posttoday

ชีวิตมนุษย์สงกรานต์เที่ยวสนุกจ่ายคล่องต้องหลักหมื่น

11 เมษายน 2558

เทศกาลสงกรานต์นับช่วงที่มีการจับจ่ายใช้เงินอย่างคึกคัก ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นล้วนมีต้นทุนในตัวของมันเอง

เทศกาลสงกรานต์นับช่วงที่มีการจับจ่ายใช้เงินอย่างคึกคัก ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นล้วนมีต้นทุนในตัวของมันเอง รายจ่ายที่เกิดขึ้นของคนแต่ละกลุ่มจะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และบริบทการเดินทางของแต่ละคน

เจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาการเงินรายหนึ่ง จาก K-Expert  ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลภาพรวมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า โดยปกติค่าใช้จ่ายในการเดินทางจะมีตั้งแต่ 300-6,000 บาท แล้วแต่ขนาดครอบครัว ความใกล้ไกลของระยะทาง และการเลือกวิธีการเดินทาง คนที่วางแผนจองตั๋วรถทัวร์ รถไฟ เครื่องบิน ไว้ล่วงหน้า ยิ่งจองนานยิ่งได้ราคาถูก

นอกจากค่าเดินทางแล้ว วัฒนธรรมของครอบครัวไทย เมื่อเดินทางกลับบ้านจะต้องมีของฝาก ของขวัญให้กับพ่อแม่พี่น้องและลูกหลาน ซึ่งจะมีทั้งเสื้อผ้าใหม่ ของกินของใช้ และให้เงินสดพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที มีการพบปะสังสรรค์ระหว่างญาติสนิทมิตรสหาย

"บางคนอาจมีค่าใช้จ่ายเป็นของฝากของขวัญเป็นหลักแสนบาท หากซื้อของมีค่าเป็นของขวัญให้ครอบครัวเป็นทองคำหรือสิ่งของมีค่า ส่วนครอบครัวที่ให้ของธรรมดาอย่างน้อยต้องเป็นหลักหมื่นบาท" ที่ปรึกษาการเงินจาก K-Expert กล่าว

ขณะที่แหล่งที่มาของเงินนั้น นอกจากเงินเก็บสะสมแล้ว คนที่ไม่ได้เตรียมการไว้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการรูดเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้ก่อน ขอใช้สินเชื่อเงินสดหรือ
กู้ยืมเงินจากเพื่อนหรือคนรู้จัก ใช้บริการโรงรับจำนำ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่สนับสนุนให้ทำ เพราะเป็นการก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

ด้าน ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงรูปแบบค่าใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ว่า แรงงานจะมีเทศกาลวันหยุดยาว 2 ช่วง คือ ปีใหม่ และสงกรานต์ แต่เนื่องจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นช่วงเทศกาลมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นแรงงานส่วนมากจึงจะเลือกกลับช่วงใดช่วงหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเลือกกลับในช่วงสงกรานต์มากกว่า เพราะเป็นเทศกาลที่ได้พบปะญาติพี่น้อง นอกจากนี้ช่วงสงกรานต์จะเป็นช่วงที่โรงงานต่างๆ หยุดยาว 5-10 วัน ซึ่งถ้าไม่กลับบ้าน ก็ไม่รู้จะทำอะไรอยู่ดี

สำหรับเงินที่นำมาใช้จ่ายช่วงนี้นั้น บางคนที่ไม่กลับช่วงปีใหม่ ก็จะเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงสงกรานต์แทน รวมทั้งโรงงานบางแห่งก็จะ มีโบนัสออกให้พนักงาน ตั้งแต่ ครึ่งเดือน-1 เดือน โบนัสเหล่านี้ก็จะถูกนำไปใช้จ่ายตอนกลับบ้าน ซึ่งโรงงานที่มีโบนัสแบบนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก หรือหากโรงงานไหนไม่มีโบนัสสงกรานต์และไม่ได้เก็บเงินเตรียมไว้ตั้งแต่ต้นปี ก็ต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาไว้ใช้จ่าย ส่วนจะกู้มากเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละคน ถ้าเป็นคนโสดก็ 2,000-3,000 บาท แต่ถ้ามีครอบครัวแล้วก็อาจต้องกู้ 5,000 บาทขึ้นไป

