posttoday

จาก"ศศิน"ถึงคสช.5ปมสิ่งแวดล้อมต้องปฏิรูป

26 สิงหาคม 2557

ฟัง"ศศิน เฉลิมลาภ" วิเคราะห์ถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจภายใต้ยุคคสช.

เรื่อง : อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ : ภัรชัย ปรีชาพานิช 

ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ

คำว่า "ปฏิรูป"ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันคึกคักและเปี่ยมด้วยความหวัง ทหารออกโรงจัดระเบียบสังคมอย่างเอาจริงเอาจังด้วยสไตล์โผงผางดุดัน เรียกคะแนนเสียงจากประชาชนได้ไม่น้อย

ปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ถูกจับตามองจากเหล่าบรรดานักอนุรักษ์ว่าจะได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่หรือไม่ และจริงจังแค่ไหน

ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่าคสช.ไม่ได้สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษนัก

"ผมเองก็แอบไปยื่นเรื่องคัดค้านเขื่อนแม่วงก์กับเขาเหมือนกันนะ เพราะอยากให้ข้อมูลกับคสช. แค่ยื่นเรื่องให้ทราบไว้ จะทำไม่ทำยังไงค่อยว่ากัน

บอกตรงๆว่าไม่คาดหวังอะไรมาก เพราะภารกิจหลักของคสช.คือเรื่องปรองดองสมานฉันท์ อีกทั้งคุณประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ไม่เคยแสดงวิสัยทัศน์อะไรในเรื่องสิ่งแวดล้อม เขามาแค่ชั่วคราว แถมยังมาด้วยวิธีไม่ปกติ ก็คงต้องรอให้มีรัฐบาลนั่นแหละถึงจะคิดเรื่องปรับฐานการพัฒนาประเทศได้

ตอนนี้แค่อยากให้วางรากฐานอะไรให้ดีๆ ใช้ความรวดเร็วขณะที่บ้านเมืองยังไม่มีฝ่ายค้านสะสางปัญหาต่างๆเช่น การปราบปรามขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง รีสอร์ทที่บุกรุกป่า จัดระเบียบชายหาด ที่ทำอยู่นี้เป็นเรื่องน่าชื่นชม หรือการออกฎหมายที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม แต่คิดว่าคงไม่มีใครชงเข้าไปหรอก เพราะยุคนี้เป็นยุคของการพัฒนา ไม่ใช่ยุคของสิ่งแวดล้อม"

ยุคสิ่งแวดล้อมเฟื่องฟูในความหมายของนักอนุรักษ์ผู้นี้ คือ ช่วงทศวรรษที่ 2530 เมื่อสังคมไทยตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ผู้คนให้ความสนใจเรื่องการคัดค้านสร้างเขื่อนน้ำโจน เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนปากมูล เหตุการณ์ซุงถล่มเพราะน้ำป่าที่อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ทำให้คนรู้ถึงพิษภัยของการตัดไม้ทำลายป่า สืบ นาคะเสถียรยิงตัวตายจนตกเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ กลุ่มคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย จนถึงการจัดประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมระดับชาติ

"ปี 2535 สมัยคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯภายใต้รัฐบาลรสช. มีกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสำคัญๆออกมาหลายฉบับ เช่น พรบ.คุ้มครองสัตว์ป่า หรือพรบ.สิ่งแวดล้อม เนื่องจากช่วงนั้นกระแสสิ่งแวดล้อมแรงมาก ต่างจากตอนนี้ที่มันกลายเป็นยุคของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจไปแล้ว"

แม้กระทั่งแวดวงนักอนุรักษ์เอง ศศินก็ยอมรับว่าพลังถดถอยลงอย่างน่าใจหาย

"เมื่อก่อนเรามีบุคลากรทางสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นเยอะ นักวิชาการที่มีความรู้และกล้าออกมาพูดอย่างอาจารย์สุรพล สุดารา อาจารย์ปริญญา นุตาลัย อาจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ หรือข้าราชการคุณสืบ นาคะเสถียร ไม่มีให้เห็นแล้ว  รุ่นใหม่ๆอาจจะมีอยู่แต่บทบาทไม่เด่นเท่า ที่เหลืออยู่ก็แก่กันหมด ล้มหายตายจากไปก็เยอะ เลิกทำงานไปเพราะขาดเงินทุนก็มาก"

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือบอร์ดสิ่งแวดล้อม ในยุคคสช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสูงในการควบคุมดูแลนโยบานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ศศินบอกว่าจัดว่าหน้าตาดี ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่

"คีย์สำคัญคือกรรมการผู้ทรงวุฒิจากภายนอก คนที่มีคุณภาพที่ผมรู้จัก อย่างอาจารย์อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตร เคยเห็นฝีมือและทัศนคติกันอยู่ก็ถือว่าเป็นนักวิชาการที่ดีมากคนหนึ่ง ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นี่ก็มือหนึ่งด้านสิ่งแวดล้อม อาจารย์สุวิชญ์ รัศมิภูติ ดร.พิจิตต รัตตกุล ภาพรวมถือว่าโอเคนะ เพียงแต่ว่าจะออกแอ็คชั่นได้มากแค่ไหนเวลาที่จะต้องทัดทานกับการพัฒนา"

