เสียงจากเหยื่อ...เมื่อกระบวนการยุติธรรมข่มขืนซ้ำ
ผู้หญิงหลายคนอับอายไม่กล้าไปแจ้งความเหยื่อเคยถูกขืนใจเรียกร้องให้กล้าแสดงตัวเมื่อถูกกระทำ
ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
เสียงเรียกร้องเพิ่มอัตราโทษประหารชีวิตคดีข่มขืน ดังมากขึ้นๆ หลังคดีน้องแก้ม แต่สิ่งสำคัญที่อาจมากกว่าการเรียกร้องโทษประหารซึ่งเสมือน‘การแก้แค้น’ ต่อผู้กระทำผิดแล้ว การปกป้องดูแลผู้ถูกกระทำ ตลอดจนพ่อแม่ ญาติใกล้ชิดของผู้ที่ถูกกระทำ ให้ได้รับการดูแลเยียวยาทางจิตใจ ตลอดจนให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสม ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรต้องปรับเปลี่ยนโดยด่วนเช่นกัน...
“กระบวนการยุติธรรมต้องปรับอย่างมาก ตอนแรกที่ขวัญเจอ ตำรวจแม้จะเป็นร้อยเวรผู้หญิงแต่ก็ไม่รับแจ้งความ เราได้รับการกระทำที่แย่มาก เท่าที่ได้ตามข่าวน้องแก้ม ญาติน้องแก้มก็ประสบเช่นกัน นี่คือสิ่งเร่งด่วนที่ต้องปรับปรุง ส่วนในกระบวนการศาล ทนายความควรจะมีการอบรมเรื่องมารยาท การพิจารณาคดีในศาล ความรู้สึกของขวัญตอนที่อยู่ในศาล เหมือนถูกข่มขืนอีกครั้งกลางศาล คำถามแต่ละคำที่ทนายความจำเลยถาม มันทำร้ายจิตใจ ดูถูกคุณค่าความเป็นลูกผู้หญิง และความเป็นมนุษย์ เช่นถามว่า อวัยวะเพศของคนที่ทำมันใหญ่เท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ คำถามพวกนี้มันทำร้ายจิตใจมาก น่าจะมีการกลั่นกรอง หรือทำอะไรสักอย่างให้ผู้หญิงรู้สึกดีขึ้น
ขวัญเชื่อว่าผู้หญิงหลายคนอับอายและไม่กล้าไปแจ้งความ ขวัญอยากเรียกร้องให้ผู้หญิงออกมาแสดงตัวเมื่อถูกกระทำ เพื่อว่าจะได้รับการบำบัดทางจิตใจเป็นขั้นเป็นตอน กรณีของขวัญกว่าจะได้รับการบำบัดใช้เวลานาน เวลานั้นภาวะทางจิตใจของขวัญแย่มาก”
... นี่คือความรู้สึกของ ‘ขวัญ’ ซึ่งเธอถูกลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ข่มขืนบนรถไฟ เมื่อปี 2544 แม้ผู้กระทำผิดจะไม่ฆ่าเธอ แต่ขวัญบอกว่าชีวิตที่เหลืออยู่ของเธอนั้นเหมือน‘ตายทั้งเป็น’ ถูกบีบออกจากงาน มีอาการประสาทหลอน ควบคุมสติไม่ได้ ต้องเข้ารับการบำบัดนานหลายปี และเธอเลือกจะใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน
“ทุกวันนี้ดิฉันมีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น 10 กว่าปีที่ผ่านมา ดิฉันไม่เคยนอนหลับตอนกลางคืนเลย มันยากที่จะลืม”
ในฐานะผู้ที่เคยเป็นเหยื่อ ขวัญกล่าวถึงการเพิ่มโทษประหารชีวิตในคดีข่มขืนอย่างน่าสนใจว่า
“หากใช้อารมณ์ตอบก็คงเห็นด้วย แต่ถ้าใช้สติคิดก็จะเห็นว่าไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย เนื่องจากเชื่อว่าคนที่กระทำการข่มขืน ณ ขณะนั้น ล้วนขาดสติ ไม่มาคำนึงถึงถึงโทษที่จะได้รับว่ามากน้อยอย่างแน่นอน เราควรเน้นการแก้ไข ไม่ใช่การแก้แค้น โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบคุ้มครองความปลอดภัยของสตรี อีกทั้งถ้าระบบกระบวนการยุติธรรม ศาล การเยียวยาชดเชยกับเหยื่อดีกว่านี้ ขวัญคิดว่าผู้หญิงจะกล้าออกมาแสดงตัวมากขึ้น ถ้าเปิดเผยมากขึ้นอาจทำให้คดีต่างๆ ลดลง เพราะเหยื่อกล้าจะเรียกร้อง เพราะที่ผ่านมาผู้หญิงอับอาย”
ขวัญ เป็นตัวอย่างของผู้หญิงที่กล้าต่อสู้เพื่อทวงความยุติธรรม แต่การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมนั้น เธอบอกว่า เหมือนการถูกข่มขืนซ้ำ
เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายความของขวัญในคดีนี้บอกว่า การทำคดีมีปัญหามาก เนื่องจากตำรวจ สน.นพวงศ์ ซึ่งเป็นตำรวจรถไฟ ไม่ยอมรับแจ้งความ โดยให้แจ้งเป็นเรื่องร้องเรียนทางวินัยเท่านั้น พร้อมกับให้ผู้เสียหายไปแจ้งความที่ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุแทน
“หลังจากนั้น ผู้เสียหายได้เดินทางไปแจ้งความที่กองปราบปราม ซึ่งภายหลังสอบปากคำ ตำรวจก็บอกว่าไม่ใช่เขตอำนาจ เพราะเขตอำนาจอยู่ที่ สน.นพวงศ์ หลังจากนั้น ผู้เสียหายจึงได้มาขอให้มูลนิธิเพื่อนหญิงช่วยเหลือ พอเริ่มเป็นข่าว ตำรวจก็รับแจ้งความ ใช้เวลากว่าจะรวบรวมสำนวน ให้อัยการส่งฟ้อง ใช้เวลาทั้งสิ้นเกือบ 2 ปี”
ทนายเยาวลักษ์บอกว่า ขั้นตอนที่ล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่อยู่ที่การรวบรวมพยานหลักฐานทำสำนวนเพื่อสั่งฟ้องของตำรวจ แต่เมื่อเข้าสู่ชั้นอัยการก็ไม่นาน จนในที่สุด ทุกศาลยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุกผู้ต้องหา แต่ที่ยังค้างอยู่คือคดีแพ่ง ที่ผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน
“ปัญหาสำคัญอยู่ที่ตำรวจไม่รับแจ้ง อ้างแต่ว่าไม่ใช่พื้นที่ของตัวเอง อีกปัญหาหนึ่งก็คือ คดีล่วงละเมิดทางเพศ หรือคดีที่เป็นคดีข่มขืนทุกคดี มีปัญหาเหมือนกันหมดคือ เจ้าหน้าที่มักจะ ‘ตั้งแง่’ กับผู้เสียหาย ว่าเป็นการข่มขืนจริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน บุคลากรบางคนในกระบวนการยุติธรรมยังมีอคติกับผู้หญิง ทำให้ไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งคดีนี้ ก็โดนตั้งคำถามจากเจ้าหน้าที่เช่นกันว่า การข่มขืนบนรถไฟ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อรถไฟมีที่นอนตั้งเยอะ หลังจากนั้นเราต้องใช้เวลาหาหลักฐาน และชี้แจงนานมาก กว่าเจ้าหน้าที่จะยอมรับ”
เยาวลักษ์ยังได้ยกตัวอย่างอีก 2 คดีที่เคยทำ ได้แก่ คดีที่ผู้เสียหายถูกข่มขืนในโรงแรมม่านรูด และในรถยนต์ ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะตัดสินลงโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษา โดยระบุว่า การข่มขืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโรงแรมม่านรูด และในรถยนต์ โดยระบุว่าเป็นลักษณะ “สมยอม” มากกว่าการถูกข่มขืน
“ที่ผ่านมา คดีที่คนแปลกหน้าข่มขืน ผู้เสียหายจะมีโอกาสชนะคดีมากกว่า แต่ในคดีที่คนใกล้ชิดข่มขืน จะต้องใช้เวลานาน และบางครั้งก็แพ้คดี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ จนถึงศาล ไม่เชื่อว่าคนใกล้ชิดจะสามารถข่มขืนได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องเรียนรู้พฤติกรรม และมองสถิติคดีให้มากขึ้น” เยาวลักษ์กล่าว
ขณะที่การรณรงค์ให้ผู้ต้องหาคดีข่มขืนทุกคดีต้องถูกประหารชีวิตนั้น เยาวลักษ์บอกว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่มีหลักประกันว่าหากประหารชีวิตมากขึ้นแล้วการกระทำผิดจะน้อยลง ไม่ใช่การแก้ไขแต่เป็นการสนับสนุนการใช้อารมณ์และความรุนแรงมากกว่า
ส่วนกระบวนการลดหย่อนโทษนักโทษโดยกรมราชทัณฑ์ เยาวลักษ์ยอมรับว่า กรมราชทัณฑ์ยังคงเป็นแดนสนธยา ที่ไม่เคยได้รับการตรวจสอบว่า กระบวนการขอลดหย่อนโทษนั้นเป็นอย่างไร และมีกระบวนการฟื้นฟูบำบัดจิตใจผู้ต้องหาก่อนที่จะปล่อยตัวหรือไม่ เพราะสถิติที่ผ่านมา เมื่อปล่อยตัวแล้ว มีการออกมากระทำผิดซ้ำซาก โดยเฉพาะในคดีข่มขืนมีสถิติการก่อเหตุซ้ำเกินครึ่ง
กระบวนการยุติธรรมควรปรับวิธีการอย่างไร เพื่อคุ้มครองปกป้องเหยื่อในคดีละเมิดทางเพศ ?
