จับมา-ขายไป...วันนี้ "งูทะเลไทย" ใกล้สูญพันธุ์?
กระแสการจับงูทะเลเพื่อการค้าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ส่งผลให้สถานการณ์งูทะเลในน่านน้ำไทยวันนี้ช่างน่าเป็นห่วง
โดย...นรินทร์ ใจหวัง
เมื่อเร็วๆนี้มีข้อมูลจากรายงานเรื่อง Sea Snake Harvest in the Gulf of Thailand ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชื่อ Conservation Biology ฉบับเดือนธันวาคม 2014 ระบุว่า ปัจจุบันมีเรือประมงออกไปจับงูทะเลในน่านน้ำไทยทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยมากกว่า 700 ลำ สามารถจับงูได้มากกว่า 80 ตันในแต่ละปี
จุดหมายปลายทางคือประเทศจีนและเวียดนาม ลูกค้าส่วนใหญ่มักนำไปปรุงเป็นอาหาร หรือทำเป็นยาดองเหล้า ภายใต้ความเชื่อว่าสามารถแก้โรคปวดหลัง นอนไม่หลับ ช่วยเจริญอาหาร ทำให้อายุยืน
การค้างูทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้สถานการณ์งูทะเลในท้องทะเลไทยวันนี้ถือได้ว่าน่าเป็นห่วงยิ่ง
ใบสั่งยอดนิยม
นอกจากงูทะเลจะเป็น"ใบสั่ง"ยอดนิยมของนักบริโภคแล้ว ยังมีการประกาศรับซื้อ-ขายหนังงูทะเล เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเครื่องประดับกันอย่างโจ๋งครึ่มถึงขนาดเพจเฟซบุ๊กของร้านขายเครื่องหนังชื่อดังแห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ประกาศขายพวงกุญแจ สายนาฬิกา กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือสตรีที่ทำจากหนังงูทะเล สนนราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 300 บาทจนถึงกว่า 4000 บาท
“หนังงูทะเลมาแล้วค่าาาาาาาา ขายเป็นตัว ค่ะ ส่ง 2 ตัวขึ้นไปนะคะ หนังดีเกรด A ค่ะ เป็นออเดอร์ส่งไปไต้หวันอย่างเดียว ในเมืองไทยไม่มีขายนะคะ แต่แม่ค้าใช้ความสามารถสุดฤทธิ์ ในการขอออเดอร์มา (พอดีมีคนในโรงงานที่สามารถรับเรื่องได้ค่ะ) เพราะอยากให้สินค้าดีๆ มีในเมืองไทยบ้าง ไม่ใช้ส่งไปให้เมืองนอกเขาใช้กันหมด หรือเมืองไทยอาจจะได้ใช้ แต่ก็ซื้อกลับมาในราคาที่แพงเกินไปค่ะ หนังงูสามารถทำกระเป๋า เข็มขัด สายนาฬิกา หรืองานอื่นๆได้ตามต้องการ มีเนื้อบาง เบา และเงามากๆ ค่ะ สนใจเมนต์ใต้ภาพได้เลยค่าาา ถูกต้องตามกฎหมายนะคะ โรงงานรับประกันค่าาา”
เจ้าของร้านขายเครื่องหนังรายนี้เล่าว่า สาเหตุที่งูทะเลนิยมถูกนำมาทำเป็นเครื่องประดับหนัง เนื่องจากหนังงูทะเลมีสีสันสวยงาม และไม่ได้เป็นสินค้าผิดกฎหมายเหมือนกับหนังงูบกบางชนิด
"จริงๆ เราไม่ได้เน้นขายหนังงูทะเล เพราะนานๆจะได้ออเดอร์มาจากโรงงานสักครั้ง ซึ่งโรงงานที่ว่าก็อยู่ในรูปของโรงงานแปรรูปหนังสัตว์ทั่วไป โดยรับซื้องูทะเลที่มักติดมากับอวนของชาวประมงที่ครั้งหนึ่งจะได้งูทะเลไม่กี่สิบตัว บวกกับคนไทยไม่ค่อยนิยมหนังงูทะเลมากนัก เพราะหายากกว่าหนังงูและหนังสัตว์ทั่วไป ราคาก็แพงพอสมควร"
บุญสม เพ็ญจันทร์ ไต้ก๋งเรือประมง ชาวสมุทรปราการ บอกว่า ปกติเรือประมงไทยจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับงูทะเลมากนัก ทุกครั้งที่มีงูทะเลลอยมาติดอวนมักจับโยนทิ้งอย่างเดียว และก็ไม่เชื่อว่าคนจะเอางูมาทำเป็นลูกชิ้นเหมือนข่าวลือที่ออกไป เพราะงูทะเลที่ติดอวนมาส่วนใหญ่ค่อนข้างตัวเล็ก หากนำมาแล่เอาเนื้อไปทำลูกชิ้น จึงเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร แถมยังไม่ได้มีเนื้อแน่น รสชาติอร่อยเท่าใดนัก
“ติดมาทีนึงแค่ตัวสองตัวเท่านั้น ไม่เยอะครับ พอเห็นเราก็ปลดทิ้ง เพราะมันมีพิษ เอามาทำอะไรก็ไม่ได้ แต่พอได้ยินข่าวว่าเขาเอาไปทำลูกชิ้น ส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อว่ามันทำได้จริงๆ เพราะงูทะเลมันมีน้อยมาก ถ้าอยากจะจับได้เยอะ ต้องออกเรือไปตั้งใจจับกันจริงๆ
คนไทยไม่มีใครจับงูหรอก เท่าที่ผมรู้มีคนเวียดนาม คนไทยไม่มีล่างูแบบนั้นหรอก” ไต้ก๋งเรือรุ่นเก๋ากล่าวอย่างเชื่อมั่น
ข้อมูลจากรายงานเรื่อง Sea Snake Harvest in the Gulf of Thailand ยังระบุอีกว่างูทะเลที่จับได้มากกว่า 80 ตันแต่ละปี ในจำนวนนี้จะมี 7 ชนิดที่ถูกจับบ่อย และชนิดที่จับได้บ่อยที่สุดคืองูฮาร์ดวิก กับงูแถบดำ (Hardwick′s sea snakes กับ black-banded sea snakes) ชาวประมงใช้แหและตะขอตกหมึก เมื่องูถูกจับมาขึ้นฝั่งจะใช้เวลาแยกงูและชั่งน้ำหนัก กรณีที่ถูกงูกัด ชาวประมงจะใช้ใบมีดโกนผ่าผิวหนังตรงที่โดนกัดเพื่อรีดพิษออกมา อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการถูกงูทะเลกัด
งูทะเลไทยเริ่มร่อยหรอ
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรงูทะเลในน่านน้ำไทยลดลงฮวบฮาบอย่างน่าใจหาย
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีงูทะเลอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในโลก บัดนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว
"งูทะเลทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 50 ชนิด เมืองไทยมี 23 ชนิด กระจายอยู่ตั้งแต่ชายฝั่งถึงแนวปะการัง และมีมากในบริเวณใกล้ป่าชายเลน ความสำคัญของงูทะเลคือช่วยกินปลาที่อ่อนแอ ถ้าไม่มีงูทะเลจะทำให้ปลาที่มีสายพันธุ์อ่อนแอ ออกลูกหลานได้มากขึ้น เมื่อเกิดภัยทางธรรมชาติ ปลาพวกนี้จะไม่แข็งแรงพอ และไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ทำให้ปลาลดจำนวนลงไปอีก งูทะเลนี่เองที่เป็นเครื่องชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หากมันลดจำนวนลงอย่างมาก จะเกิดอะไรขึ้นกับท้องทะเลไทย"
สาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรงูทะเลในน่านน้ำไทยลดจำนวนลง เกิดจาก 3 ปัจจัยหลักคือ การจับงูโดยตรงเพื่อการค้า ติดอวนมาโดยไม่ได้ตั้งใจ จาการลากปลาของเรืออวนลาก-เรืออวนรุน และจำนวนปลาที่ลดลง ทำให้งูทะเลไม่มีอาหารเพียงพอพอเพียง และค่อยๆตายไป
