"แต่งงานถูกกฎหมาย" ... ฝันใหญ่ของชาวสีรุ้ง
ถึงเวลาหรือยังที่เมืองไทยจะให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล
เสียงโห่ร้องยินดีดังกึกก้องไปทั่ว
ทันทีที่ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกามีคำตัดสินเห็นชอบให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมายใน 50 รัฐ ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ 21 ที่ยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน นี่คือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่ชาวสีรุ้งทั่วโลกต่างเฝ้ามองด้วยความอิจฉา
เช่นเดียวกับกลุ่ม LGBT (Lesbian Gay Bisexual and Transgender) หรือกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในบ้านเราก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน นอกจากความปลาบปลื้มแล้ว หลายคนยังแอบตั้งคำถามด้วยว่าเมื่อไหร่จะถึงคิวของประเทศไทยเสียที
ชีวิตคู่ที่ไร้หลักประกัน
ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หัวข้อ "สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่สาม" โดยนิด้าโพล เมื่อปี 2556 ระบุว่า มากกว่า 88.49 % รับได้ที่มีเพื่อนเกย์ กะเทย ทอม ดี้ สะท้อนให้เห็นถึงสังคมไทยที่เปิดกว้างและยอมรับเรื่องเพศมากขึ้น
แต่เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการออกกฎหมายยอมรับการจดทะเบียนสมรสของเพศเดียวกัน กลับพบว่า มีคนไม่เห็นด้วยถึง 52.96 % เพราะกลัวจะมีปัญหาตามมาภายหลัง ขณะผู้ที่เห็นด้วยอีก 33.87 % ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะเป็นสิ่งยืนยันการเข้าถึงสิทธิต่างๆของคู่รักเพศเดียวกัน
บรรทัดต่อไปนี้คือ ชีวิตคู่ของคนรักเพศเดียวกันที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากแสนสาหัส เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับ
มด อาชีพข้าราชการ จำเป็นต้องยื่นเรื่องขอกู้เงินธนาคารเพื่อซื้อบ้านหลังแรกในชีวิตร่วมกับคู่รักที่เป็นหญิงรักหญิง แต่ธนาคารปฏิเสธไม่อนุมัติการกู้เงิน โดยให้เหตุผลว่าทั้งคู่ไม่ใช่สามีภรรยา ทั้งที่ต่างมีหน้าที่การงานมั่นคง แตกต่างจากคู่รักชายหญิงที่แต่งงานกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส บางคนหิ้วกระเป๋าไปอยู่ด้วยกันดื้อๆ แต่กลับสามารถยื่นกู้เงินร่วมกันในฐานะสามีภรรยาได้อย่างราบรื่น
พัฒน์ กับ พล ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน และต้องการสร้างหลักประกันให้กับคู่ชีวิต พัฒน์ซื้อประกันชีวิตโดยระบุให้พลเป็นผู้รับผลประโยชน์ แต่บริษัทประกันปฏิเสธว่าไม่สามารถทำสัญญาประกันชีวิตให้กับคู่รักชายรักชาย
"ผมกับแฟนอยู่ด้วยกันมาเป็นสิบปี วันหนึ่งตกลงใจจะทำประกันชีวิตกัน เพราะคิดว่าหากคนใดคนหนึ่งเป็นอะไรไปอีกคนจะได้มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เพราะเรามีกันอยู่แค่สองคน อายุก็เข้าวัยกลางคนแล้ว พ่อแม่ญาติพี่น้องก็ไม่ได้รับรู้ความสัมพันธ์ของเรา แต่บริษัทประกันกลับปฏิเสธ บอกว่าทำสัญญาประกันชีวิตได้ แต่ยกผลประโยชน์ให้กันไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นญาติกัน ผมผิดหวังมากครับ เพราะเรามีกันอยู่แค่สองคน และไม่มีญาติคนไหนจะมาดูแลอีกแล้ว"
ดี้ หญิงรักหญิง มีอาชีพเป็นข้าราชการ วันหนึ่งคนรักของเธอประสบอุบัติเหตุขี่รถจักรยานยนต์ชนกับรถปิ๊กอัพ จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน แต่หมอกลับบอกว่าต้องเป็นญาติเท่านั้นที่สามารถเซ็นชื่อยินยอมให้รักษาพยาบาลได้
"เราเป็นเพียงคู่ชีวิตที่ไม่มีใครมองเห็น ไม่สามารถเซ็นยินยอมได้ เพราะไม่ใช่คู่สมรสที่เป็นหญิงชาย ญาติของแฟนก็อยู่ต่างจังหวัด แล้วจะให้ทำยังไง จะต้องเสียคนรักไปแบบนี้เหรอ ในที่สุดก็ต้องแจ้งญาติให้รีบบินด่วนมาที่โรงพยาบาลทันที ไม่จบแค่นั้นเพราะการผ่าตัดต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ก็ไปติดต่อฝ่ายการเงินขององค์กร แต่ได้รับการปฏิเสธในการใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลของคนรัก เนื่องจากระเบียบของกระทรวงการคลังมิได้ให้สิทธิแก่บุคคลที่ใช้ชีวิตคู่กับคนเพศเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ตัวเองรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมาก"