"ที่กู้ๆ กันก็มีเยอะด้วย เพราะถึงไม่มีเงินก็ต้องไป อย่างน้อยปีหนึ่งเขาก็อยากกลับบ้านไปไหว้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่สักครั้ง" ชาลี กล่าว

ชาลี กล่าวอีกว่า ค่าใช้จ่ายในการกลับบ้านแต่ละครั้งนั้น ถ้า ใช้จ่ายแบบประหยัดๆ ก็อยู่ที่ ประมาณ 5,000 บาท แต่ถ้าไปแล้วเที่ยวสนุกเต็มที่ บางทีก็อาจต้อง ใช้ถึง 1 หมื่นบาท ซึ่งในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั้น หากใครมีรถ ก็มักจะรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่มีภูมิลำเนาเดียวกันกลับไปด้วยกันเป็นกลุ่ม แล้วแต่ละคนก็จะช่วยกันออกค่าน้ำมัน ซึ่งจะประหยัด ไปได้มาก และนอกจากเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว จะรวมไปถึงค่ากินอยู่และเงินที่แบ่งให้พ่อแม่พี่น้องด้วย

"เมื่อก่อนจะกลับบ้านนอกที ก็จะซื้อของกลับไปด้วย เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ หรือของแปลกๆ ที่บ้านนอกไม่มีขาย แต่ปัจจุบันทั้งในเมืองและชนบทต่างก็มีสินค้าขายเหมือนๆ กัน ดังนั้นความจำเป็นในการซื้อของกลับบ้าน ก็น้อยลง ปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่จึงมอบเป็นเงินสดให้แทน ถ้าเป็นพ่อแม่ก็ให้หลักพันบาท ถ้าเป็นปู่ย่าตายายก็อาจ 200-300 บาท แล้วลูกๆ หลานๆ ก็ประมาณ 100 บาท" ชาลี กล่าว

อย่างไรก็ดี หากสงกรานต์คือช่วงคึกคักในการใช้จ่ายเงิน ช่วงหลังสงกรานต์ไปแล้วจะเป็นช่วงคึกคักของโรงรับจำนำแทน

มานะ เกลี้ยงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) กล่าวว่า หลังจากผ่านเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว จะมีลูกค้ามาใช้บริการรับจำนำเพิ่ม เนื่องจากใช้เงินหมดแล้ว รวมทั้งในช่วงเดือน พ.ค.เป็นช่วงเปิดเทอม ทำให้ผู้ปกครองมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น ดังนั้นในช่วงเดือน เม.ย.พ.ค.นี้ได้เตรียมเงินรองรับการจำนำ 500-600 ล้านบาท จากปกติที่สำรองไว้ 300 ล้านบาท/เดือน

มานะ กล่าวอีกว่า ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาและแนวโน้มราคาทองลดลงแบบนี้ ทำให้ยอดการรับจำนำในช่วงวงเงินจำนำ ตั้งแต่ 5,000-2 หมื่นบาท มีลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้นจาก 1.2 แสนราย เป็น 6 แสนราย/ปี ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าระดับรากหญ้า และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ ขณะที่คนรุ่นใหม่หรือคนทำงานในออฟฟิศ ทำงานในโรงงาน มักจะไม่เลือกใช้บริการโรงรับจำนำเหมือนสมัยก่อน แต่จะเปลี่ยนมาใช้บัตรเงินสดหรือบัตรเครดิตแทน เพราะสะดวก แม้ว่าการใช้บัตรกดเงินสดล่วงหน้าจะเสียค่าดอกเบี้ยสูง 28% ก็ยอมจ่าย