อย่างไรก็ตาม ความอึดอัดที่คุกรุ่นในใจเหล่าอนุรักษ์ หนีไม่พ้นการไม่รับฟังเสียงของภาคประชาสังคม

"ส่วนใหญ่จะเลือกฟังแต่ปลัดกระทรวง ข้าราชการระดับสูง อาจจะมีหอการค้า หรือสมาคมผู้ประกอบการอะไรต่างๆ อันนี้ก็ต้องให้เกียรติ เพราะเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคม แต่คนทำงานสายสังคมจริงๆอย่างเอ็นจีโอคงไม่มีใครฟังอยู่แล้วมั้ง งั้นก็คงไม่เป็นเอ็นจีโอ เอ็นจีโอต้องเรียกร้องในสิ่งเขาไม่หยิบขึ้นมาอยู่แล้ว คนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมเขาต้องหยิบเอาสิ่งที่ไม่ใช่กระแสหลัก หรืออะไรที่มันเป็นสิทธิของคนส่วนน้อย มันก็ต้องหากลวิธีที่จะต้องทำให้มันขึ้นมาถ่วงดุลให้การพัฒนามันไม่ได้ไปเร็วนักจนเกิดผลกระทบ มันต้องมีคนดึงไว้บ้าง"

จาก\"ศศิน\"ถึงคสช.5ปมสิ่งแวดล้อมต้องปฏิรูป

ในมุมมองของศศิน เขามองว่าสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วงที่สุดขณะนี้มีอยู่ 5 ประเด็น

1.ป่า ส่วนใหญ่ยังคิดว่าป่าถูกทำลายเพราะคนขาดจิตสำนึก แต่ป่าถูกทำลายเพราะหน่วยงานที่ดูแลขาดประสิทธิภาพต่างหาก คนไม่เคยมีจิตสำนึกเรื่องป่าอยู่แล้ว เพราะคนจนก็มีข้ออ้างว่าทำเพื่อความยากจน คนรวยก็เป็นธรรมชาติของเขาที่จะต้องแสวงหาผืนดินสวยๆไว้เป็นบ้านพักตากอากาศ ไอ้จิตสำนึกตรงนี้ไม่ต้องไปเรียกร้องหรอก เพียงแต่ว่าจะทำยังไงให้คนที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลทำงานอย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า ทำยังไงไม่ให้ป่าสงวนโดนรุก ต้องแค้นให้ถูกเป้า เฝ้าให้ถูกศาล ป่าสงวนหมดแน่ภายใน 5 ปี ถ้าหน่วยป้องกันรักษาป่ายังไม่ทำงานเต็มที่

2.ทะเล โดยเฉพาะชายฝั่ง ถ้ายังปล่อยให้กรมเจ้าท่าสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบสะเปะสะปะ โดยไม่ดูฤดูกาลหรือสาเหตุที่แท้จริง สักวันก็จะหมดระบบนิเวศน์หาดทราย หรือทัศนียภาพสวยๆของชายหาด เนื่องจากการไปสร้างกำแพงกั้นทราย เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเขารู้กันหมด 

3.การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมแบบไร้ทิศทาง บางแห่งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม คิดแต่จะสร้างกัน อย่างท่าเรือปากบาราที่สตูล ทำกันแบบไม่สนใจเรื่องระบบนิเวศน์ และสิ่งมีชีวิตที่มันจะต้องหายไป  ของดีๆดีคุณก็จะทำลายให้เป็นนิคมอุสาหกรรมหมด

4.การขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ โดยทุนต่างชาติ ถามว่าไทยเราได้ประโยชน์คุ้มค่าแค่ไหน อย่างน้ำมันในอ่าวไทย หรือเหมืองทองที่พิจิตร ทุกฝ่ายควรมานั่งคุยกันว่าจริงๆแล้วข้อมูลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เราเสียเปรียบแค่ไหน มันจะเกิดมลพิษ เกิดระเบิดเวลาในอนาคตอีกมากมาย

5.น้ำท่วม ความหวาดผวายังคงอยู่ ไม่รู้ว่ามันจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ระบบนิเวศน์บนพื้นที่ลุ่มพื้นที่ชุ่มน้ำมันพังหมด เพราะโครงสร้างป้องกันน้ำท่วม มันควรเป็นพื้นที่คอยรับน้ำ แต่คุณกลับพยายามป้องกันมัน และก็ขยายพื้นที่อสังหาริมทรัพย์เข้าไปจนเต็มพื้นที่ ถึงเวลามันก็อาจจะป้องกันน้ำท่วมได้ แต่ระบบนิเวศน์เสียหายหนัก พันธุ์พืชพันธุ์ปลาที่มันจะต้องหายไปจากธรรมชาติ"

ทั้งหมดนี้คือมุมมองของศศิน เฉลิมลาภ นักอนุรักษ์คนดังที่มีต่อประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ ภายใต้ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง