"สุเทพ" ชื่นชม "ตรีนุช - เอนก"ทำโครงการช่วยอาชีวะ-บัณฑิตจบใหม่-คนว่างงาน มีรายได้
“สุเทพ” ชื่นชม ให้กำลังใจ “ ตรีนุช - เอนก ” ทำหลายโครงการเพื่อนักเรียนอาชีวะ บัณฑิตจบใหม่ คนว่างงาน มีรายได้ หวัง ช่วยยกระดับรายได้ครัวเรือน คุณภาพชีวิต ในช่วงภาวะเศรษฐกิจ มีปัญหา
เมื่อวันที่ 23 มิย. 65 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปท.)เผยแพร่รายการ “คุยกับลุง” EP 32 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)” ตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่แล้ว ได้เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการ มหาวิทยาลัย ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้มีโอกาสไปพบ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้ทักทายสนทนากันในเรื่องที่ นางสาวตรีนุช ได้เสนอขออนุมัติจากครม. ทำโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ” อันนี้เป็นเรื่อง ที่น่าตื่นเต้น เพราะเรา อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง การเรียนการสอนในระดับอาชีพศึกษาของประเทศ ในลักณะอย่างนี้มานานแล้วคราวนี้ นางสาวตรีนุช ทำสำเร็จ และครม.เองได้อนุมัติเงินจำนวน 610 ล้านบาท เพื่อมาทำโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ในระยะแรก โครงการที่ 1 ที่จะทำติดต่อกัน 3 ปี ( 2565-2567 ) เห็นว่ารัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี นางสาวตรีนุช เทียนทอง เป็น รมว.ศึกษาธิการ ได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง สมควรที่จะได้รับการชื่นชมจากประชาชน เพราะว่า ประชาชนเรียกร้องมานานแล้วว่า อยากจะเป็นรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนในการผลิตนักศึกษา ระดับปวช.ปวส.เพื่อออกไปเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศ คนทำงานสำคัญของประเทศคือ คนที่จบ ปวช.ปวส.แต่ว่าในชนบท ลูกหลานชาวบ้านกระจายกันอยู่ตามที่ต่างๆพ่อแม่มีลูกหลายคน ค่ารถที่จะมาเรียนในโรงเรียนอาชีวะที่อยู่ในเมือง เป็นภาระสำหรับผู้ปกครองมาก การที่นางสาวตรีนุช ทำโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” เป็นการช่วยเหลือครอบครัวประชาชน เปิดโอกาสให้ลูกหลานคนเหล่านั้น ได้มีอาสไปเรียนอาชีวะ ออกไปทำงานช่วยเหลือครอบครัวตัวเองต่อไปได้ ประชาชนอย่างพวกเราคิดอ่านเรื่องนี้กันมานานแล้ว เราได้ร่วมมือกันสร้างวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ขึ้นที่ เกาะสมุย ทำกันตามความคิดความฝัน สร้างสถานศึกษา ที่ลูกชาวบ้านสามารถมาเรียนหนังสือได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีหอพักให้อยู่ มีอาหารให้รับประทานทุกมื้อ เรียนฟรีมีอุปกรณ์การเรียนการสอนครบ สอน ให้ลูกชาวบ้านเป็นมืออาชีพจริง เอามืออาชีพมาสอนทำกันปีนี้เป็นปีที่6แล้ว มีนักศึกษามาจากทุกภาคทั่วประเทศชาวเขาก็มี ที่วิทยาลัยแห่งนี้นอกจากระบบอยู่ประจำ เรื่องสำคัญคือว่านักศึกษาที่อยู่ที่วิทยาลัยแห่งนี้ต้องประพฤติ ปฏิบัติตัวเหมือนชาววัดอยู่ในศีลในธรรมปฏิบัติธรรม ทำวัตรเช้าเย็น นั่งสมาธิ ฟังเทศน์เช้าเย็น ในระหว่างสัปดาห์มีชั่วโมงเรียนธรรมศึกษา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสอนนักธรรม นักธรรมตรี- โท-เอก เด็กของวิทยาลัยในรอบ5 ปี มีสอบได้นักธรรมตรี- โท และมีบางส่วนได้นักธรรมเอก นอกจากเป็นมืออาชีพแล้วยังเป็นคนดีมีคุณธรรม มีศีลธรรม และเวลาไปสมัครงานที่ไหนทุกหน่วยงานยินดีต้อนรับ
