด2 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ทำให้แก้ไขไม่ได้” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่หลายฝ่ายประเมินว่าจะวินิจฉัยว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส่วนตัวยังเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีประเด็นที่จะพิจารณา เพราะอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญคืออำนาจของรัฐสภา ดังนั้นจึงไม่มีเหตุให้การแก้ไขหยุดลง ส่วนการลงมติวาระสาม ที่ ส.ว.แสดงบทบาทนั้น  ขอให้พิจารณาด้วยว่าในวาระรับหลักการได้ลงมติไว้แล้ว และหากไม่ดำเนินการ เชื่อว่าจะเกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อความคาดหวังของประชาชนที่จะใช้รัฐสภาเพื่อแก้ปัญหา

      “ผมเป็นห่วงว่าประชาชนจะไม่พอใจมาก เพราะแม้จะมีคนบอกว่าให้แก้เป็นรายมาตรา  ส่วนตัวเชื่อว่าจะยุ่งยากและมีปัญหามาก เพราะมาตราในรัฐธรรมนูญมีความเชื่อมโยงกัน และเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาระบบ เกี่ยวกับผู้ตำแหน่งในปัจจุบัน” นายจาตุรนต์ กล่าว