คู่แต่งงานระหว่าง ชายหนุ่มกับสาวประเภทสอง ที่หมู่บ้านแหลมคัก ต.แม่ระกา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
"พรบ.คู่ชีวิต"สำคัญไฉน
"จากการลงพื้นที่พูดคุยเรื่องชีวิตคู่กับกลุ่ม LGBT ทั่วประเทศ พบว่า ระยะเวลาความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันอยู่แค่ไม่เกิน 3-5 ปีเท่านั้น สังคมจึงมองว่าคนกลุ่มนี้คบกันไม่ยืด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อไม่มีกฎหมายที่รองรับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน พวกเขาไม่สามารถเดินขึ้นอำเภอไปจดทะเบียนสมรสได้ จึงเป็นเรื่องยากลำบากมากในการสร้างครอบครัวที่มั่นคง ไม่มีสิทธิ์ทำธุรกรรมทางการเงิน ทำประกันชีวิต เบิกค่าสวัสดิการรักษาพยาบาล ขอบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง แจ้งความแทนกันไม่ได้ ตัดสินใจเรื่องรักษาพยาบาลแทนกันไม่ได้ ไม่สามารถจัดการเรื่องศพกรณีที่คู่รักเสียชีวิต รวมถึงไม่สามารถการจัดการมรดกทรัพย์สินที่มีร่วมกันได้"
เจษฎา แต้สมบัติ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ บอกว่า ชีวิตคู่ของคนรักเพศเดียวกันจะมีหลักประกันความมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายมารองรับและให้ความคุ้มครองอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
กฎหมายฉบับนั้นคือ พรบ.คู่ชีวิตสำหรับบุคคลหลากหลายทางเพศ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการผลักดันอย่างเต็มที่
"ร่างพรบ.คู่ชีวิต ฉบับภาคประชาชนที่เรากำลังร่างกันอยู่นั้นจะแตกต่างจากร่างพรบ.คู่ชีวิต ฉบับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกฎหมายสมรสเดิม หรือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 (ปพพ.5) โดยมีหลักการสำคัญ 8 ข้อใหญ่ๆคือ 1.ร่างกฎหมายนี้รองรับการสมรสของบุคคลสองคนที่บรรลุนิติภาวะ โดยไม่ระบุเพศ 2.เป็นหลักฐานในการแสดงความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสอง หากใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแต่ไม่จดทะเบียนก็จะไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย 3.ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการหมั้น 4.ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสต้องอยู่กินกันด้วยการให้ความเคารพและปฏิบัติต่อกันบนพื้นฐานของหลักแห่งศักศรีความเป็นมนุษย์ (กฎหมายครอบครัว มาตรา 1461 ต้องอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภรรยา) 5.การจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามบทบัญญัติไว้ในกฎหมายครอบครัว สามารถจำแนกเป็นสินส่วนตัวที่ได้มาก่อนสมรส และสินสมรสอันเป็นการทำมาหาได้ร่วมกัน 6.สามารถหย่า หรือขอยุติความสัมพันธ์แบบคู่ชีวิตได้ โดยไม่ต้องมีความผิดมาบังคับใช้ 7.รับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงได้ 8.เป็นหลักฐานการสมรสที่มีผลทางกฎหมาย โดยให้ถือว่ามีสิทธิเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงทุกประการ"
นที ธีระโรจนพงษ์ ประธานกลุ่มเกย์การเมืองไทย ให้ความเห็นว่า เหตุผลในการผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็เพราะต้องการศักดิ์ศรีความเป็นคนไทยเหมือนอย่างชายหญิงทั่วไป นอกจากนี้ยังต้องการความคุ้มครองทางกฎหมายด้วย
"อยากเห็นเมืองไทยเป็นบ้านเมืองที่เจริญ มีสิ่งดีงามมากมายเกิดขึ้น หลายประเทศเขามีกฎหมายคู่ชีวิตแล้ว อยากเห็นสายตาของโลกมองมาที่ไทยแล้วบอกว่า เป็นประเทศที่เจริญ โอบอ้อมอารี และเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์"
ชนัตถ์ ขำเนตร อดีตนักกีฬาซอฟต์บอลทีมชาติไทย แต่งงานกับแฟนสาว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ในวันสตรีสากล เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา
#lovewins ชัยชนะที่รอคอย?