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า โครงการของ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ นอกจากเรียนกันอย่างจริงจังเพื่อให้เป็นมืออาชีพและปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดทุกวันแล้วเรายังยึดถือวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงพระราชทานแนวทางไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าสำหรับคนไทย นักศึกษา อาจารย์ จะทำนา เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผักเรียกว่า ให้มีความพอเพียงอยู่จริงทำติดต่อกันมาทุกปี ในเนื้อทีเกือบ70 ไร่ ไม่มีภารโรง นักศึกษาและ อาจารย์ช่วยกันทำ นี่คือรูปแบบ วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่ประชาชน อยากเห็น ลงมือปฏิรูปการศึกษาโดยฝีมือประชาชนกันมาอย่างนี้ วันนี้ดีใจที่นางสาวตรีนุช คิดเห็นเหมือนเราคือมองเห็นแล้วว่า รัฐบาลจะต้องลงทุนในการสร้างมืออาชีพที่เรียนปวช.ปวส.แล้วออกไปทำงานในภาคส่วนต่างๆทั้งของรัฐและเอกชน
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า อยากจะถือโอกาสนี้ กราบเรียนกับพี่น้องประชาชนว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) โดย นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.ให้ความสนใจเอาจริงเอาจังในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในระดับอาชีวะ โดยได้กำหนดเป็นนโยบายให้มหาวิทยาลัยต่างๆคิดสร้างโรงเรียนอาชีวะสาธิต แต่ละมหาวิทยาลัยขึ้น ตอนนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ลงมือทำแล้ว ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฎ 30 กว่าแห่งก็กำลังเตรียมการที่จะทำเรื่องนี้อยู่ อันนี้ก็เป็น ปรากฏการณ์ สำคัญในการปฏิรูปการศึกษา ระดับอาชีวะ ตนตื่นเต้นกับเรื่องนี้เพราะกระทรวงศึกษาธิการ /กระทรวง อว.ร่วมมือกัน รวมพลังกัน เพื่อที่จะนำเอาองค์ความรู้ เอางานวิจัย เอาผลงานคิดค้นทางนวัตกรรม ออกไปช่วยเหลือและให้ความรู้กับประชาชนอย่างนี้ประเทศเราอยู่รอด และตนยังตื่นเต้นอีกเรื่องคือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาครม.อนุมัติงบประมาณจำนวน 3,566 ล้านบาท ทำโครงการ U2T ระยะที่2 พี่น้องคงจำได้เมื่อปีแล้ว กระทรวง อว. ได้เคยเสนออนุมัติต่อครม.ทำ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (โครงการ U2T ) จัดทีมอาจารย์ บัณฑิต นักศึกษา และประชาชน ทีมละ20 คน เพื่อลงพื้นที่3 พันกว่าตำบล เพื่อนำเอาองค์ความรู้ และผลงานวิจัย นวัตกรรมไปช่วยยกระดับรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน แม้ว่าจะเป็นโครงการที่เริ่มทำเป็นครั้งแรก แต่ก็มีความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ปีนี้ทางกระทรวง อว.จึงได้ทำโครงการระยะที่ 2 ขึ้นและทำครบทุกตำบล 7,435 ตำบลใน77จังหวัด ซึ่งตอนนี้เริ่มลงมือแล้ว โครงการจะทำให้บัณฑิต และ ประชาชนมีงานทำเพิ่มขึ้น 68,000 คน และจากการติดตามข่าวมาพบว่ามีการรับสมัครทางออนไลน์ ตั้งเป้ารับสมัคร 68,350 คน มีคนสมัครมาแล้ว 66,056 คน โดยเป็นบัณฑิตจบใหม่40,943 คน ที่เหลือเป็นประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ เพราะฉะนั้นใครที่สนใจก็ลองไปสมัครทางออนไลน์ดู และตนคิดว่า เมื่อผ่านระยะที่2 แล้วก็น่าที่จะทำต่อเนื่องเราจะได้มีคนเข้าไปดูแลช่วยเหลือสนับสนุนครอบครัวของประชาชนในทุกภาคส่วนทั้งในเมืองและในชนบท ให้เขาได้มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ครอบครัว อย่างนี้นี้เราสู้ได้ ถ้าปัญหาเศรษฐกิจ จะเป็นอย่างนี้ หรือ รุนแรงกว่านี้ ก็จะไม่น่ากลัว เรามีเรื่องดีๆมีโครงการดีๆสมควรที่จะติดตาม และมีนักการเมืองดีๆที่คิดทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่าง นางตรีนุชเทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว. การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ต้องขอปรบมือให้ขอเป็นกำลังใจ สู้ต่อไปเพื่อชาติ เพื่อประชาชน