“คนไทยไม่ค่อยมีคนตั้งใจจับงู ส่วนมากมักติดมากับเครื่องอวน แต่กลุ่มที่ตั้งใจจับจริงๆจะเป็นแถบชายแดนทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย คนจับงูทะเล ต้องมีความชำนาญมาก เขาจะลัดเลาะไปตามชายฝั่ง และป่าชายเลน ถึงแม้จะมีจำนวนเรือที่จับงูกันจริงๆ จะมีน้อย แต่ถ้าเขาตั้งใจจับ งูมันก็ลดลงเยอะได้เหมือนกัน ส่วนกรณีที่คนเชื่อว่า งูทะเลถูกนำมาผสมกับลูกชิ้นปลา ผมมองว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะนอกจากสรีระของงูที่ไม่เอื้อต่อการทำนำแล่เนื้อแล้ว ขนาดของงูทะเลส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็ตัวเล็กมาๆ คือมีขนาดตั้งแต่ 50-70 เซนติเมตรเท่านั้น ส่วนตัวที่ยาวกว่าเมตร หาจับได้ยากมากในประเทศไทย"
ยังไม่สายที่จะเริ่มอนุรักษ์
“สิ่งสำคัญอย่างแรกคือ จำนวนปลา จะทำอย่างไรให้ปลากลับมาเยอะเหมือนเดิม หลักๆเลย เราต้องจริงจังกับปัญหาเรืออวนลาก อวนรุน หากควบคุมเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่เฉพาะงูทะเล แต่ปลาก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นด้วย จริงๆก็พอจะมีข่าวดีบ้าง เมื่อนายกรัฐมนตรีกำลังปรับปรุงเรื่องการประมง โดยท่านลงมานั่งเป็นประธานกรรมการประมงแห่งชาติเองเลย น่าจะทำให้เกิดการปรับโครงสร้างที่ดีขึ้น มีทั้งตำรวจน้ำ กองทัพเรือเข้ามาร่วมด้วยอีก จากแต่ก่อนมีแต่เรือประมงดูแลกันเอง ต่อมาคือการเร่งติดอุปกรณ์ติดตามให้เรือประมงทุกลำ จะไม่ต้องวิ่งไล่จับเรือผิดกฏหมายให้ยุ่งยาก ตำรวจสามารถรู้ได้ทันทีว่าเรืออยู่ตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นเรือที่เข้ามาในเขตห้ามจับสัตว์น้ำ หรือเรือที่เข้ามาใกล้ชายฝั่งมากเกินไป เราสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ดาวเทียม เรื่องที่สามคือ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ที่กำลังจะออก ได้ขยายอณาเขตการทำประมงชายฝั่งโดยการใช้อวนลาก ให้ออกไปไกลกว่าเดิมจาก 3 กิโลเมตรให้เป็น 5กิโลเมตร สุดท้าย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังทำเรื่องการควบคุมอวนลากให้ลดลง จริงๆ มันก็เป็นนโยบายของประเทศไทยมา 20-30 ปีแล้ว แต่เพียงไม่มีอะไรชัดเจน แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นภาพบ้างแล้ว”
ดร.ธรณ์ ฝากไปยังผู้ที่คิดเข้าไปยุ่มย่ามกับงูทะเลว่า ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเหตุผลที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว งูทะเลเกือบทุกชนิดยังมีพิษ แผลโดนงูทะเลกัดจะเล็กมากจนแทบไม่รู้ตัว เพียงครึ่งชั่วโมงจะเกิดอาการหายใจไม่ออก ตัวเกร็ง หากรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด
การไม่ไปรบกวน ปล่อยให้งูทะเลอยู่ตามธรรมชาติ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะสามารถช่วยยับยั้งปัญหางูทะเลสูญพันธุ์ได้