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า มาตรการทางกฎหมายในปัจจุบันไม่ได้สนับสนุนให้ผู้เสียหายแข้มแข็งที่จะสู้คดีไปให้ถึงที่สุด
“ผู้เสียหายจะถูกแรงเสียดทานจากสังคม รวมถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรม ความอับอายไม่กล้าบอกใคร นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรมค่อนข้างใช้เวลาในการไต่สวนคดีนาน เพราะต้องสืบสวน หาพยานหลักฐานต่างๆอีกมากมาย ทั้งพยานหลักฐานบุคคล แวดล้อม ซึ่งกลไกมันไม่สะดวกกับผู้เสียหาย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีศาลพิเศษว่าด้วยคดีเพศ กระบวนการทางคดีต้องรวดเร็ว เป็นมิตรเป็นธรรมให้กับผู้เสียหายเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการต่อสู้ ควรต้องมีการทบทวนวิธีการพิจารณาคดีเพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสม โดยในส่วนของพนักงานสอบสวน ศาล อัยการ ควรแยกเป็นคดีพิเศษและเป็นผู้หญิง การทำคดีต้องจบเร็ว เพราะปัจจุบันบางคดีใช้เวลาสืบสวนนานนับ 10 ปี”
สุเพ็ญศรี ยังกล่าวอีกว่า กฎหมายปัจจุบันไม่ปกป้องหรือคุ้มครองผู้เสียหาย แต่จะปกป้องผู้ต้องหาและจำเลย อย่างการสอบปากคำผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจะแจ้งสิทธิ์ว่าผู้ต้องหามีสิทธิอะไรบ้าง อย่างเช่น มีการจัดหาทนายความให้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนผู้เสียหายก็ต้องจ่ายเงินค่าทนายเอง หรือผู้เสียหายอายุเกิน 18 ปี ก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนโดยคนเดียว และการสอบสวนของเจ้าหน้าที่บางครั้งคดีเกี่ยวกับเพศไม่ได้ถูกฝึกมาเป็นพิเศษ จึงต้องมีแผนกชำนาญการโดยเฉพาะ เช่นอาชีพหมอหรือแพทย์ก็จะมีเฉพาะทาง
“ควรต้องมีการแก้ข้อกฎหมายทั้งระบบ ตั้งแต่เรื่องความเข้าใจ ทัศนคติของคนทำงาน และสังคมให้มีส่วนในการแก้ไขปัญหา ส่งเสริมหลักสูตรการศึกษาในมิติเรื่องเพศสภาพหญิงชาย เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถ้ามีความเคารพกันคนก็จะไม่ทำร้ายหรือข่มขืน กระบวนการลงโทษจะต้องรวดเร็ว หรือหากมีการปล่อยตัวชั่วคราวต้องมีกระบวนการติดตาม พร้อมมีข้อห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาไปยุ่งเกี่ยวกับพยาน เพราะบางที่ผู้ต้องหาเข้าไปก้าวก่ายในส่วนของพยาน”
นี่คือเสียงเรียกร้องจากผู้ถูกกระทำ ทนายความ และนักสิทธิสตรี ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการละเมิดทางเพศ ซึ่งมองถึงการปกป้องคุ้มครอง ให้ความเป็นธรรมและเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้ถูกกระทำเป็นหลัก มากกว่าการแก้แค้นผู้กระทำผิดด้วยการลงโทษรุนแรงเพียงอย่างเดียว
สถิติความรุนแรงทางเพศ
ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในปี 2556 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศทั้งสิ้น 223 ราย เสียชีวิต 29 ราย โดยเหยือ 1 ใน 3 มีอาการหวาดผวา ระแวง และซึมเศร้า พื้นที่ซึ่งเกิดคดีข่มขืนมากเป็นอันดับ 1 คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมา จังหวัดชลบุรี สมุทรปราการ และ นนทบุรี
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศ ดื่มแอลกอฮอล์ 37.70 % มีปัญหาการควบคุมยับยั้งอารมณ์ทางเพศ 24.50 % และ ต้องการชิงทรัพย์ 20.80 %
เฉลี่ยอายุผู้ที่ถูกกระทำ อายุ 11-15 ปี 35.10 % อายุ 16-20 ปี 22.00 % และ อายุ 26–30 ปี 10.10 %
ความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำคือ เป็นคนแปลกหน้า 47.50 % เป็นคนรู้จักคุ้นเคยกัน 41.80 % เป็นคนในครอบครัว/เครือญาติ 5.60 % และเป็นคนที่รู้จักผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก 5.10 %
สำหรับเหยื่อที่ถูกกระทำมากที่สุด นักเรียน/นักศึกษา 59.20 % เด็กเล็ก 6.60 % พนักงานบริษัท 5.40 %
ผู้กระทำหรือผู้ก่อเหตุมากที่สุด คือ ลูกจ้าง/รับจ้าง 19.20 % ว่างงาน 14.30 % นักเรียน/นักศึกษา 12.80 % ครู/อาจารย์ 8.50 % และขับรถตู้/รถแท็กซี่ 7.8 %