posttoday

"ไทยไม่ทน" อัด ซักฟอกรัฐบาลไม่ดีขึ้น ลุยฟ้อง นายกฯ-รมต.

09 กันยายน 2564

กลุ่มไทยไม่ทน ซัด พรรคร่วมฯ โหวต “ประยุทธ์” อยู่ต่อ เป็นการกอดคอพากันไปตายเอาดาบหน้า เมิน ความขัดแย้ง ความรุนแรงทางสังคมเตรียมฟ้อง นายกฯ - รมต. “อดุลย์” ชี้“ประเทศ-ประชาชน-เศรษฐกิจ” เสียหาย

แกนนำกลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย แถลงข่าว ต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมา และการโหวตให้นายกฯ อยู่ต่อ ซึ่งเป็นการกอดคอพากันไปตายเอาดาบหน้า นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) , นายสุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟไทย , นายนันทพงษ์ ปานมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย และนายไทกร พลสุวรรณ์ เลขาธิการแนวร่วมอีสานกู้ชาติ

นายอดุลย์กล่าวว่า ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะประชาชนหวังอย่างเดียวว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้เกิดสิ่งที่เราค้นพบ 3 ข้อคือ 1. ประยุทธ์ยังคงบริหารแบบเดิมๆ และนำมาสู่การที่ประชาชนเสียหาย ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แต่การตายไม่ได้หยุด ไม่รู้จะหยุดตรงไหน วันเวลาไหน เดือนไหน ตายทุกวัน 2 . เศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการบริหารผิดพลาด นำมาซึ่งเศรษฐกิจเสียหาย ต่างชาติก็ไม่มาเที่ยวเมืองไทย แล้วจะให้ประเทศกลับไปเหมือนเดิมก็เป็นไปไม่ได้

ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า เรื่องสุดท้ายน่าเป็นห่วง คือ 3. ระบอบประยุทธ์สร้างความเสียหาย และสร้างความขัดแย้งในสังคม ผลคือประชาชนเกิดการเดือดดาลคลั่งแค้น ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีรัฐบาลไหน ที่ประชาชนเคียดแค้นและชิงชังมากเท่าระบบรัฐบาลประยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบอ้างเบื้องสูง ซึ่งตนคงต้องพูดเพราะในนาม ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสภาที่3 และในนามไทยไม่ทน เคยเตือนประยุทธ์อยู่เสมอว่า อย่าพยายามดึงสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในสังคม

“พลเอกประยุทธ์ก็พูดชัดเจนว่าเป็นผู้เดียวที่เข้าเฝ้า จึงเป็นเหตุให้สังคมไม่มีทางเข้าใจเป็นอื่นไปได้ โดยการดึงฟ้ามาต่ำและด้วยคำพูดอย่างนี้ สร้างความสับสนให้กับสังคม จึงนำมาซึ่งความรุนแรงที่เราจะได้เห็นความขัดแย้ง ที่นำไปสู่ความรุนแรง เท่าที่เรากลัวหนักหนาว่าความจริงเรื่องนี้ ไทยไม่ทนพยายามหลีกเลี่ยง และพยายามห้ามและเตือนอย่างไรก็ตามเนื่องจากประชาชนคาดหวังว่า สภาจะทำหน้าที่ตรวจสอบเอาความจริงมาปรากฏให้ประชาชนเห็นชัดเจน แต่ปรากฏว่าการทุจริตไม่โปร่งใส พฤติกรรมแบบนี้ยังคงมีอยู่ ดังนั้นเราคิดว่าสมควรแก่เวลาที่ภาคประชาชน จะต้องตรวจสอบที่เรียกว่าขบวนการ People fact finding กับเรื่องที่เกิดขึ้นต่อไป” นายอดุลย์ กล่าว

ด้าน นายเมธา กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดีมาก ชี้ให้เห็นถึงการทุจริตประพฤติไม่ชอบหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นดาวเทียมไทยคม การทุจริตในการยางแห่งประเทศไทย และการบุกรุกไม่คืนทรัพย์สินแผ่นดินกรณีเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ผลพวงจากการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านนั้นแม้จะอภิปรายชี้ชัดได้ตรงประเด็น แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ฉะนั้นจะต้องดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายต่อไป ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ผู้ที่กระทำผิดเหล่านั้นได้รับผลกรรมอย่างเป็นรูปธรรมเลขาธิการ ครป.กล่าวว่า อภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านมีประเด็นที่แหลมคมหลายเรื่องแต่ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมา ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เกิดขึ้น เป็นการใช้ผลประโยชน์แลกกับเสียง ด้วยอำนาจและเงินตราและเสียงโหวต ของสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ตามที่ทราบกันดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภายในพรรคพลังประชารัฐเองก็ตามที่นายกฯพูดคุยกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รวมถึงคดีความต่างๆที่มีการต่อรอง และระบบพรรคการเมือง ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลตัดสินใจกอดคอพากันไปตายเอาดาบหน้า โดยไม่สนใจความขัดแย้ง ความรุนแรงทางสังคม เสียงของประชาชน และข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีการอภิปรายในสภา

“สภาผู้แทนราษฎรต้องทำข้อหาต่างๆ ให้กระจ่างต่อไป เช่น การแจกเงิน ส.ส. เพื่อให้รัฐสภาหาทางออกให้ประเทศไทย ไม่เช่นนั้นระบอบประชาธิปไตยก็จะอ่อนแอ กลายเป็นระบอบที่พ่ายแพ้ให้กับอำนาจและเงินตรา ซึ่งคณะไทยไม่ทนขอร้องทุกข์กล่าวโทษ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบ และคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง” เลขาธิการ ครป.กล่าว

นายเมธา กล่าวว่า มีดังต่อไปนี้ 1. การใช้รุนแรงปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองโดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้สั่งการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติตามหลักสากล 2. การออก พรก.ฉุกเฉิน ทั้งหมดจำนวนกว่า 31 ฉบับ โดยกล่าวอ้างว่าออกมาเพื่อป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดโรคติดต่อร้ายแรง (โควิด-19) แต่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลได้ใช้การประกาศ พรก.ฉุกเฉินดังกล่าวมาดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน และการประกาศ พรก.ฉุกเฉินนั้นขัดต่อกฏหมาย หรือขัดต่อ รธน.เลขาธิการ ครป.กล่าวว่า 3. การประกาศข้อกำหนด, ระเบียบ, คำสั่ง, ข้อปฏิบัติ, การบริหารจัดการ หรือมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องโรคระบาดร้ายแรง (โควิด-19) ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงการเกิดความเสียหายในทางเศรษฐกิจ และการขาดโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน 4. การผูกขาดการนำเข้าวัคซีน และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการนำเข้าวัคซีน, เวชภัณฑ์, และยาที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด (โควิด-19) ทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นของการระบาดของโรค จนต้องเปลี่ยนแผนการฉีดวัคซีน

นายเมธา กล่าวว่า 5. การบริหารจัดการหน่วยงานและสถานพยาบาลต่างๆ ที่ชักช้า เช่น ร.พ.สนามในการรับผู้ป่วยแรกรับ, ร.พ.ของรัฐ ที่ให้การรักษาต่อประชาชนไม่เพียงพอ, ห้อง ไอ.ซี.ยู. และอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นในการให้การรักษาต่อประชาชนที่ติดเชื้อและเจ็บป่วยด้วยโรคระบาด (โควิด-19) จนต้องเปลี่ยนนโยบายให้มีการรักษาที่บ้าน และการนอนรอความตายรอเตียงที่เต็มอยู่ว่างลง 6. การเข้าครอบครองที่ดินเขากระโดงของครอบครัวชิดชอบ โดยละเว้นไม่สั่งการให้หน่วยงานการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงในการเพิกถอนและทวงคืนที่ดินคืนตามคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยอ้างว่าตนเองเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยในสภาฯ

เลขาธิการ ครป.กล่าวว่า 7. การปล่อยให้เกิดโรคระบาด “ลัมปี-สกิน” ในโค-กระบือ ของเกษตรกรทั่วประเทศทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากโดยมี โค-กระบือ ล้มตายเป็นจำนวนมาก รวมถึงการบริหารจัดการซื้อวัคซีนที่ไว้สำหรับฉีดป้องกันโรคให้กับโค-กระบือของประชาชนบกพร่องไม่เพียงพอ โดยกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีจนโรคระบาดกระจายไปทั่วประเทศ

นายเมธา กล่าวว่า 8. การขายยางพาราใน กยท.”การยางแห่งประเทศไทย” (Rubber Authority of Thailand) อันสืบเนื่องมาจากการล็อคสเป็กราคา, การออก ที.โอ.อาร์.กำหนดคุณสมบัติเอื้อประโยชน์บริษัทคู่ค้าที่เข้าซื้อยางแท่งรมควันในสต็อกทั้งหมดของ “การยางแห่งประเทศไทย” ในราคาถูก ซึ่งทำให้กลไกราคาตลาดผิดเพี้ยนมีผลทำให้เกษตรกรขายยางได้ในราคาต่ำ และทำให้รัฐเสียหายจำนวนมาก และ 9. กรณีการเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการคดีพิพาทเรื่องดาวเทียมไทยคม 3 ครั้ง ส่งผลกระทบต่อความไม่เป็นกลางและเป็นอิสระในการทำหน้าที่และอาจทำให้ฝ่ายรัฐแพ้คดีพิพาทดังกล่าวให้กับเอกชน ซึ่งจะส่งผลให้มีความเสียหายกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท พร้อมให้ไทยคมเข้าบริหารและเช่าดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ต่อจาก เหมือนเป็น “สัมปทานจำแลง”

เลขาธิการ ครป.กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฎิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยจะต้องถูกดำเนินการเพื่อรับผิดทางการเมืองและทางกฎหมายต่อไป