ปัญหาอมตะครูไทย เร่งแก้ก่อนการศึกษาดำดิ่ง
ครูไทยในปัจจุบันพบเจอกับปัญหามากมายทั้งในและนอกห้องเรียน ปัญหาระดับการเรียนการสอนของตัวเองไปจนถึงปัญหาเชิงนโยบายของประเทศ รัฐบาลต้องเร่งแก้
โดย...ลิลิต วรวุฒิสุนทร
16 มกราคม เป็น “วันครู” เสียงสะท้อนจากครูไทยที่อยากบอก รมว.ศึกษามากที่สุด ผ่านผลสำรวจล่าสุดจากดุสิตโพล อันดับแรก อยากมีเวลาสอนมากขึ้น ลดภาระงานด้านการประเมิน ตัวชี้วัด เอกสารต่างๆ 83% อันดับ 2.อยากให้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ ไม่เปลี่ยนนโยบายบ่อยๆ 81% อันดับ 3 ดูแลสวัสดิการค่าตอบแทนบำเหน็จบำนาญ การสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีให้กับครู 75% อันดับ 4 จัดการศึกษาอย่างทั่วถึง กระจายโอกาสให้เด็กทุกคนได้เรียนอย่างเท่าเทียม 66% อันดับ 5 เร่งแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้นครูขาดแคลน ไม่ตรงตามสาขาวิชาที่สอน 63%
ปัญหาของครูไทยซึ่งมีผลต่อการพัฒนาระบบการศึกษาที่เกิดวิกฤตในรอบหลายปีที่ผ่านมา สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ บอกผ่านโพสต์ทูเดย์ว่า สิ่งที่ต้องเร่งผ่าตัด คือ เรื่องครู มีผลการศึกษาตอกย้ำให้เห็นว่า นักเรียนคนเดียวกันถ้าเรียนกับครูเก่ง จะมีคะแนนดี เรียนกับครูอ่อน ก็จะอ่อนตามไปด้วย ดังนั้น รัฐบาลต้องจัดระบบคัดเลือกครูที่ดีให้โรงเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้นแล้วต่อยอดไปจากนั้น ไปดูระบบพัฒนาครู
“ตอนนี้เรามีโอกาสคัดเลือกครูที่ดีจากคะแนนสอบแอดมิตของครุศาสตร์ อีกทั้งเงินเดือนครูก็ดีขึ้นแล้วไม่แพ้อาชีพอื่นๆ 10 ปีที่ผ่านมาเงินเดือนครูโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพิ่มขึ้น 2 เท่า อัตราการแข่งขันครูในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ก็ดุเดือด 100 คน เอาแค่2 คน จึงมีโอกาสที่จะดูดคนเก่งคนดีเข้ามามาก นี่จึงถือว่าเป็นโอกาสที่จะปฏิรูปได้ง่ายมาก"
อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องสำคัญที่ไม่ได้พูดในนโยบายการศึกษา คือ การรับครู ซึ่งในอีก 4 ปีข้างหน้าที่จะมีครูเกษียณมากถึง 1.2 แสนคน จากครูทั้งหมด 4 แสนคน หรือเกือบ 40% ที่ต้องถ่ายเลือดกัน
"ถ้าครูล็อตนี้ไม่ดี เช่น มีการโกงข้อสอบกันระบบก็จะเป๋ไปอีกหนึ่งชั่วคนเลย สมมติครูรุ่นใหม่ไม่ดี กว่าจะเกษียณก็อีก 30-40 ปี รัฐบาลจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษให้ได้กระบวนการรับครูที่ดี ทุกวันนี้มันเละมาก ปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทย คือโรงเรียนไม่มีทางเลือกให้ได้ครูที่เหมาะกับโรงเรียนเองเลย เขตการศึกษา กระทรวงศึกษาฯ เป็นคนจัดสอบเอง และข้อสอบนี่มีปัญหา แต่ละเขตจะออกอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ มันไม่ใช่ระบบที่จะทำให้ได้ครูที่ตรงความต้องการจริง ดังนั้นถ้าระบบรับครูเป็นอย่างนี้แก้ปัญหาไม่ได้เลย"
นั่นเป็นความเห็นจาก ประธานทีดีอาร์ไอที่ทำวิจัยเรื่องปัญหาระบบการศึกษาไทยเมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมปัญหาของครูไทยจากงานวิจัย ข้อเสนอต่างๆในช่วงที่ผ่านมา อาจแบ่งได้เป็น
1. ปัญหาคุณภาพของครูที่ตกต่ำลง
2. ปัญหาชีวิตส่วนตัว ครูจำนวนมากมีหนี้สินโดยเฉพาะครูจากภาคอีสาน ทำให้ไม่ทุ่มเทกับการสอนอย่างเต็มที่
3. ปัญหาการขาดแคลนครูสะสม ผลิตครูไม่สัมพันธ์กับจำนวนนักเรียน สอนไม่ตรงกับวุฒิ
4. ครูรุ่นใหม่ ขาดจิตวิญญาณ ขณะที่ครูรุ่นเก่าไม่ปรับตัว ขาดทักษะด้านไอซีที
5. ปัญหาเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการที่ยังไม่เท่าเทียมกันระหว่างครูแต่ละสังกัด
นายศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มองว่า ปัจจุบันครูมีงานอื่น ๆ นอกเหนือจากการสอนมากเกินไปจนทำให้ใส่ใจการเรียนการสอนในห้องเรียนน้อยลง จึงอยากให้ครูให้ความสนใจและใส่ใจนักเรียนให้มากขึ้น
อีกปัญหา คือ การคัดเลือกครู ซึ่งเป็นการจัดการแบบรวมศูนย์เกินไป ครูถูกบรรจุโยกย้ายให้ห่างไกลบ้านที่ตนอาศัยหรือไปอยู่ในที่ที่ครูเองไม่อยากไป ตรงนี้ ควรมีการกระจายอำนาจในการคัดเลือกครูให้มากขึ้นเพื่อสวัสดิภาพของครูเองและหากครูได้อยู่ในที่ที่ตนเองอยากไปก็อาจทำให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้นด้วย
นายเขมทัต สุคนธสิงห์ กรรมการพัฒนาระบบคุณภาพการศึกษาด้านอาชีวะ และ สมาชิกสปช. กล่าวว่า 1. ปัญหาของครู คือ ด้านสวัสดิการและความเป็นอยู่ ถือเป็นปัญหาร่วมของครูทั่วประเทศ โดยครูในปัจจุบันมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละวัน ส่วนกลางอยากให้การศึกษาของประเทศดีแต่ครูยังมีปัญหาด้านรายได้อยู่ อีกทั้งในต่างจังหวัดก็ยังพบครูที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวมากมาย จนทำให้ครูออกไปทำสถาบันกวดวิชามากขึ้นเพื่อให้สามารถมีรายได้จากการสอนนอกโรงเรียน ทำให้โอกาสในการทำงานด้านการเรียนการสอนนั้นไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร
2. ปัญหาด้านคุณภาพการเรียนการสอน เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากข้อแรก หากครูประสบปัญหาด้านการครองชีพย่อมส่งผลให้คุณภาพในการเรียนการสอนลดลงเพราะครูต้องเป็นห่วงปากท้องของตนเอง
“การสร้างครูที่ผ่านมานั้นในระยะหลังนั้นถดถอยเพราะมีคนอยากเป็นครูน้อยลง จึงควรรีบแก้ไขว่าจะทำอย่างไรจึงได้ยกระดับครูให้มีรายได้ที่มากขึ้นและทำให้ครูอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี”
ในฐานะที่เป็นสมาชิกสปช. นายเขมทัต บอกว่า ขณะนี้ กำลังศึกษาภาพรวมของการศึกษาว่าควรปฏิรูปในด้านใดบ้างและจะเป็นไปในทิศทางใด แต่โดยพื้นฐานแล้วคงจะพัฒนาด้านรายได้ของครูก่อนแล้วปัญหาที่เหลือจะถูกแก้ไขได้เอง
สำหรับความเห็นของผู้อำนวยการโรงเรียน อย่าง นายณัฐกิจ บัวขม ผอ.โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันครูใหม่และครูเก่ามักแยกกลุ่มกันชัดเจน ครูรุ่นใหม่จะเน้นเทคนิคการสอนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก ส่วนครูรุ่นเก่าจะเน้นสอนเด็กด้วยจิตวิญญาณมากกว่า ทั้งนี้ หากครูรุ่นเก่าและครูรุ่นใหม่ร่วมกันสร้างสื่อการเรียนการสอนจะทำให้การเรียนการสอนนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
อีกปัญหาจากมุมมองของ ผอ.โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย เห็นว่า ในอนาคตอันใกล้ ครูรุ่นเก่าเกษียณอายุราชการมากขึ้นตรงนี้ต้องเร่งแก้ เพราะครูที่เกษียณไปแล้วไม่สามารถหามาทดแทนกันได้ โรงเรียนต้องสรรหาและใช้เงินของโรงเรียนเองในการจ้างครูใหม่ ซึ่งบางครั้งก็สอนได้ไม่เต็มที่ ค่าใช้จ่ายในการจ้างครูใหม่นั้นก็ไม่ใช้น้อย ๆ โดยทางส่วนกลางเองก็ไม่ได้ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายของโรงเรียนในด้านนี้
นอกจากนี้ ด้านการสอนคุณธรรมจริยธรรมในปัจจุบันนั้น ลำบากกว่าเดิมเพราะสื่อที่ไม่พึงประสงค์สามารถเข้าถึงเด็กได้โดยง่าย อีกทั้งกฎกระทรวงที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นกฎการยกเลิกไม้เรียว หรือกฎให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ ทำให้ครูในปัจจุบันต้องสรรหาวิธีใหม่ในการสอนให้เด็กอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง ส่วน หลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันเป็นปัญหาเนื่องจากไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังเน้นให้นักเรียนเรียนมากเกินไป ควรเน้นด้านกิจกรรมให้มากขึ้น แต่ละโรงเรียนจึงต้องพัฒนาแนวทางในการจัดการเรียนการสอนใหม่
จะเห็นได้ว่าครูไทยในปัจจุบันพบเจอกับปัญหามากมายทั้งในและนอกห้องเรียน ปัญหาระดับการเรียนการสอนของตัวเองไปจนถึงปัญหาเชิงนโยบายของประเทศ ดังนั้น ในกระแสปฏิรูป รัฐบาลต้องเร่งแก้ เพราะครูคือ หัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศและต่อระบบการศึกษาไทย ที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการแก้ไขก่อนที่จะตกต่ำดำดิ่งไปกว่านี้