ภาพคู่รักเกย์ กะเทย ทอม ดี้โผเข้ากอดกันอย่างมีความสุข ธงสีรุ้งโบกไสวไปทั่วโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก พร้อมแฮชแท็ก #Lovewins ไม่ต่างจากมหกรรมเฉลิมฉลอง หลังข่าวการอนุญาตให้เกย์แต่งงานกันอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐอเมริกา
จีรศักดิ์ หลักเมือง เกย์หนุ่มชาวไทย บอกว่า อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย เนื่องจากไทยก็ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพ หากสังคมเปิดโอกาสให้แต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย จะช่วยยกระดับเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เทียบเท่ากับสากล
"ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มักมองว่าพวกเกย์ กะเทย ทอม ดี้คบกันไม่ยั่งยืน แป๊บๆเดียวก็เลิก ไม่มีอะไรมาการันตีว่าจะมั่นคง ไม่เหมือนคู่รักชายหญิงที่อยู่กินกันได้นานๆ เพราะมีการจดทะเบียนแต่งงานกันอย่างถูกต้อง ถ้ามีกฎหมายรองรับก็จะช่วยให้คู่รักเพศเดียวกันมีทัศนคติในการใช้ชีวิตคู่เปลี่ยนแปลงไป มีการวางแผนระยะยาว แต่งงาน สร้างครอบครัว ที่สำคัญสังคมยอมรับด้วย ที่ผ่านมา ปัญหาที่ต้องเจอคือ การที่สังคมไม่ยอมรับ ไม่เข้าใจ คนรุ่นใหม่อาจจะเปิดกว้าง แต่คนรุ่นเก่าจะไม่ค่อยยอมรับ ทำให้หลายคู่ไม่กล้าเปิดเผย ต้องคบกันแบบหลบๆซ่อนๆ หลายคนต้องทนแต่งงานกับผู้หญิง ทำให้เกิดการหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยกตามมา หลายคนตัดสินใจไปใช้ชีวิตในต่างประเทศที่ให้แต่งงานได้เสรีเลยก็มีให้เห็นเยอะ"
สอดคล้องกับความเห็นของผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย ที่บอกว่าทัศนคติของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังคงเคลือบแฝงด้วยความเกลียดชัง มองว่าเป็นความผิดปกติทางจิต เป็นบาปกรรมที่ติดตัวมาแต่ชาติปางก่อน มองว่าเป็นตัวตลก น่ารังเกียจไม่ควรเข้าใกล้ ถูกดูหมิ่นดูแคลนสารพัด
"มีคนบอกว่าเมืองไทยเปิดกว้าง เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เดินกันเต็มถนนไปหมด เปรียบเสมือนแดนสวรรค์ของกลุ่ม LGBT เลยก็ว่าได้ แต่หารู้ไม่ว่าลึกๆแล้วยังคงมีนโยบายกีดดันทางเพศ ยังมีการเลือกปฏิบัติ ยังโดนดูถูกเหยียดหยาม คุกคามทางวาจา"
แม้ปรากฎการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นจะทำให้หลายประเทศตื่นตัวและตระหนักว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ผู้ชายกับผู้หญิง ไม่ได้มีแค่ความรักต่อเพศตรงข้ามเท่านั้น แต่ยังมีความรักระหว่างคนเพศเดียวกันด้วย กว่าจะไปถึงจุดนั้นสิ่งสำคัญที่ไม่อาขมองข้ามคือ สังคมไทยควรเปลี่ยนทัศนคติเสียก่อนว่าทุกเพศล้วนมีศักดิ์ศรี มีสิทธิเสรีภาพ และต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน
**อินโฟกราฟิก ทำไม ประเทศไทยจึงควรมีกฏหมายสำหรับคนรักเพศเดียวกัน จาก gaymedesign**
ที่มา https://youtu.be/eeV384FJjLQ